xs
xsm
sm
md
lg

ปมร้อนข่าวลึก : เดทล็อกการเมืองไทย เพื่อไทย-ภูมิใจไทย ร้าวหักเหลี่ยมขัดขา ธุรกิจใต้ดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปมร้อนข่าวลึก : เดทล็อกการเมืองไทย เพื่อไทย-ภูมิใจไทย ร้าวหักเหลี่ยมขัดขา ธุรกิจใต้ดิน

พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย 2 พรรครัฐบาล ที่ไม่เคยเป็นมิตรแท้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ศัตรูถาวร สองพรรคใหญ่ทำงานร่วมกันในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล แต่ลึกๆ แล้ว ทั้งสองพรรคยังคงมีรอยร้าวที่ฝังลึกมานาน ค่อยๆ สร้างแรงสั่นสะเทือนย่อยๆ ผ่านเกมการเมืองเพื่อรอวันปะทุครั้งใหญ่

ในวันที่สังคมไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล สะท้อนผ่านผลโพลต่างๆ โดยล่าสุดซูปเปอร์โพลจัดทำแบบสำรวจ ในช่วงวันที่ 10 – 14 เมษายน 68 ชี้ชัดว่า กว่า 74% ของผู้ตอบแบบสอบถาม “เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง” ในช่วงหลังสงกรานต์ ขณะที่มีเพียง 25.8% เท่านั้นที่เชื่อว่า “จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”

โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันดับ 1 คือ “ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล” และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ “เชื่อว่าจะเป็นการปรับคณะรัฐมนตรี” เพราะปัจจุบัน รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยังไม่สามารถดำเนินนโยบายหลักใดๆ ที่เคยหาเสียงไว้ได้สำเร็จเลย โครงการดิจิทัลวอลเลตก็ยังไม่ครอบคลุม ขึ้นค่าแรงก็ยังไม่เกิด เพิ่มรายได้เกษตรกรก็ยังไม่มา รถไฟฟ้า 20 บาทก็ทำได้เฉพาะบางสาย จึงถึงเวลาที่ต้องรวบตึงอำนาจ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการโดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม บริบททางการเมืองขณะนี้ไม่เหมือนสมัยที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคไทยรักไทยครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ จนไม่ต้องสนใจความเป็นอยู่ของพรรคร่วมรัฐบาล การรวบอำนาจอาจไม่ทำให้งานสำเร็จลุล่วงแบบที่เคยเป็นมา แต่เป็นความเสี่ยงต่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าทำงานได้โดยปราศจากความช่วยเหลือของกุนซือใหญ่ชั้น 14 จนถูกสังคมตั้งคำถามอย่างถึงความเหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดคำถามว่านายกฯ ของเราจะอยู่ในตำแหน่งได้อีกนานแค่ไหน และใครจะมาแทนที่?

หากดูตามหลักกฎหมาย ผู้ที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปคือศาสตราจารย์พิเศษ ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดทนายกฯ คนที่ 3 ของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นที่ทราบดีว่าสุขภาพของท่านไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีนัก และลำดับถัดไปนอกจากพรรคเพื่อไทย ก็คงหนีไม่พ้นนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่หากโอกาสมาถึงเมื่อไหร่ จะมีแรงสนับสนุนพร้อมทำงานทันที เพราะได้วางรากฐานไว้ตามกระทรวงต่างๆ ตั้งแต่ข้าราชการท้องถิ่น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ไปยันสมาชิกวุฒิสภาเรียบร้อยแล้ว

สิ่งที่พรรคร่วมอันดับ 1 อย่างภูมิใจไทยทำอยู่ตอนนี้คือเร่งให้วันนั้นมาถึงโดยเร็ว ผ่านการเตะถ่วงนโยบายต่างๆ ทำให้ปัญหาเกี่ยวกับความสามารถ และความมีประสิทธิภาพของรัฐบาลชัดเจนขึ้นมาผ่านเกมการเมือง เกิดเป็นสภาวะชะงักงัน Political Deadlock ในการบริหารงานของภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ

การต่อสู้ในเกมการเมืองของทั้ง 2 พรรคมีตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยอย่างการประชันความเป็นหนึ่งในการเป็นผู้จัดการแข่งขันกีฬายานยนต์ระดับโลกอย่าง MotoGP และ Formula 1 ลามมาถึงเรื่องที่ดินข้อพิพาทเขากระโดง-สนามกอล์ฟอัลไพน์ ของทั้ง 2 ตระกูล จนเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เช่น การส่ง DSI เข้าตรวจสอบโพย สว. สีน้ำเงิน ซึ่งในทุกครั้ง ยังไม่มีการเปิดหน้าชนให้สังคมเห็นรอยร้าวอย่างชัดเจน
จนเมื่อไม่นานมานี้ เป็นการเปิดหน้าชนครั้งแรกของพรรคภูมิใจไทย ผ่านการอภิปรายของนายไชยชนก ชิดชอบ ลูกชายนายเนวิน และนางกรุณา ชิดชอบ สส. จังหวัดบุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เพื่อแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวคัดค้านกาสิโนทุกรูปแบบในไทย

