ปมร้อนข่าวลึก : อุ๊งอิ๊งกอดประชานิยม แจกเงินหมื่นเฟส 3-4 มองข้ามปัญหาใหญ่
เป็นเรื่องใหญ่พอสมควรสำหรับการเลื่อนการเจราจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับสหรัฐอเมริกาถึงเรื่องมาตรการทางภาษีจากเดิมที่กำหนดไว้เป็นวันที่ 23 เมษายน โดยการเดินเกมครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการรักษาดุลอำนาจและมิตรภาพทั้งสหรัฐและจีนให้เกิดความเหมาะสม
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าทั้งสหรัฐและจีนต่างมีความสำคัญต่อประเทศไทยในทางเศรษฐกิจ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 1 ของไทย มูลค่า 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนจีนเป็นตลาดส่งออกรองลงมา มูลค่า 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ยังระบุไว้ด้วยว่า จีน เป็นประเทศที่นำเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย มากเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ โดยจีนลงทุนในไทยประมาณ 170,000 ล้านบาท ส่วนสหรัฐฯ ลงทุนในไทย เป็นอันดับที่ 7 ประมาณ 25,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญกับสงครามการค้าครั้งใหญ่ ปรากฎว่ารัฐบาลไทยยังคงประกาศเดินหน้านโยบายประชานิยมอย่างโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 สำหรับกลุ่มผู้มีสิทธิอายุ 16 - 20 ปี ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 และเฟส 4 หรือกลุ่มที่เหลืออายุ 21 - 59 ยืนยันว่า จะมีการแจกเงินภายในภายในไตรมาสที่ 3 ปีนี้
จากท่าทีของรัฐบาลที่เกิดขึ้นนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นการดำเนินการที่สวนทางกับปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้าอย่างสิ้นเชิง จริงอยู่ที่ประเทศไทยเวลานี้มีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนและกำลังซื้อของประชาชนที่หดหาย แต่การแก้ปัญหานี้ด้วยการแจกเงินภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนไปนั้น ถือว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ นอกจากจะแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความถดถอยของรัฐบาลในแง่ของการบริหารนโยบายด้วย
ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทยอยแจกเงินหมื่นไปบางส่วนแล้ว ซึ่งรูปธรรมที่ออกมา คือ ไม่ได้เป็นการตอบโจทย์ในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากตัวเลขจีดีพีของประเทศไทยก็ไม่ได้กระเตื้องขึ้น แสดงให้เห็นว่าเม็ดเงินที่รัฐบาลหว่านลงไปให้ประชาชน ไม่ได้เข้าสู่วงจนเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนอย่างเป็นระบบ ดังนั้น การดันทุรังที่จะแจกเงินหมื่นในเฟส3และเฟส4ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลพอสมควร
ในแง่นี้มีข้อเสนอจากพรรคประชาชนอย่าง 'ศิริกัญญา ตันสกุล' ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน ที่แนะนำให้รัฐบาลทบทวนกรอบการใช้เงินงบประมาณปี 2569 ก่อนเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สามารถตอบโจทย์บริบทสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
"รัฐบาลควรนำรายละเอียดของการจัดทำงบประมาณไปทบทวนใหม่ และแก้ไขอีกรอบ โดยที่เพราะรายละเอียดที่ทำมา อาจยังไม่รวมกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากสงครามการค้าเข้าไป และอาจจะมีการจัดงบประมาณในแบบเดิมๆ หากรัฐบาลอยากใช้งบประมาณ ปี 2569 ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงการค้าโลก ครม.ควรพิจารณาใหม่ หากจะนำเข้าสภาช้า 1-2สัปดาห์ ก็ไม่ติดใจ" ข้อเสนอจากพรรคประชาชน
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าเป็นไปได้ยากที่รัฐบาลจะชะลอการแจกเงินหมื่นหรือนำกรอบการใช้เงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2569 กลับไปทบทวน เพราะการใช้เงินครั้งนี้ก็มีความสำคัญต่อรัฐบาลในทางการเมืองเช่นกัน
กล่าวคือ เริ่มมีการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ว่าหากการแจกเงินหมื่นในเฟส 3 และ เฟส4 สามารถดำเนินการไปได้ พร้อมกับการที่ร่างกฎหมายประมาณ 2569 ได้รับความเห็นชอบช่วงกลางปีนี้ เท่ากับว่าพรรคเพื่อไทยจะมีทรัพยากรในการดำเนินนโยบายประชานิยมได้มากขึ้น และเมื่อสามารถว่านเงินและโครงการออกไป ก็อาจจะมีพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรต่อไป เพื่อรีเซ็ตทางการเมืองใหม่ทั้งหมด ภายใต้ความมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง
เพราะฉะนั้น คนไทยทั้งประเทศก็คงต้องรอคอยการแก้ไขปัญหาต่อไป