ปมร้อนข่าวลึก : ไชยันต์ ไชยพร ชิงเก้าอี้ศาล รธน.ฝ่ายขวาใหม่ ผู้ฉีกบัตรเลือกตั้ง
ไม่รู้ว่าช่วงนี้ตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ว่างลงนั้นถึงได้มีนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัดสินใจส่งใบสมัครถึงสองคน ก่อนหน้านี้ คือ อาจารย์สิริพรรณ นกสวน สวัสดี แต่ไปไม่ถึงฝั่ง ล่าสุดถึงคิวอาจารย์ไชยันต์ ไชยพร จากคณะเดียวกัน ลงชิงตำแหน่ง โดยถือฤกษ์วันจักรี 6 เมษายน เป็นวันยื่นใบสมัครต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
สำหรับกรณีของอาจารย์สิริพรรณก่อนหน้านี้ที่ต้องไม่ผ่านด่านของวุฒิสภา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในอดีตเคยร่วงลงชื่อรณรงค์ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ร่วมองค์กรภาคประชาชน ทำให้เหล่าส.ว.เลือดสีน้ำเงินไม่อาจยอมรับได้ จึงตัดสินโหวตคว่ำทันที โดยแทบไม่สนผลงานทางวิชาการระดับเพชรยอดมงกุฎที่ผ่านมาด้วยซ้ำ
พอมาถึงคิวของอาจารย์ไชยันต์ ก็เริ่มทำให้เกิดคำถามเหมือนกันว่าจะซ้ำรอยหรือไม่ ซึ่งถ้ามองตามความเป็นจริงในรอบการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาที่มีประธานศาลฎีกา ไม่น่าจะยากเท่าใดนัก เพราะเป็นที่ทราบกันกันดีว่านักวิชาการหนุ่มใหญ่ผมยาวท่านนี้มีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ ถึงขั้นเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 มาแล้ว แต่บทบาทของอาจารย์ไชยันต์ จะเป็นที่ตรงใจเหล่าส.ว.สีน้ำเงินหรือเปล่า ต่างหากที่เป็นข้อคำถามที่สำคัญ
ทั้งนี้ หากเอาเรื่องความเป็นเลือดสีน้ำเงินเข้มข้นของส.ว.ที่ตัวตั้งจะพบว่าแนวความคิดของอาจารย์ไชยันต์เองก็น่าจะถูกใจพวกส.ว.พอสมควร โดยบทบาทและการแสดงความคิดเห็นในทางวิชาการที่ผ่านมาถึงขนาดทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจารย์ไชยันต์ อาจเป็นกระบอกเสียงของฝ่ายขวาแนวใหม่ (ตามมุมมองของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่เขียนบทความลงเว็บไซต์ประชาไท เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563)
ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อาจารย์ไชยันต์ถูกมองเช่นนั้น เป็นเพราะการเขียนบทความที่ชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของ31 จุดในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง ที่ถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือ "ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ" เมื่อปี 2556 และ "ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรีฯ" เมื่อปี 2563 จนทำให้ผู้เขียนต้องออกมายอมรับถึงความผิดพลาดและแก้ไขข้อบกพร่องบางส่วนในเวลาต่อมา
ครั้งหนึ่งอาจารย์ไชยันต์ เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีภาคภาษาไทย (13 กุมภาพันธ์ 2564) ถึงปรากฎการณ์กระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน โดยระบุว่า ""อย่าไปโทษสถาบันฯ สมมติถ้าสถาบันฯ จะต้องการอะไรก็แล้วแต่ ประเด็นคือสภาเป็นผู้อนุมัติ เพราะเป็นระบอบพระกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ สภามีอำนาจสูงสุด สภาจะออกกฎหมายให้กษัตริย์มีอำนาจมากน้อยยังไงก็ได้ เมื่อสภาให้แบบนี้ สภาก็ต้องเป็นตัวอธิบาย คุณจะบอกปฏิรูปสถาบันฯ ไม่ใช่ คุณต้องปฏิรูปสภา "
เช่นเดียวกับ เรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามทัศนะของอาจารย์ไชยันต์นั้นเคยเขียนข้อความลงเฟซบุ๊กว่า "ผู้ที่ให้การสนับสนุน-อยู่เบื้องหลังเยาวชนที่ออกมาประท้วงด้วยอาการและอารมณ์ที่รุนแรง คือผู้ที่มีจิตใจอำมหิตมาก เพราะพวกเขาใช้อนาคตและชีวิตของเยาวชนเป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งที่พวกเขาต้องการ โดยพวกเขาเท่านั้นคือผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริง"
ในเรื่องเดียวกันนี้ครั้งหนึ่งอาจารย์ไชยันต์ เคยให้มุมมองผ่านการสัมภาษณ์พิเศษผ่านทางเว็บไซต์The Active ของไทยพีบีเอส เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ที่ระบุว่า เรื่องมาตรา 112 ควรได้รับการทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้ประชาชนตัดสิน
ความคิดความอ่านในทางการเมืองของอาจารย์ไชยันต์ไม่ได้มีเพียงเฉพาะในภาคทฤษฎีเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติก็เคยแสดงให้เห็นมาแล้วถึงการต่อต้านระบบประชาธิปไตยที่ใช้เสียงข้างมากลากไป ทั้งการร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 2551 หรือการฉีกบัตรเลือกตั้ง เพราะไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549
แต่พอวันเวลาผ่านไปและอายุเริ่มมากขึ้น ความบู๊และความโลดโผนในท้องถนนลดลงมาเป็นการโลดแล่นในแวดวงวิชาการแทนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน จึงเป็นที่น่าติดตามว่านักวิชาการรายนี้จะไปถึงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ หรือจะต้องมีบทสรุปเหมือนกับจากนักวิชาการสถาบันเดียวกันก่อนหน้านี้