CKPower หนึ่งในผู้นำในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและมีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำที่สุดรายหนึ่ง สานต่อโครงการหิ่งห้อยปีที่ 8 ชูแนวคิด "จุดประกายการเรียนรู้ เปิดประตูสู่ความยั่งยืน" ผ่านการส่งมอบอาคารห้องสมุด ประหยัดพลังงาน พร้อมสร้างองค์ความรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน การอนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้นักเรียน ณ ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่มุใน บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) อุปถัมภ์ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower กล่าวว่า ภายใต้กรอบการดำเนินงานสร้างคุณค่าสู่สังคม หรือ CSR Strategy Framework เป็นระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) ของ CKPower ยังคงเดินหน้าใช้ขีดความสามารถของบุคลากรในองค์กร โดยเฉพาะในด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อพัฒนาชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจผ่านโครงการหิ่งห้อย โดยได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2559 จากความมุ่งมั่น ตั้งใจในการใช้ความเชี่ยวชาญด้านพลังงานหมุนเวียน วิศวกรรม เข้าไปเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนและสังคมในพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าและพื้นที่ห่างไกลดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันก้าวสู่ปีที่ 8 โดยยังคงมีหมุดหมายสำคัญในการเพิ่มการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนให้กับชุมชนและปลูกฝัง DNA ของพนักงานให้มีจิตอาสาร่วมกันส่งต่อความรู้การอนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนอย่างสม่ำเสมอและสอดคล้องกับแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า โครงการหิ่งห้อยปีที่ 8 CKPower ได้ส่งมอบอาคารห้องสมุดใหม่ในรูปแบบอาคารประหยัดพลังงานด้วยการเพิ่มช่องแสงจากธรรมชาติ เพิ่มอากาศถ่ายเท สามารถลดการใช้ไฟฟ้าภายในอาคาร โดยได้รับการสนับสนุนที่ดีจากจิตอาสา CKPower Group กว่า 250 คน ผนึกพลังพัฒนาพื้นที่ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้นผ่านการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบให้เหมาะสมกับการใช้งานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการส่งต่อความรู้ด้านพลังงานหมุนเวียน โดยห้องสมุดเดิมได้ปรับนำไปใช้ในการเรียนการสอนเด็กประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้สร้างอาคารเรียน รวมถึงบ้านพักสำหรับนักเรียนและครู โดยติดตามและสนับสนุนภาคการศึกษาในมิติต่างๆ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561
ผลลัพธ์จากโครงการหิ่งห้อยตลอด 8 ปี คือ การที่ CKPower ได้เพิ่มการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนให้ชุมชนถึง 100,330 วัตต์ เพิ่มความรู้ทางด้านพลังงานหมุนเวียนแก่ครูผู้นำและเยาวชนแล้ว 9,513 คน และเพิ่มความรู้สู่การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4,377 คน ผ่านกรอบดำเนินงานสร้างคุณค่าสู่สังคม (CSR Strategy Framework 2565 - 2569) ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ได้แก่
1.หิ่งห้อยพลังงานหมุนเวียนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมุ่งเน้นเรื่องการเข้าถึงและเพิ่มความรู้เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน เพื่อส่งมอบพลังงานสะอาดให้กับชุมชนและสังคม
2.หิ่งห้อยเพื่อการอนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเสริมสร้างองค์ความรู้และขยายพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อปกป้องและฟื้นฟูทรัพยากรป่า
และ 3.หิ่งห้อย นวัตกรรมสร้างโอกาสเพื่อชุมชน โดยมุ่งต่อยอดนวัตกรรมสู่การพัฒนาอาชีพ ซึ่งดำเนินการผ่านโครงการ จัดทำผ่านโครงการ One Powerplant One Product (OPOP) มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนควบคู่กับการสนับสนุนการสร้างอาชีพและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
นายธนวัฒน์ กล่าวด้วยว่า CKPower ยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการหิ่งห้อยตามกรอบสร้างคุณค่าสู่สังคมเพื่อบรรลุเป้าหมายภายในปี 2569 ร่วมกับพนักงานในองค์กรทุกระดับ ชุมชน และภาคีเครือข่าย ทั้งในประเทศไทย และสปป.ลาว โดยมุ่งการส่งเสริมการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียน และจัดตั้งกองทุนพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้เกิดการดูแลร่วมกันในระยะยาว รวมถึงขยายกลุ่มครูและเยาวชนผู้นำทางด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน และสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างต่อไป
CKPower' เป็นบริษัทประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภท 18 แห่ง รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 3,640 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย
(1) โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ภายใต้ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 42.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ และ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ หลวงพระบาง ภายใต้ บริษัท หลวงพระบาง พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 50% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,460 เมกะวัตต์
(2) โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น 2 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์
(3) โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 13 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 100% จำนวน 11 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 28 เมกะวัตต์ ภายใต้บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัท เชียงราย โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์