xs
xsm
sm
md
lg

ปมร้อนข่าวลึก : ภายใต้ซากตึก สตง. ผู้บริหารแถ ลอยตัว จับตาหาแพะรับบาป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปมร้อนข่าวลึก : ภายใต้ซากตึก สตง. ผู้บริหารแถ ลอยตัว จับตาหาแพะรับบาป

ชั่วโมงนี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เป็นหน่วยงานที่กำลังเผชิญกับวิกฤติศรัทธาและความเชื่อมั่นของประชาชนอย่างรุนแรง ภายหลังเกิดเหตุการณ์อาคารสำนักงานแห่งใหม่ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างถล่มเมื่อวันที่28 มีนาคมที่ผ่านมา

ปัญหาหนึ่งที่สตง.กำลังผจญอยู่ในเวลานี้ คือ การไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไรดีระหว่างการออกมาพูดกับสังคมกับการเลือกที่จะนิ่งเฉยแล้วรอให้มันเรื่องซา เพราะแต่ละทางเลือกก็มีข้อเสียแตกต่างกันไป การไม่ออกมาพูดเลยยิ่งทำให้โดนทัวร์ลงมากขึ้น หรือการออกมาพูด ก็กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ถูกขุดคุ้ยมากขึ้น

อย่างกรณีรองผู้ว่า สตง. และโฆษก สตง. คือนายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ ออกมาให้ข่าวอย่างแข็งขัน หลังเข้าชี้แจงต่อคณะกรรรมาธิการติดตามการใช้งบประมาณที่สภาผู้แทนราษฎร ว่า ไม่รู้จักบริษัทจีนที่รับสร้างตึก สตง. ที่ถล่ม ทั้งที่ความจริงนายสุทธิพงษ์รู้เรื่องดี เพราะเป็นเรื่องที่ดีลกันมาตั้งแต่เริ่มโครงการเปิดประมูลสร้างตึก และบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์10 ร่วมทุนหรือจอยท์ เวนเจอร์ กับบริษัทอิตาเลียนไทย อันปรากฏชื่อตั้งแต่เข้าประมูลงาน ชัดๆอย่างนี้ยังแถไม่รู้จักได้ยังไง แล้วก็ไชน่าเรลเวย์ไม่ใช่มารับงานจ้างช่วงแต่อย่างใด

งานนี้ก็เลยถูกถล่มหนัก เพราะมีหลักฐานสารพัด พร้อมคลิปวิดีโอประกอบวันที่ผู้บริหาร สตง. ลงนามในสัญญาชัดเจนพร้อมสักขีพยานอีกนับร้อยที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. มีภาพและเสียงของประจักษ์ บุญยัง อดีตผู้ว่าการ สตง. สมัยที่ร่วมลงนามเมื่อ 3 พ.ย. 2563 กับบริษัทร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (ประเทศไทย) และบริษัท ไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ชนะการประกวดราคา สร้างตึก สตง.ถูกขุดออกมาเปิดแล้วด้วย การที่บิ๊กสตง.หลายคนออกมานั่งยัน นอนยัน ว่า ไม่รู้จักกันกับบริษัทจีนนั้น เป็นเรื่องโกหกทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน นายประจักษ์ บุญยัง อดีตผู้ว่าสตง.กับนายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ เป็นคอหอยกับลูกกระเดือก ร่วมกันปั้นโครงการสร้างตึก สตง. มาด้วยกัน และการที่ผู้ว่า สตง. คนปัจจุบันอย่าง มณเฑียร เจริญผล จะบอกว่าไม่รู้จักกับบริษัทจีนที่ว่านั้น เป็นเรื่องที่อมพระนอนมายืนยัน ก็ยังฟังไม่ขึ้น เพราะตาม พรบ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระบุชัดเจนว่า คณะกรรมการที่ต้องร่วมรับผิดชอบในการจัดซื้อจัดจ้างเรื่องใดก็ตาม ได้แก่ คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง และคณะกรรมการตรวจรับ สำหรับตึก สตง. ถล่มครั้งนี้ ท้ายที่สุด ผู้อนุมัติเบิกเงินคือ ผู้นำหน่วยงาน อย่างมณเฑียร เจริญผล รวมทั้งผู้บังคับบัญชาตามสายงาน

ดังนั้นเรื่องการสร้างตึกที่ทำการ สตง. หลังใหม่มูลค่า 2,136 ล้านบาท จะปล่อยให้เป็นคลื่นกระทบฝั่ง ย่อมเป็นไปไม่ได้ แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักการ 3 ป. คือ โปร่งใส ประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล ประหยัด ต้องนำมาใช้กับกรณีนี้อย่างเคร่งครัด ท่ามกลางการจับตาอย่างใกล้ชิดจากประชาชนและสื่อมวลชนทั่วสารทิศ

