xs
xsm
sm
md
lg

ปมร้อนข่าวลึก : มองซากตึก สตง. ดูอาคารรัฐสภา สภาพไม่ต่างกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปมร้อนข่าวลึก : มองซากตึก สตง. ดูอาคารรัฐสภา สภาพไม่ต่างกัน

จากเหตุการณ์อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างได้ถล่มลงมานั้น ทำให้ประชาชนในฐานะเจ้าของภาษีตื่นตัวพอสมควร โดยเฉพาะการกระหายใคร่รู้ถึงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างว่ามีความไม่ชอบมาพากลอย่างไร ทั้งในเรื่องของวัสดุที่นำมาใช้ในการก่อสร้าง สถานะทางกฎหมายของบริษัทที่รับผิดชอบการก่อสร้างอาคาร รวมไปถึงบัญชีข้าวของเครื่องใช้ราคาแพงอีกเป็นจำนวนมาก

โดยการตรวจสอบได้ดำเนินการทั้งในฝ่ายบริหารนำโดยกระทรวงมหาดไทย และฝ่ายนิติบัญญัติอย่างคณะกรรมาธิการสามัญที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำให้ประชาชนคนไทยได้รู้ข้อมูลและตาสว่างกับการทำงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่มีปัญหา ทั้งๆที่เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของภาครัฐ

ท่ามกลางกองเศษซากอาคารของสตง.ขนาดมหึมา พอย้อนกลับมาดูอาคารรัฐสภาที่ตั้งตระหง่านบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว เห็นว่าก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณให้ถูกใช้ไปได้อย่างเหมาะสม ภายหลังมีโครงการเตรียมจะก่อสร้างอีกพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการย้ายห้องสมุด การถมสระมรกต หรือแม้แต่การสร้างพื้นที่จอดรถใต้ดินเพิ่มเติม ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้เงินภาษีของประชาชนแทบทั้งสิ้น

อย่างการย้ายห้องสมุดจากชั้น 9 ลงมาชั้นล่าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนนั้น ถือได้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุดอย่างสิ้นเชิง เพราะปัญหาของห้องสมุดที่สำคัญที่สุด คือ การบริหารจัดการให้เกิดความเหมาะสม ในเมื่อห้องสมุดรัฐสภาเป็นของประชาชน ก็ควรจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกมากที่สุด

เช่น การเพิ่มจำนวนวันและเวลาการให้บริการนอกเวลาราชการ จากเดิมที่ให้บริการเฉพาะวันและเวลาราชการเท่านั้น ระหว่าง 8.30-16.30 นาฬิกา เว้นแต่ในวันที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะขยายเวลาในการเปิดให้บริการไปถึงเวลา 19.30 นาฬิกา ซึ่งควรเทียบเคียงกับห้องสมุดตามมหาวิทยาลัยที่ก็มีการเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปนอกเวลาราชการด้วย แต่รัฐสภากลับไม่ทำ เพราะข้าราชการไม่อยากมาทำงานนอกเวลาราชการ

ขณะที่ การมีอยู่ของสระมรกตนั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อให้เป็นจุดถ่ายรูปเพื่อสร้างภาพลักษณ์อย่างเดียว แต่มีไว้เพื่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมด้วย กล่าวคือ เป็นช่วยระบายความร้อนภายในอาคารรัฐสภา เพื่อที่จะไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศมากจนเกินไป ทว่าเวลานี้กลับมีความคิดที่จะถมสระมรกต เพียงเพราะต้องการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นห้องรับรอง หรือ ห้องประชุม ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงแล้วทุกวันนี้จำนวนห้องแต่ละประเภทภายในรัฐสภามีอยู่อย่างเหลือเฟือเกินจำนวนคนเสียด้วยซ้ำ อีกทั้งที่ผ่านมาการประชุมของเหล่าคนในวงงานสภาทั้งส.ส. ส.ว. ก็มีแต่ผลงานเชิงปริมาณเท่านั้น โดยแทบจะผลงานเชิงคุณภาพไม่เจอ ดังนั้น การเพิ่มจำนวนห้องอาจเป็นเพียงการหาเรื่องใช้เงินเท่านั้น หรือไม่

ส่วนเรื่องที่จอดรถที่เป็นปัญหาโลกแตกทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความเยอะและความต้องการมากเป็นพิเศษของส.ส.เป็นสำคัญ เดิมพื้นที่จอดรถได้มีการแบ่งสัดส่วนให้ส.ส. ข้าราชการ และผู้ที่ต้องมาติดต่อราชการอย่างชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหา ถึงจะมีการจอดซ้อนคันกันไปบ้าง แต่ก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก แต่เมื่อส.ส.เริ่มมีความต้องการพื้นที่จอดรถเป็นสัดส่วน ทำให้ต้องมีการติดหมายเลขส.ส.ไว้ตามช่องจอดรถ

ความน่าอับอายของเรื่องนี้อยู่ที่เมื่อถึงเวลาประชุมสภาฯ กลับพบว่าที่จอดรถของส.ส.กลับโล่งเป็นจำนวนมาก คนอื่นจะเข้าไปใช้ก็ใช้ไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารสถานที่ได้เอารั้วมาล้อมไว้ การแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างที่จอดรถเพิ่มอาจเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกต้อง ซึ่งทางออกที่ดีที่สุด คือ กลับไปใช้หลักการเดิมเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากต้องยอมรับว่าส.ส.ได้รับความสะดวกสบายมากเกินความจำเป็น

อาคารรัฐสภาจึงเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวในแง่ของการบริหารจัดการพื้นที่ตั้งแต่การออกแบบและการก่อสร้าง ทำให้ต้องมาตามล้างเช็ดไม่จบไม่สิ้นอย่างทุกวันนี้ อาคารัฐสภาอาจโชคดีตรงที่ไม่ถล่มลงมา แต่พอมองไปยังไส้ในแล้ว จับไปตรงไหนก็มีปัญหาไม่ต่างกับตึกสตง.
กำลังโหลดความคิดเห็น