ปมร้อนข่าวลึก : ชี้ ตึก สตง. ยังไงก็ถล่ม ออกแบบผิดพลาด!
ผู้เชี่ยวชาญชี้ตึก สตง. ยังไงก็ถล่ม เพราะ 3 ปัจจัย รวมทั้งเป็นอาคารที่ไม่สมมาตร สร้างลิฟต์ไว้ด้านหลัง ดังนั้น ทุกครั้งที่อาคารบิดตัว จะเกิดอาการล้า และเสี่ยงต่อการถล่มลงมาได้
กรณี อาคารตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)หลังใหม่ ถล่มลงมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา จนสร้างแรงสั่นสะเทือนสำหรับวงการวิศวกรรรมประเทศไทยและผู้เกี่ยวข้อง ด้วยสาเหตุหลายปัจจัยที่ผ่านมา ทั้งเรื่องคำถามเกี่ยวกับการสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน การปลอมลายเซ็นวิศวกรผู้ควบคุมงาน จนถึงอายุของวิศวกรรผู้ออกแบบอาคาร
นายลอย ชุนพงษ์ทอง youtuber และวิศวกรทำและเผยแคคลิปวิเคราะห์เหตุตึกสตง.ถล่มน่าสนใจว่า เรื่องอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินถล่มนั้น ยังเป็นคำถามที่ประชาชนสงสัยว่าทำไม เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด แมกเนจูด 7 ระยะทางห่างไกลนับพันกิโลเมตร ยังทำให้ตึก สตง. ถล่มลงมาได้จากเหุตการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งในประเทศไทยไม่เคยมีตึกที่สูง 30 ชั้น ถล่มราบคาบเช่นนี้มาก่อน
นายลอยกล่าวว่า หากจะให้ฟันธงคือ ปัญหาเรื่องตึก สตง. ถล่มนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องการออกแบบตึกที่ออกแบบเพื่อรับการสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว เพราะถือว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่ต้องเป็นเรื่องผิดปกติที่มีการถล่ม
อย่างที่ทราบกันในสื่อว่า ขณะนี้มีหลายสมมุติฐานที่ทำให้ตึก สตง.ถล่ม โดยจากการคาดคะเนของสื่อคือ จะมาจาก 3 สมมติฐานหลักที่ทำให้ตึกสตง.ถล่ม ได้แก่ 1.งานควบคุมการก่อสร้างที่ล้มเหลว 2.การใช้วัสดุไม่ตรงตามมาตรฐาน และ 3. การออกแบบที่ผิดพลาด
”ข้อแรกคือส่วนที่เจอบ่อยที่สุดคือ ตามที่เป็นข่าวคือ ตึกถล่ม สะพานถล่ม แต่ที่เจอน้อย แต่เจอค่อนข้างบ่อยในประเทศไทยและไม่น่าเชื่อว่า จะเกิดขึ้นกับตึก สตง. คือ การใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน และ 3. การอกแบบที่ผิดพลาด” นายลอยระบุ
วิศวกรรายเดิม อธิบายให้เห็นภาพพร้อมยกตัวอย่างคลิปของของศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกูลชัย ราชบัณทิต และวุฒิวิศวกร ที่เคยออกมาอธิบายเรื่องดังกล่าวว่า ในข้อผิดพลาดทั้งหมด ถือว่า ข้อ 3 หรือเรื่องการออกแบบที่ผิดพลาด เป็นเรื่องที่สำคัญและร้ายแรงที่สุด
นายลอย อธิบายจากภาพถ่ายซึ่งมาจากคลิปของ ศ.ดร.วรศักดิ์ ที่ว่า ระยะเวลาที่ตึกถล่มเพียง 8 วินาทีนั้น ถือว่า เร็วมากและไม่มีทางที่ผู้ที่อยู่ในอาคารขณะนั้น จะหนีออกมาได้
