'ทักษิณ' ขาลอย นำทีมเจรจา 'ทรัมป์' ดูจะดี แต่อาจพัง
'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตผู้ป่วยวิกฤตของโรงพยาบาลตำรวจ และตำแหน่งพ่อของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แม้ไม่มีตำแหน่งอื่นใด แต่
ล่าสุดเตรียมพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการต่อสายตรงหาผู้นำสหรัฐ 'โดนัลด์ ทรัมป์' โดยตรง
โดยทักษิณ ระบุในเรื่องนี้ว่า "ตอนนี้มีโอกาสได้พูดคุยกับคนที่อยู่รอบตัวทรัมป์หลายคน คิดว่าอยู่ในภาวะที่คุยกันได้ เราอาจจะต้องลดราในสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง เช่นการกีดกันทางการค้าที่ไม่จำเป็น กติกาบางอย่างเราไปกีดกันเรื่องรถจักรยานยนต์ ซึ่งของอเมริกาเป็นรถแบบลักชูรี่ ซึ่งคนที่มีความสามารถในการซื้อมีจำนวนไม่มาก และไม่ได้มีการแข่งขันกับอุตสาหกรรมภายในประเทศแต่ไทยไปตั้งกำแพงภาษี ซึ่งตรงนี้อาจจะไม่จำเป็น"
มองดูพื้นฐานของทักษิณแล้ว ด้านหนึ่งพอมองเห็นได้ว่าทักษิณก็ดูจะคุ้นเคยกับการทำงานการเมืองในสไตล์ของพรรครีพับลิกันพอสมควร เพราะสมัยทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เวลานั้นผู้นำสหรัฐก็มาจากพรรครีพับลิกันเช่นกัน ปรากฎว่าทักษิณเองก็มีใจให้กับอเมริกาพอสมควร โดยเฉพาะความพยายามในการผลักดันการค้าเสรีระหว่างสองประเทศ หรือช่วงหนึ่งที่ทักษิณเองเผชิญกับวิกฤตการณ์ในทางการเมือง ก็เคยทำจดหมายถึงผู้นำสหรัฐในเวลานั้นมาแล้วเพื่ออธิบายถึงสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร 2549 ในเวลาต่อมา
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่ทักษิณจะรู้สึกตัวใหญ่ขึ้นมาทันที ภายหลังได้กลับมาที่ยื่นในประเทศไทยพร้อม ๆกับการขึ้นมาเป็นผู้นำโลกของพรรครีพับลิกัน แต่ประเด็นที่ชวนก่อให้เกิดความสงสัย คือ 'ทักษิณ' อยู่ในสายตาของผู้นำสหรัฐหรือตัวแทนทำเนียบขาวหรือไม่
'ทักษิณ' ไม่ได้มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการในนามของรัฐบาล การอ้างตนเองเป็น 'สทร.' นั้นเป็นเพียงการพูดเองเออเองฝ่ายเดียวเท่านั้น เท่ากับว่าทักษิณขาลอย ถึงจะอ้างความเป็นพ่อนายกฯ หรือการเดินสายโชว์วิสัยทัศน์ประดุจซูเปอร์นายกฯ แต่ก็ไม่มีความหมายสำหรับในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ
ถ้าจะพอมีใกล้เคียงขึ้นมาหน่อยเห็นจะเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาผู้นำมาเลเซียเนื่องในโอกาสที่มาเลเซียเป็นประธานอาเซียน ซึ่งทำให้ทักษิณมีที่ยืนในภูมิภาคอาเซียน เวลายืนจับมือกับเหล่าผู้นำหรือตัวแทนรัฐบาลภูมิภาคอุษาคเนย์ดูไม่ได้ขัดเขินมากนัก เพราะอย่างน้อยทักษิณเองก็ยังมีตำแหน่งพอให้เกาะเกี่ยวอยู่บ้าง
อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งประธานอาเซียนเป็นตำแหน่งหมุนเวียนกันไปในทุกๆปี เท่ากับว่าตำแหน่งแวดล้อมประธานอาเซียนก็ต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกัน ซึ่งหมายความว่าหากวันใดวันหนึ่งผู้นำมาเลเซียนต้องส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้กับผู้นำคนต่อไป 'ทักษิณ' ก็จะขาลอยทันที เว้นเสียแต่จะได้รับการแต่งตั้งอีก
การที่ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน จะเดินทางเยือนประเทศไทยในวันที่ 17 เม.ย. ด้านหนึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศไทยและอาเซียน เพราะจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของกลุ่มประเทศอาเซียน และยังแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย แต่ในอีกมุมหนึ่งการมีทักษิณร่วมเฟรมในเรื่องสำคัญเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยจริงหรือไม่
ถ้าอยู่ดีๆ สหรัฐอเมริกานตั้งแง่กับประเทศไทยถึงการมีบทบาทของทักษิณที่ไม่มีตำแหน่งใดๆในรัฐบาลขึ้นมา จะทำให้ทีมไทยแลนด์ที่เป็นทัพหน้าในการไปเจรจากับสหรัฐจะกระอักกระอ่วนใจหรือไม่ เวลาถูกสหรัฐถามกลับมาว่า 'ทักษิณ เป็นใคร'ตัวแทนของรัฐบาลจะตอบคำถามสำคัญนี้อย่างไร เพื่อให้ประเทศไทยไม่เสียเปรียบ พร้อมๆกับไม่ให้ตัวเองต้องเดือดร้อนหากตอบคำถามไม่ถูกใจรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
การสวมบทบาท ‘สทร.’ และสอดเข้าเกี่ยวช้องเฉพาะกิจการภายในประเทศไทย ก็ยังพอหลับหูหลับตาทนๆกันไปได้ แต่พอล้ำเส้นไปถึงการเมืองระหว่างประเทศ จึงเกิดคำถามว่าประเทศไทยจะผ่านความยากลำบากตรงนี้ไปได้อย่างไร