วันนี้ สิ่งที่สังคมควรเน้นหรือให้ความสนใจคือ เรื่องคณะกรรมการตรวจงาน จะบริหารสัญญาอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กรให้มากสุด

เพราะปัญหาเรื่องดังกล่าว มีตั้งแต่เรื่องความล่าช้าในการก่อสร้าง การยืดหยุ่นให้มีการขยายสัญญา มาถึงเรื่องวัสดุที่ใช้นการก่อสร้างที่ว่ากันว่า ไม่ตรงปก กับที่เสนอ แต่ก็ปล่อยให้มีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น กรณีตึก สตง. ถล่มนี้ ความเสียหายมากกว่าเม็ดเงินที่สูญไป เพราะยังสะเทือนถึง ความเชื่อมั่นในองค์กร อย่าง สตง.

ดังนั้น การที่บิ๊ก สตง. อ้างว่า ไม่รู้จักบริษัทจีนที่ว่า จึงเป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้นด้วยประการทั้งปวง ราวกับว่า ผู้บริหาร สตง. ไปอยู่หลังเขาที่ใดมา จึงพ่นคำพูดแบบนั้นอย่างฉ่ำๆ วนเวียนพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวกับว่า ตั้งใจให้มีการเบี่ยงประเด็น ดังนั้น ต่อจากนี้อาจจะมีปฏิบัติการหาแพะรับบาป มาสังเวยเป็นคนผิดกรณีทุจริตเป็นเหตุทำตึกถล่ม

ต้องรู้ว่า หลังจากเซ็นสัญญาแล้ว จะมีคณะกรรมการตรวจรับอีก 2 ชุดในโหมดการบริหารสัญญาคือ
1.คณะที่ตรวจรับการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาที่จ้างมาคุมงานด้วยงบ 74 ล้านบาท เพื่อให้การเบิกจ่าย เป็นไปตามงวดงาน
และ 2. คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ซึ่งจะพิจารณาจากทีโออาร์ที่กำหนดเป็นหลัก เช่นงวดใดต้องทำพื้น ทำซีเมนต์ หรือทำเรื่องระบบต่างๆ หรืองวดใดคือการตบแต่ง เป็นต้น

ทั้ง 2 คณะจะถูกโยนผิดให้เป็นแพะตัวจริงที่ชาว สตง. ทั้งหลาย เป็นห่วงว่ามีโอกาสโดนทั้งทางอาญา และทางแพ่ง ชนิดที่ อาจตายในคุกได้ ถ้าไม่มีการสืบสวนสอบสวนอย่างเที่ยงธรรม

ตอนนี้รองสุทธิพงษ์ให้ข่าวว่า ควรสร้างอาคารหลังใหม่ ทดแทนหลังเดิม ต้องลอกว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เพราะกรรมการชุดเดิม อาจไม่มีอำนาจในการเสนอความเห็น คงเป็นการพูดเอง เออเอง เพราะแค่เรื่องจะบอกเลิกสัญญา ต้องรอให้กรรมการตรวจรับเสนอความเห็นให้ผู้มีอำนาจเช่นประธานบอร์ดและบอร์ด สตง. ร่วมกันตัดสินใจ หรือให้ความเห็นชอบก่อน ว่าจะเอาอย่างไร เช่น เดินหน้าต่อ หรือ พอแค่นี้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการอนุมัติงบประมาณ และเรื่องนี้ แม้แต่ประธานบอร์ด สตง. (พลเอก ชนะทัพ อินทามระ) ยังเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ต้องรอรายงานการสอบสวน หรือตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน
อธิบายง่ายๆ คือ หรือต้องรอให้เคลียร์ทีล่ะเรื่องแล้วจึงกำหนดยุทธศาสต์และยุทธวิธี ขึ้นใหม่

สรุปสตง.เป็นเจ้าของโครงการ จะบอกว่า ไม่รู้เรื่องไม่ได้ แต่เรื่องนี้อาจเข้าใจได้ว่า การที่ผู้ว่า สตง. ส่งรองสตง.สุทธิพงษ์ไปชี้แจง เนื่องจากรู้ว่าเป็นผู้ที่ดูแลเรื่องการสร้างอาคารหลังนี้ตั้งแต่แรกโดยนายประจักษ์ บุญยังมอบหมายให้ไปดูแล จะเห็นว่าในกลุ่มผู้บริหารก็ถีบกันออกมารับผิดชอบเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น เหมือนกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น