ปมร้อนข่าวลึก : ผ่าน 10 วัน ตึก สตง.ถล่ม ไร้ผู้นำ กู้ภัยล้มเหลว ชัชชาติ-อนุทิน ประสานงา
กว่า 10 วัน หลังจากเหตุการณ์ธรณีพิโรธ เมื่อ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา จนทำให้อาคารสำนักงานการตรวจแผ่นดิน (สตง.) หลังใหม่ ต้องพังทลาย ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนตามมาหลากหลายมิติ
ทั้งเรื่องความไม่มั่นใจของสถานะ สตง.ในบทบาทการตรวจสอบหน่วยงานอื่นๆ เรื่องคุรุภัณฑ์ของ สตง. ที่ จัดซื้อจัดจ้างแบบไม่แคร์โลก เรื่องผู้รับจ้างที่รับสร้างตึก ที่ถูกขุดไม่เว้นแต่ละวัน รวมถึงเรื่องที่สื่อมวลชนบางสื่อ ไม่แม้แต่จะแตะเรื่องดังกล่าว ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ระดับบันทึกกินเนส บุ๊คส์ ได้หลายมุมมอง
และประเด็นที่มองข้ามไม่ได้คือ การขาดการประสานงานในการแก้ปัญหาช่วยชีวิตผู้สูญหายภายใต้เศษปูน และกองเหล็กมหึมา ซึ่งเป็นความรับผิดชอบระหว่างผู้ว่า กทม. “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย “อนุทิน ชาญวีระกุล” จนขยายตัวเป็นศึกชนช้าง ระหว่าง กทม. และ มหาดไทย
หมัดแรก ผู้ว่าที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ปล่อยหมัดชุดแรกคือ ส่งรองผู้ว่า กทมฯ อย่างทวิดา กมลเวชช บัญชาการเหตุการณ์ในการกู้ชีพผู้สูญหาย ก่อนที่เสี่ยหนู อนุทิน จะแก้เกม สวมบทบัญชาการเหตุการณ์ด้วยตนเอง ในฐานะ มท. 1
แม้รองผู้ว่าทวิดา จะมีภาพผู้ชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ รวมทั้งมีท่าทีการตอบคำถามสื่อมวลทั้งไทยและต่างประเทศอย่างกระชับ เห็นภาพ และเข้าใจง่าย จนได้รับเสียงชื่นชมและความเชื่อมั่นจากประชาชนทั่วสารทิศก็ตาม
แต่อย่างที่ทราบคือ สังคมไทย มักจะให้ความสำคัญกับเบอร์ 1 ขององค์กรเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายหน่วยงานมักจะมองข้ามความตั้งใจของรองผู้ว่า ท่านนี้
โดยเฉพาะ มหาดไทยและหน่วยงานในสังกัด ต่างพร้อมใจรับลูกเซย์โนที่จะรับคำสั่ง จาก กทม. ในวันแรกๆ ที่เกิดเหตุการณ์ กระทั่งผู้ว่าฯ ชัชชาติมารับไม้ต่อ
การขาดการประสานงาน ถึงกับต้องให้หน่วยงานต่างชาติด้านการช่วยชีวิตเข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ กระทั่งขึ้นสุดท้าย ต้องเผ่นกลับ ขึ้นเครื่องไปกอบกู้สถานการณ์ประเทศอื่น คือตัวอย่างการสะท้อนการทำงานแบบตามมีตามเกิด
ความล่าช้าในการทำงาน การขาดแผนปฏิบัติการกู้ชีพ การขาดลำดับความสำคัญก่อนหลัง รวมถึงการขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงาน และการสื่อสารถึงประชาชน คือ ความล้มเหลวที่ชัดเจนในสถานการณ์นี้
อย่างที่ทราบคือ เหตุการณ์นี้ไม่เหมือนการกู้ชีพทีมหมูป่าที่หลงถ้ำในขุนเขาขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย
ที่หลายฝ่ายเฮโลช่วยเหลือกันสุดความสามารถ
แต่งานนี้ ภาพที่คนทั้งประเทศต้องการเห็นคือ ทุกฝ่าย ควรต้องระดมสรรพกำลังในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยการทำงานแข่งกับเวลาให้เร็วที่สุด
แต่สุดท้าย ก็ไม่เกิดภาพดังกล่าว...
ที่สำคัญสถานการณ์หลังแผ่นดินไหว ขณะนี้ เรายังไม่เห็นการฟื้นฟูหลังแผ่นดินไหว ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูชุมชน การให้ความช่วยเหลือในการซ่อมแซมบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหาย หรือ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การจัดให้มีการดูแลทางจิตใจสำหรับผู้ประสบภัยในเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา ภาครัฐทำได้เพียงการจัดงานเพื่อขายของตามภูมิภาคต่างๆ โดยมีผู้ประสบภัยเป็นคำชี้ชวนที่สวยหรูเพื่ออ้างถึงสาเหตุของการจัดงานดังกล่าว
เช่นกรณี น้ำท่วมที่เชียงราย และที่นครศรีธรรมราช ซึ่ง ณ ขณะนี้ ยังไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่างแม้แต่น้อย
เราคงไม่อยากเห็นเหตุการณ์ที่คล้ายกัน เกิดขึ้นซ้ำสองโดยขาดการประสานงานของหน่วยงานเช่นครั้งนี้ อีกแน่นอน