xs
xsm
sm
md
lg

Thailand Pavilion โปร่งใสทุกขั้นตอน งานโชว์เปลี่ยนทุกเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Thailand Pavilion โปร่งใสทุกขั้นตอน งานโชว์เปลี่ยนทุกเดือน

หนึ่งในประเด็นดราม่าที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันขณะนี้ คือ การมีหลายฝ่ายออกมาวิจารณ์ถึงการจัดทำนิทรรศการไทย (Thailand Pavilion) ในงาน World Expo 2025 Osaka, Kansai ณ นครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ไม่สมศักดิ์ศรีกับงบประมาณที่ใช้เกือบ 900 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการเปิดประเด็นถึงกระบวนการใช้จ่ายงบประมาณด้วย ส่งผลให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขที่รับผิดชอบในการจัดทำนิทรรศการต้องออกมาอธิบายเพื่อให้สังคมเข้าใจ

นพ.กรกฤช รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ระบุว่า สำหรับ Thailand Pavilion ปีนี้ได้จัดให้สอดคล้องกับแนวคิดของงานคือ “Designing Future Society for Our Lives ออกแบบอนาคต เพื่อชีวิตของเรา” นำเสนอการสร้างสรรค์ชีวิต ความสุขที่ยิ่งใหญ่ ศูนย์กลางสุขภาพโลก เชื่อมโยง Soft Power ผ่านวัฒนธรรมไทย เข้ากับนวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพและเวลเนส ฉะนั้น คอนเทนต์ที่ทำต้องตอบสนองโจทย์เหล่านี้ ซึ่งผ่านความเห็นของทีมผู้จัดงาน นอกจากนั้น การโชว์ต่างๆ จะมีการปรับเปลี่ยนทุกเดือน

จากนั้น นพ.กรกฤช อธิบายถึงการจัดซื้อจัดจ้างว่า ไทม์ไลน์เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ครม.เห็นชอบงบและแผนดำเนินการ ต่อมา 14 มีนาคม 2566 อนุมัติงบฯ 867.88 ล้านบาท โดยมอบให้ สบส. เป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างครั้งที่ 1 มีการกำหนดราคากลางขึ้นมาที่ 867.88 ล้านบาท โดยใช้วิธีคัดเลือก เพราะอยากให้บริษัทที่มีศักยภาพเข้ามาแข่งขัน แต่ปรากฏว่าผลการคัดเลือก 3 บริษัท แต่ได้รับเอกสารไม่ครบถ้วน จึงต้องยกเลิกทั้งหมด เอกสารที่ขาดคือ การแสดงผลงานระดับนานาชาติ (International)

การจัดซื้อจัดจ้างครั้งที่ 2 วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 มีการกำหนดราคากลาง ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2566 มี “บริษัทกิจการร่วมค้า RMA110” ชนะการประกวดราคาที่ 862 ล้านบาท จากนั้น ได้รับการร้องเรียนจากบริษัทที่ไม่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งมีการยื่นอุทธรณ์ โดยกรมบัญชีกลาง มีข้อวินิจฉัยออกมาว่า สามารถให้ สบส. ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปได้

“เนื่องด้วยกระบวนการตอบข้อวินิจฉัยนี้ เกิดเวลา 90 วันทำให้กระบวนการลงนามสัญญาไม่เกิดขึ้น และผู้ชนะประกวดราคาไม่ประสงค์ลงนามทำสัญญา เนื่องจากราคาไม่ได้แล้ว และเกินกำหนด 90 วัน ทำให้เราจำเป็นต้องประกาศประกวดราคาครั้งที่ 3 สิ่งเวลากระชั้นชิดในการจัดงานในประเทศญี่ปุ่น ที่เร่งรัดว่าช่วงเวลาดังกล่าวต้องมีผู้รับจ้าง และต้องแล้วเสร็จ เพราะมีกำหนดสร้างตึกในวันที่ 13 เมษายน 2568 เท่านั้น นั่นคือวันเปิดงาน ขณะนั้นจึงใช้วิธีเฉพาะเจาะจงแทน เพราะเวลากระชั้นชิด” นพ.กรกฤช กล่าว

