xs
xsm
sm
md
lg

ปมร้อนข่าวลึก : ตึกเต้าหู้ถล่ม สตง. ผงเข้าตา ผู้พิทักษ์โกง เป็นเสียเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปมร้อนข่าวลึก : ตึกเต้าหู้ถล่ม สตง. ผงเข้าตา ผู้พิทักษ์โกง เป็นเสียเอง

กรุงเทพฯ ทั้งเมืองถูกเขย่าด้วยคลื่นแผ่นดินไหว เมื่อเวลาบ่ายโมงเศษ วันที่28 มีนาคม2568 แต่เหตุใดจึงไม่มีตึกใดพังทลาย ยกเว้นตึก สตง. ความสูง 30 ชั้นจึงกลายเป็นเศษซากในบัดดลเพียงตึกเดียว

สิ่งที่เกิดขึ้นกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินในครั้งนี้ จึงไม่ต่างอะไรกับผงเข้าตาของ ผู้เกี่ยวข้องสังกัดหน่วยงานที่ได้ชื่อว่า มีอำนาจล้นฟ้าในการตรวจสอบความโปร่งใส สุจริต เที่ยงธรรม ในการใช้งบประมาณแผ่นดินของทุกหน่วยราชการไทย ไม่เว้นแม้กระทั่งกองทัพ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานความมั่นคงที่เจาะลึกข้อมูลได้ยากที่สุด

ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา มีหลายโครงการของกองทัพ ไม่ว่าจะมีมูลค่าหลักแสนหรือหลายล้าน ก็เคยถูก สตง. สอบสวนชี้มูลความผิดย้อนหลังมาแล้ว

แต่ในคราวนี้เมื่อโครงการของ สตง. กลับถูกตั้งข้อสงสัยจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ผู้คนเห็นด้วยสายตากันทั้งประเทศ

มีคำถามว่า การพังทลายของตึก สตง. ซึ่งกำลังก่อสร้างเพียงตึกเดียว ขณะที่อาคารก่อสร้างในโครงการอื่นๆ ยังคงยืนตระหง่านอยู่ได้เป็นเพราะ โครงการนี้มีการทุจริตฉ้อฉล ใช่หรือไม่

และคำถามที่อื้ออึงมาจากทั่วทุกสารทิศก็คือ แล้วหน่วยงานไหนจะเป็นผู้ตรวจสอบความโปร่งใสของ สตง. ในการลงนามอนุมัติโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานมูลค่า 2 พันกว่าล้านบาท ซึ่งมาจากภาษีของพี่น้องประชาชน แต่ตึก 30 ชั้น กลับพังทลายลงอย่างง่ายดาย

ขณะที่ สตง. ยังคงนิ่งเงียบ ได้เริ่มมีการขุดคุ้ยเปิดโปงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ในมิติของความไม่ชอบมาพากล ซึ่งเชื่อกันว่า จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตึกถล่มลงมาเพียงตึกเดียวในเหตุการณ์มหาวินาศวันนั้น

โดยเฉพาะการระบุว่า บริษัท China Railway ซึ่งเป็นคู่สัญญาร่วมกับบริษัท อิตาเลี่ยนไทย เดเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)หรือ ITD ไม่ใช่บริษัทที่ทำงานด้านการก่อสร้างอาคาร โดยตรง แต่ China Railway เป็นบริษัทที่ทำงานด้านการก่อสร้างทาง โดยเฉพาะทางรถไฟ ซึ่งจีนเข้ามาคว้างานในหลายเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังภาคอีสานมุ่งสู่ประเทศลาว

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ มีข้อมูลจากองค์การต่อต้านคอรัปชั่นประเทศไทยหรือ act ระบุว่า
แม้องค์การ act จะมีการลงนามในข้อตกลงคุณธรรมร่วมกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น โดยมีข้อตกลงกันว่า

ผู้แทนจากองค์การจะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน เริ่มตั้งแต่การเขียน tor การประกวดราคา เพื่อป้องกันการล็อกสเปคการฮั้วประมูลและการตั้งงบประมาณเพื่อให้แน่ใจว่า จะเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่มีการตั้งงบประมาณสูงเกินจริง

