ปลอดประสพ สวนกระแส กาง 5 ประเด็น ตึก สตง. รื้อแล้วลาก่อน แนะแช่แข็งงบผุดตึกใหม่ สตง.
นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย รวมถึงอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร กล่าวถึง กรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหลังใหม่ ที่เพิ่งถล่มจากกรณีผลกระทบแผ่นดินไหวเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมาว่า พื้นที่สวนจตุจักรในอดีตคือ พื้นที่บริเวณนี้มีพื้นที่เป็นพันไร่ และอยู่ในการดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มานาน มีบ้านพักพนักงานการรถไฟจำนวนหลายร้อยหลัง และเป็นสถานีชุมทางรถไฟบางซื่อเพื่อแยกรถไฟสายใต้และสายเหนือ
อดีตคีย์แมนพรรคเพื่อไทยกล่าวอีกว่า แม้จะแบ่งเป็นหลายพื้นที่แล้วก็ตาม ก็ยังมีพื้นที่เหลืออีกมาก จึงให้เอกชนเช่าสร้างอาคารร้านค้าเช่น บริเวณห้างเซ็นทรัล ซึ่งก็ยังอยู่จนทุกวันนี้ รวมถึงมีสนามฝึกกอล์ฟรวมทั้งสนามกอล์ฟ 18 หลุมที่ตนเองก็ได้เคยเป็นสมาชิกอยู่เมื่อครั้งเริ่มรับราชการใหม่ๆ ต่อมา พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี มีความประสงค์จะสร้างสวนพฤกษศาสตร์เพื่อถวายพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ (ในรัชกาลที่ 9) บนพื้นที่สนามกอล์ฟ ซึ่งตนเองในขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ก็ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่ง กทม. ได้สร้างสวนสาธารณะทางด้านเหนือ และสร้างตลาดนัดจตุจักรด้านใต้ เพื่อทดแทนตลาดนัดสนามหลวง ซึ่งจะเห็นว่า พื้นที่ทั้งหมดถูกใช้เพื่อประโยชน์ของสาธารณะชน โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นกลางและชั้นล่างจำนวนหลายสิบล้านคน
“ผมไม่เข้าใจว่า สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ซึ่งเป็นหน่วยราชการที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับกิจกรรมดังที่ผมเล่ามาแต่ต้น ได้เข้ามาใช้ที่นี้ได้อย่างไร และก็เชื่อว่าพ่อค้าแม่ขายแถวๆนั้น เขาก็ไม่ชอบเหมือนกัน” นายปลอดประสพระบุ และว่า การที่รองผู้ว่าการ สตง. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้มาแต่ต้น ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จะขอพื้นที่จากการรถไฟเพิ่มขึ้นอีก 4 ไร่ เพราะมีสิ่งก่อสร้างเพิ่มเข้ามา ผมฟังแล้ว ก็ยิ่งรู้สึกตกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะผมนึกว่า จะมีผู้ใหญ่ของ สตง. ออกมาพูดว่า จะหาที่ใหม่ ไม่อยู่ในที่นี้อีกแล้ว
ปลอดประสพกล่าวว่า ตนขอให้ความเห็นเพื่อร่วมกันพิจารณา ดังนี้
1. หากสตง. จะต้องมีอาคารใหม่จริงๆ ก็ควรไปหาที่อื่น สตง. ควรจะยืนบนหลักการที่มีมาแต่กำเนิดคือ มีที่ทำการที่สร้างใกล้ชิด หรือเชื่อมต่อกับกรมบัญชีกลางและสำนักงบประมาณ ซึ่งก็เป็นปรัชญาและธรรมเนียมปฏิบัติมาแต่สมัยรัชกาลที่ 6
2. แนะนำว่า ควรยุบสถาบันธรรมาภิบาลแห่งชาติ เพราะธรรมาภิบาลเป็นเรื่องของจรรยาบรรณและสามัญสำนึกของความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีที่ทำการ
3. ห้องประชุม 1,000 ที่นั่ง พร้อมโรงหนังโรงละครที่มีการสร้างตามที่เป็นข่าวจนชาวบ้านสงสัยกันนั้น ตนขอเสนอให้มอบให้กทม. ใช้เป็นพื้นเป็น entertainment areas น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุด เช่น เป็นโรงหนัง โรงละคร ที่จัดงาน หรือแม้แต่จัดงานแต่งงาน
4. อาคาร สตง. ที่อาจจะสร้างขึ้นมาใหม่อีก สำนักงบประมาณและกรรมาธิการงบประมาณ ควรเข้มงวดหรือหยุดการสร้างไว้ระยะหนึ่ง และเมื่อใดสร้างขึ้นมาใหม่ ก็อย่าทำให้โอ่อ่า อู้ฟู่ หรือใช้ของแพงจนประชาชนทั่วไป ตั้งข้อสังเกตหรือด่าว่าได้ และขอให้ใช้มาตรฐานแบบเดียวกับที่ สตง. แนะนำหน่วยราชการอื่นให้ปฏิบัติ เช่น ประธานกรรมการ ผู้ว่าการ ผอ.สำนัก มีห้องทำงานส่วนตัวได้ แต่ตำแหน่งต่ำกว่านั้นต้องอยู่ห้องรวมกัน สำหรับห้องประชุมก็จะจัดโล่งๆ แล้วตั้งเก้าอี้เอาตามจำนวนไม่ต้องมีเก้าอี้อย่างรัฐสภาหรอก และจุผู้คนได้ 4-5ร้อยคนก็พอ
5. ตึก สตง. ที่สร้างใหม่ในหลายสิบจังหวัด และหลายแห่งก็มีการทิ้งงาน ตนขอให้ทบทวนว่า จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีการสร้างทุกจังหวัด เพราะ สตง. ไม่ใช่หน่วยงานบริหารราชการส่วนภูมิภาค จึงไม่จำเป็นต้องมีทุกจังหวัด
อดีตรองนายกฯ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการลงโทษที่มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลให้ความเห็นนั้น ตนเห็นว่า ต้องมีการลงโทษทางอื่นด้วย เช่น การชะลอการก่อสร้างอาคารใหม่ของ สตง. ไว้สักพักหนึ่ง เพราะประชาชนไม่ไว้ใจแล้ว
รวมทั้งสำหรับผู้บริหารระดับสูงที่มีส่วนในการดำเนินการโครงการนี้ ก็ไม่ควรจะได้รับเงินเดือนขึ้นไปอีกสักระยะหนึ่ง