“อย่างที่ทราบคือในช่วงที่ตึกถล่ม จะไม่มีเสียงตึงๆ มาก่อน คือเสียงที่ว่ามาจากการถล่มจากชั้นบนสุดลงมา แต่จากภาพในคลิปคือ ตึกไม่มีการพังจากข้างบน และถล่มทะยอยลงมาทีละชั้น แต่เป็นการถล่มทีเดียว โครมลงมา” เขากล่าวและว่า ลักษณะการถล่มแบบนี้ เรียกว่า ขาลอย เหมือนเอาระเบิดไปวางชั้นล่าง และจุดระเบิดให้ตึกถล่ม
“อย่างที่มีรูปตามที่เห็นคือ เสาด้านหน้า จะหักก่อน ซึ่งอันนี้เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่นำไปสู่สมมติฐาน ที่ผมจะวิเคราะห์ด้วยภาษาง่ายๆ” นายลอยกล่าว
เขาระบุอีกว่า ปล่องลิฟต์คือ เสาหลัก ถือเป็นเสากลางของบ้านหรืออาคาร และเป็นจุดที่แข็งแรงที่สุดของของอาคาร ซึ่งหากมองจากด้านบนหรือจากท็อปวิว จะเห็นว่าอยู่ด้านหลังของตึก สตง. ซึ่งในทางการออกแบบ สามารถออกแบบแนวเสา หรือปล่องลิฟต์ไว้กลางอาคารเพื่อความประหยัดได้
แต่เมื่อตึก สตง. ออกแบบปล่องลิฟต์ไว้ด้านหลังอาคาร ซึ่งถือว่า เป็นการออกแบบไม่สมมาตร ซึ่งทางวิศวกรรมสามารถทำได้ ก็ควรจะมีการออกแบบให้เสาด้านหน้าอาคารซึ่งต้องรองรับน้ำหนักทั้งหมดของอาคาร ให้แข็งแรงขึ้น หรือ ต้องรับกับความสิ้นเปลืองวัสดุมากขึ้น ซึ่งต้องพิสูจน์ทราบต่อไปว่า มีการให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวหรือไม่
นายลอยสำทับอีกว่า หากอาคาร สตง. มีการออกแบบปล่องลิฟต์อยู่บริเวณด้านหลังอาคาร แต่เสาด้านหน้าอาคารก็ต้องออกแบบให้แข็งแรงมากขึ้นเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหว เพราะหากออกแบบให้ปล่องลิฟต์อยู่กลางอาคาร อาคารจะสามารถโยกตามอาการสั่นได้ซึ่งเป็นการโยกตามแรงผ่นดินไหว เพราะตึกสามารถโยกได้ ซึ่งเป็นการโยกรอบปล่องลิฟต์ เนื่องจากไม่มีการบิด หรือมีการบิดน้อยมากหากไม่แรงจริงๆ ก็มีการโยกตัวกลับ เสาดีดตัวกลับ อาคารก็จะไม่มีการถล่ม
แต่หากนำเสาหรือปล่องลิฟต์ไว้ด้านหลัง เสาด้านหน้าก็ต้องทำให้แข็งแรงขึ้น เนื่องจากเสาหลักอยู่ด้านหลัง ดังนั้นการหมุน หรือการบิดของตึก จึงมีผลกับเสาที่อยู่ด้านหน้าตึกมาก หรือมีการเคลื่อนตัวเยอะมาก เพราะอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของการบิด เพราะฉะนั้นหากมีการบิดตัวหลายครั้ง เสาที่อยู่ด้านหน้าจะหักก่อน และภาพถ่ายก็ยืนยันว่า เสาด้านหน้าจะหักก่อน
“การบิด หมายถึงบิดไปแล้วต้องบิดกลับ จะเกิดแรงเฉือน เกิดแรงอัด และแรงกระเพื่อม ศูนย์กลางของการหมุน และจุดอ่อนของคอนกรีตคือ ทนแรงดึงไม่ได้ เมื่อมีการบิด การเฉือน จะโดนทั้งดึง ทั้งอัด เสาตึกจะโดนบิด ถ้าบิดไปกลับแค่ครั้งเดียว ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าบิดหลายครั้งมีการกระแทก มีการดึง ซ้ำๆ ภาษาชาวบ้านคือ มันจะล้า และหักเนื่องจากปล่องลิฟต์ จะต่อไปที่เสาเข็ม
ดังนั้นตัวที่ขยับมากที่สุดคือชั้น 1 บิดมากที่สุด ซึ่งต้องหาหลักฐานจากบริเวณนั้นเป็นจุดแรกของการถล่ม” นายลอยกล่าวในที่สุด