แต่เมื่อถึงโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานของ สตง. ผู้แทนจากองค์การกลับไม่ได้เข้ามามีส่วนสังเกตการณ์ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ทั้งที่เป็นโครงการมูลค่าสูงถึง 2,000 กว่าล้านบาท

นายมานะ นิมิตมงคล ประธานองค์การ act กล่าวว่า
ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรคอร์รัปชันฯ ได้เริ่มปฎิบัติหน้าที่หลังจาก สตง. คัดเลือกผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน และมี TOR พร้อมแบบก่อสร้างแล้ว จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกำหนดคุณสมบัติและการคัดเลือกผู้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างรวมทั้ง TOR ดังกล่าว

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้รับเหมาโครงการนี้มีการหยุดงานเป็นช่วงๆ ในช่วงแรก และเมื่อทำงานต่อก็ทำอย่างล่าช้ามาก ซึ่งคณะผู้สังเกตการณ์ได้ทักท้วงมาโดยตลอด จนเมื่อเดือนมกราคม 2568 สตง. แสดงท่าทีเตรียมยกเลิกสัญญาก่อสร้าง แต่หลังจากนั้นเพียง 2 เดือน อาคารก็พังทลายลงในวันที่เกิดแผ่นดินไหว

. นายมานะกล่าวต่อไปว่า ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ มีขอบข่ายหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารสัญญาก่อสร้างว่าถูกต้องตรงตามแบบก่อสร้างตามสัญญาหรือไม่ หากมีการแก้แบบ เพิ่มลดงานหรือวัสดุก่อสร้าง สตง. และผู้ควบคุมงานจะต้องแจ้งให้ผู้สังเกตการณ์ทราบ

ส่วนเรื่องการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันทางวิศวกรรมระหว่างการก่อสร้าง เช่น การแก้แบบ เพิ่มลดงาน เปลี่ยนวัสดุก่อสร้าง หรือดึงงานล่าช้าเป็นความรับผิดชอบของ สตง. และบริษัทผู้ควบคุมการก่อสร้างที่ได้รับว่าจ้างเป็นผู้กำกับควบคุมผู้รับเหมาให้ก่อสร้างตามสัญญา 

. “โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)” เป็นมาตรการสากล ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ นำแนวคิดมาจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ โดยนำเสนอให้รัฐบาลไทยนำมาใช้ตรวจสอบความโปร่งใสในโครงการเมกกะโปรเจค ตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีผู้ทรงคุณวุฒิอาสาปฎิบัติหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์อิสระจำนวน 252 คน ร่วมสังเกตุการณ์ 178 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านบาท ประหยัดงบประมาณประเทศได้ 77,548 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.7 ของงบประมาณรวม

. “แต่มีข้อสังเกตว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา โครงการที่รัฐเลือกเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมกลับมีขนาดและความสำคัญลดน้อยลงเหลือไม่ถึง1ใน 3 เป็นเรื่องน่าเสียดายโอกาสของประเทศไทยที่จะใช้งบประมาณและทรัพยากรของรัฐให้คุ้มค่า และส่งเสริมการทำงานของภาครัฐให้เปิดเผยโปร่งใสโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว

แต่ในท้ายที่สุดแล้วผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า ผู้ที่น่าจะต้องรับผิดชอบโดยตรงก็คือ กรรมการคัดเลือกและกรรมการตรวจการจ้าง ซึ่งเป็นคนของ สตง. ทั้งสิ้น ยิ่งถ้าพบว่ามีการจ่ายเงินตามงวดงานไปแล้วเป็นลำดับ ก็จะยิ่งเป็นประเด็นที่ให้ผู้คนสงสัยว่า การก่อสร้างในแต่ละงวดงาน เป็นไปอย่างถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ จึงยินยอมให้คู่สัญญาเบิกเงินไปได้

คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ในท้ายที่สุดแล้ว สตง. ผู้พิทักษ์ความโปร่งใสในการใช้งบประมาณแผ่นดิน จะออกมาฟอกขาวให้ตนเองด้วยวิธีใด จึงจะเรียกศรัทธาจากผู้คนกลับคืนมาได้อย่างสมบูรณ์ ก่อนที่จะถูกชี้นิ้วจากหน่วยงานอื่นๆ ด้วยวลีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาช้านาน นั่นคือว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น