ขณะที่ นายอุปถัมภ์ นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหารบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด และกิจการค้าร่วม RMA110 ชี้แจงว่า ตอนนี้มีข้อสงสัยว่าบริษัทกิจการร่วมค้า RMA110 เพิ่งเปิดและไม่มีผลงาน แล้วได้ปิดบริษัทไปไม่นานนั้น ยืนยันว่างานนี้เป็นงานต่างประเทศ จึงต้องใช้ผลงานอื่นในต่างประเทศ ฉะนั้น บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด มีผลงานที่จัดนิทรรศการในประเทศอิตาลี เมื่อปี 2015 ซึ่งในการยื่นประกวดราคจัดงานนิทรรศการในประเทศญี่ปุ่น ได้ยื่นในนามร่วมกับบริษัทกิจการร่วมค้า RMA110 เนื่องจากมีเนื้องาน 2 เรื่อง คือ การสร้างอาคารในต่างประเทศ และ การนำเสนอนิทรรศการ ซึ่งบริษัท ไร้ท์แมน เป็นบริษัทอีเวนต์ออแกไนซ์เซอร์ (Event organizer) จึงได้รวมความเชี่ยวชาญกับบริษัทสถาปนิก ได้รวมกันมายื่นงานนี้

“จากการยื่นประกวดราคา เห็นได้ว่ามีกิจการร่วมค้า RMA110 เข้าร่วมทั้ง 3 ครั้ง เหตุผลเพราะว่าต้องใช้ผลงานของบริษัทไร้ท์แมนฯ ยื่นในนามกิจการร่วมค้า เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบพัสดุในการอ้างอิงผลงาน ชัดเจนว่าไม่มีคำว่า บริษัทกิจการร่วมค้าไปยื่นในงานประมูลทั้ง 3 ครั้ง” นายอุปถัมภ์ กล่าว

นายอุปถัมภ์ กล่าวว่า ข้อสังเกตว่า ไทม์ไลน์การก่อตั้งและปิดกิจการร่วมค้าจำกัด แต่ยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประกวดราคางานดังกล่าว ว่าต้องจดทะเบียนกิจการวันนี้เพื่อไปยื่นประกวดราคา จากนั้นก็ไปยกเลิกกิจการเพราะว่าได้งานแล้ว ยืนยันว่าการจดและการยกเลิกกิจการไม่ได้มีความสัมพันธ์ในแง่ของไทม์ไลน์ยื่นประกวดราคา 3 ครั้ง

“มีคนถามว่าทำไมต้องจดทะเบียนด้วยชื่อเดียวกัน เนื่องจากมีการจัดการภายในของบริษัท ที่ต้องไปสร้างนิทรรศการต่างประเทศ มีบางส่วนที่สามารถนำกลับประเทศได้ ซึ่งกิจการร่วมค้าไม่สามารถส่งสิ่งของไปและนำเข้าในประเทศได้ จึงมีการจัดการภายใน โดยไม่ได้มีการทำนิติกรรมอะไรกับทาง สบส.” นายอุปถัมภ์ กล่าว

นายอุปถัมภ์ ระบุว่า แต่ด้วยความยุ่งยากซับซ้อนของเอกสารจึงได้ตัดสินใจว่าจะใช้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ระหว่าง บริษัทไร้ท์แมนฯ หรือ RMA110 ดำเนินการแทน ดังนั้นคำว่าบริษัทกิจการร่วมค้าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญาครั้งนี้ และเรื่องต่อมาคือ บริษัทร่วมค้า RMA110 ไม่ได้มีการทำนิติกรรมเซ็นสัญญากับใคร หรือมีการถ่ายโอนเงินใดเลย ดังนั้น บริษัทกิจการร่วมค้านี้จึงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในแง่ของธุรกรรมกับบริษัทใดเลยหรือแม้แต่ราชการ ฝ่ายสำนักงานบัญชีแนะนำว่าควรจะปิดไป จึงดำเนินการปิดไปเท่านั้นเอง

“เรียกว่าเป็นความเข้าใจผิดของสื่อที่ไปค้นพบว่าบริษัทนี้เปิดมาแล้วปิด แต่ได้งานไป” นายอุปถัมภ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น