น่าแปลกใจที่พรรคภูมิใจไทยบิดาแห่งกัญชาไทย หนึ่งในเศรษฐกิจใต้ดิน กลับมีท่าทีตรงกันข้ามกับกาสิโน อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ภูมิใจไทยหยิบเรื่องเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมางัดข้อกับเพื่อไทย จนอาจตีความได้ว่าภูมิใจไทย ไม่สนับสนุนเศรษฐกิจใต้ดินใดๆ เลย ยกเว้นกัญชาเพียงอย่างเดียว เพราะประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าก็เคยถูกยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในเกมการเมืองกับพรรคเพื่อไทยเช่นกัน
ภูมิใจไทยที่สนับสนุนการใช้กัญชา ที่อ้างว่าเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างสุดโต่ง ไม่เคยได้รับการคัดค้านจากหน่วยงานสาธารณสุขในวงกว้าง ตั้งแต่สมัยที่คุมกระทรวงสาธารณสุข ทั้งๆ ที่กัญชายังไม่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในระดับสากล ซึ่งต่างจากบุหรี่ไฟฟ้าที่ปัจจุบันเป็นทางเลือกใหม่ของผู้สูบบุหรี่ทั่วโลก แต่กลับถูกต่อต้านในประเทศไทยอย่างรุนแรงแม้ยังมีกฎหมายแบนอยู่

ในรัฐบาลปัจจุบัน มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการกำกับดูแลบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยขึ้น โดยมีนายแพทย์นิยม วิวรรธนดิฐกุล สส. จากพรรคเพื่อไทย นั่งเป็นประธานคณะกมธ. และได้นำเสนอรายงานการศึกษาเพื่อรับการรับรองจากสภาฯ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
แต่ก่อนที่จะมาถึงสภาฯ ได้ รายงานฉบับนี้ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายแบบที่รายงานของกมธ. คณะอื่นไม่เคยเจอมาก่อน ทั้งจากข่าวผลกระทบด้านสุขภาพ การใช้วาทกรรม “ปอดหาย” สร้างความตระหนกให้กับสังคมทั้งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ หรือข่าวเด็กและเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้า ล้วนเป็นข่าวที่เกิดในจังหวัดบุรีรัมย์เมืองหลวงของกัญชาไทยทั้งสิ้น ทำให้นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยต้องถูกกระแสสังคมผลักให้ลงมาปราบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างดุเดือดโดยหารู้ไม่ว่าตกเป็นเครื่องมือของพรรคภูมิใจไทยในการพยายามปิดตายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไม่รู้ตัว เพื่อสกัดรายงานของคณะกรรมาธิการที่มีการลงความเห็นเลือกแนวทางที่ 2 การอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน (Heated Tobacco Products: HTPs) เป็นสิ่งที่ถูกควบคุมตามกฎหมาย และแนวทางที่ 3 การอนุญาติให้บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน (HTPs) ยกเว้น Toy Pod ให้เป็นสิ่งที่ถูกควบคุมตามกฎหมาย โดยมีการแก้ไขกฎหมายให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน มากกว่าแนวทางที่ 1 ที่ระบุว่าให้คงการแบนต่อไปและเพิ่มระดับความเข้มงวดให้มากขึ้น

สำหรับภูมิใจไทยและเพื่อไทยมีจุดยืนขัดแย้งกันในเรื่องเศรษฐกิจใต้ดินมาโดยตลอด ภูมิใจไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า แต่สนับสนุนกัญชาอย่างสุดโต่ง ในขณะที่เพื่อไทยมีความเชื่อในการเปิดช่องให้เกิดการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าด้วยกฎหมาย และสำหรับกาสิโน ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน ภูมิใจไทยก็ไม่เอา ผิดกับเพื่อไทยที่ยังคงตั้งเป้าศึกษาต่อไป

เมื่อ 2 พรรคการเมืองใหญ่ฝ่ายรัฐบาลยังตกลงกันไม่ได้ ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ก็ไม่อาจผ่านไปเพื่อทำให้ประเทศก้าวหน้าทัดเทียมกับสากลได้แม้จะมีการศึกษามาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ทั้งเรื่องการพัฒนาที่ควรจะเป็น รวมถึงการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจผ่านเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมา เพื่อลดปัญหาทางสังคม เช่น การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน การทุจริตลักลอบนำเข้าดำเนินธุรกิจผิดกฎหมาย และการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ อย่างถูกต้องแทน

เศรษฐกิจใต้ดินมีทั้งผลดีและผลเสีย จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและวางกรอบการควบคุมอย่างถี่ถ้วนเพื่อปกป้องกลุ่มเปราะบางไม่ให้ถูกมอมเมาโดยอบายมุขมากกว่าการค้านหัวชนฝา และทำให้ประเด็นเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อของเกมการเมือง เกิดเป็นสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกต้องอยู่กันแบบนี้ต่อไป เพราะหากเพื่อไทยสลัดภูมิใจไทยออกจากพรรคร่วม ดึงกระทรวงใหญ่คืนมาหลังการปรับครม. ก็ไม่แน่ว่าจะสามารถควบคุมรวบตึงอำนาจไว้ใต้มือตนเองเพื่อผลักดันนโยบายต่างๆ ได้ เพราะอย่าลืมว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา ภูมิใจไทยได้วางรากฐานข้าราชการในกระทรวงสำคัญที่ตนดูแลไว้หมดแล้ว แม้หัวเรือจะเปลี่ยน แต่ภายในเป็น “ฅนบุรีรัมย์” ทั้งหมด

คงต้องบอกว่าไม่ใช่โจทย์ง่ายที่เพื่อไทยจะแก้เกม เพราะหากลงมือรุนแรงเกินไป ก็อาจจะโดนย้อนกลับด้วยฝีมือสมาชิกวุฒิสภาเพียงไม่กี่คน ที่สามารถร้องเรียนด้านจริยธรรมของรัฐบาลได้ สุดท้ายแล้วเกมการเมืองก็จะเป็นแค่ละครฉากหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะชะงักงัน ขัดขาความเจริญก้าวหน้า จะไปต่อก็ไม่ได้ หันหลังกลับก็ไม่ทันแล้ว มีแต่หยุดนิ่งและถอยหลังลงคลองเรื่อยๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น