xs
xsm
sm
md
lg

ปมร้อนข่าวลึก : กฎหมายมีช่องโหว่ เจ้าหน้าที่อ่อนแอ นอมินีจีนเทาเต็มเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปมร้อนข่าวลึก : กฎหมายมีช่องโหว่ เจ้าหน้าที่อ่อนแอ นอมินีจีนเทาเต็มเมือง

ไม่ว่าจะหยิบจับไปตรงไหนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารสำนักตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. แห่งใหม่ที่เพิ่งถล่มลงมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะพบว่าล้วนแต่เต็มไปด้วยปัญหาทั้งหมด โดยเฉพาะความโปร่งใสของกระบวนการในการก่อสร้าง ซึ่งปรากฎทั้งเรื่องการใช้วัสดุที่ไม่มีคุณภาพ การใช้งบประมาณจัดซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่แพงเกินจริง

ล่าสุดเวลานี้เริ่มมีการขุดคุ้ยไปถึงความไม่โปร่งใสในโครงสร้างการบริหารงานของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างอาคารดังกล่าว เนื่องจากพบว่ามีการถือหุ้นในลักษณะเป็นนอมินี โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ได้ทำการจับกุม นายชวนหลิง จาง กรรมการผู้ถือหุ้น 49% ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ในความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (นอมินี) ภายหลังศาลอาญา อนุมัติหมายจับนายชวนหลิง จาง พร้อมผู้ถือหุ้นคนไทยในบริษัทรวม 4 คน

โดยในการจับกุมครั้งนี้มีการอธิบายจากพ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ดำเนินการอยู่ใน 3 เรื่อง คือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (นอมินี) , พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (ฮั้วประมูล) และ พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และคิดว่าคนไทยที่เป็นนอมินีในครั้งนี้ทั้ง 3 คน ยังอยู่ในประเทศไทย ซึ่งจากการตรวจสอบทั้ง 3 คน ถือหุ้นร่วมกันที่ 51% ในบริษัท แต่เราพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ถือด้วยตัวเอง เพราะเป็นการอำพรางของบุคคลต่างด้าว

ทั้งนี้ พอจะเห็นได้ว่าต้นตอหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นกระบวนการในการตรวจสอบโครงสร้างการบริหารธุรกิจว่ามีความโปร่งใสและได้ดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ โดยจะว่าไปแล้วเรื่องนี้มีข้ออ่อนด้วยกัน 2 ประการ ได้แก่ จุดอ่อนในแง่ของข้อกฎหมาย กล่าวคือ กฎหมายบอกแต่เพียงโครงสร้างของการถือหุ้นเท่านั้นว่าการถือหุ้นในสัดส่วนเท่าใดที่จะทำให้นิติบุคคลนั้นเป็นหรือไม่เป็นนิติบุคคลของคนต่างด้าว แต่ไม่ได้ลงลึงไปถึงเจตนาในการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นว่ามีเจตนาที่จะต้องการเข้ามามีส่วนในการบริหารกิจการเพื่อหวังผลกำไร หรือเป็นเพียงแต่ตัวแทนเชิดของบุคคลต่างด้าวเท่านั้น จึงทำให้เกิดกรณีของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ขึ้นมา

อีกหนึ่งจุดอ่อนที่เห็นชัดเจน คือ กระบวนการในการบังคับใช้กฎหมายให้สมกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบตั้งแต่แรกให้ถูกต้อง ก็จะไม่เกิดปัญหาให้ต้องมาตามล้างตามเช็ดกันอย่างที่เห็น แต่การทำงานของหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่จะแค่การทำงานให้เรื่องนั้นเสร็จและพ้นตัวไปแค่นั้น

ด้วยเหตุนี้เองจึงเริ่มมีข้อเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มเข้มการถือหุ้นในลักษณะนอมินีให้กับคนต่างด้าว ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอให้รัฐบาลดำเนินการแล้ว เช่น การให้มีคณะกรรมการควบคุมการทำธุรกรรมลักษณะตัวแทนอำพราง โดยมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธาน มีหน้าที่และอำนาจ ในการเสนอนโยบายและมาตรการป้องกันต่อครม. ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของประชาชนเพื่อสอดส่องและป้องกัน รวมทั้งตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานตัวแทนอำพราง

พร้อมกับจัดตั้งสำนักงานควบคุมการทำธุรกรรมลักษณะตัวแทนอำพราง ซึ่งเป็นส่วนราชการที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง ปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระและเป็นกลาง และกำหนดบทลงโทษเป็นแบบขั้นบันได โดยมีความหนักเบาแห่งข้อหาตามความรุนแรงหรือความเสียหายของการกระทำความผิด

โดยการผลักดันให้เรื่องนี้เป็นจริงได้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการจะเสนอกฎหมายเข้าสภา และต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่นั้นประชาชนทุกคนคงมีคำตอบกันอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น