ปมร้อนข่าวลึก : ปราสาทตาเมือนธม บทพิสูจน์ “ดีลลับ” สัมพันธ์ลึกทักษิณ - ฮุนเซน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปราสาทตาเมือนธม ซึ่งอยู่บนช่องเขาตาเมือง เทือกเขาพนมดงรัก บ้านหนองคันนาสามัคคี จังหวัดสุรินทร์ บริเวณชายแดนไทยกัมพูชา ถือเป็นปราสาทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอุทยานประวัติศาสตร์กลุ่มปราสาทตาเมืองที่ถือเป็นสถานที่สำคัญและมีประวัติความเป็นมายาวนาน
แต่สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่สำคัญเท่ากับประเด็นที่ว่า ในวันนี้ปราสาทตาเมือนธม ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเผชิญหน้าอีกครั้งหนึ่งระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา ภายใต้ข้อกังขาของคำถามที่ว่า ปราสาทแห่งนี้ ใครเป็นเจ้าของที่แท้จริง และเชื่อมโยงไปถึงประเด็นพื้นที่ทับซ้อน ระหว่างไทยกับกัมพูชาในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นเขตแดนทางทะเลหรือพื้นที่บนบกตามแนวชายแดน
สำหรับประเทศไทยและคนไทยรับรู้กันมาตลอดว่า นี่คือสมบัติในเชิงประวัติศาสตร์ของชาติตั้งอยู่บนดินแดนไทย ตามหลักฐานดั้งเดิมที่ระบุเขตสัมปันน้ำเป็นตัวกำหนด
นายวีระ สมความคิด นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเคยถูกกัมพูชาจับกุมและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานาน ก่อนจะได้รับอิสรภาพหลังการเจรจาในยุครัฐบาลคสช. กล่าวถึงกรณี ข้อถกเถียงความเป็นเจ้าของและที่ตั้งของปราสาทตาเมือนธมว่า
“ผมไม่ยึดกูเกิ้ล ผมยึดสนธิสัญญาไทยฝรั่งเศสปี 1904-1907 หรือ พ.ศ.2447-2450 ในสมัยรัชกาลที่ 5 บอกว่า การแบ่งปันเขตแดนให้ยึดตรงไหน สันปันน้ำก็สันปันน้ำเป็นหลัก ตาเมือนธมตั้งอยู่บนสันปันน้ำ ก็ถือเป็นของไทย”
แม้นักเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างนายวีระจะให้ความเห็นเช่นนั้น แต่สิ่งที่คนไทยได้ประจักษ์ ก็คือ พฤติกรรมของทหารกัมพูชาบนปราสาทแห่งนี้ ซึ่งเข้าข่ายการแสดงในเชิงสัญลักษณ์ว่าคนกัมพูชาเป็นเจ้าของตาเมือนธม โดยมีการขึ้นไปชักธงและร้องเพลงชาติกัมพูชาบนปราสาทเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 และแสดงพฤติกรรมซ้ำในลักษณะเดิมอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่13 กุมภาพันธ์ 2568 จนเกิดการเผชิญหน้ากับทหารไทยของกองกำลังสุรนารี ซึ่งรักษาพื้นที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว
แต่ดูเหมือนว่า สถานการณ์จะยังคงอยู่ในลักษณะที่พร้อมจะปะทุขึ้นมาได้ไหมทุกเมื่อ
ตราบใดที่ปราสาทแห่งนี้ยังคงตั้งอยู่บนพื้นที่ ซึ่งเกี่ยวพันกับข้อตกลงใน MOU 44 ที่ยังเจรจาค้างคาระหว่างไทยกับกัมพูชา
ภาพของทหารไทยและกัมพูชาที่ขึ้นไปจับมือแสดงความเป็นมิตร หลังจากที่ต่างฝ่ายต่างร้องเพลงชาติของตนบนปราสาทเจ้าปัญหา ไม่ต่างอะไรกับการแสดงฉากหนึ่งผู้ซึ่งบังคับบัญชา ของทั้งสองฝ่าย ใช้เป็นเครื่องมือ ลดกระแสความไม่พอใจของประชาชนและป้องกันไม่ให้ความรู้สึกรักชาติบานปลายไปสู่ความคลั่งชาติ
คำถามที่ยังคงค้างคาใจคนไทยก็คือ การทำหนังสือประท้วงของกองกำลังสุรนารี ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ เหตุใดจึงไม่ได้รับการตอบสนองอย่างจริงจัง เพราะทหารกัมพูชายังคงมีพฤติกรรม แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความเป็นเจ้าของปราสาทตาเมือนธมเหมือนที่เคยแสดงพฤติกรรมมาแล้วครั้งหนึ่ง
บางคนตั้งคำถามรุนแรงยิ่งไปกว่านั้น ถึงขนาดที่ว่ากองทัพไทย ทหารไทยไร้น้ำยาแล้วหรือ เพื่อนบ้านจึงปราศจากความเกรงกลัว
ยิ่งไปกว่านั้น ปฏิกิริยาการแสดงออกในระดับรัฐบาล ดูเหมือนว่าจะไม่ได้แต้มจากพี่น้องคนไทยเท่าใดนัก หลังจากที่รัฐมนตรีกลาโหมนายภูมิธรรม เวชยะชัย ออกมาให้สัมภาษณ์ ในลักษณะที่เหมือนกับเป็นการแก้ตัวแทนฝ่ายกัมพูชาว่า พลเอกฮุนมาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ไม่ได้โทรศัพท์มาขอโทษฝ่ายไทยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใดซึ่งขัดแย้งกับรายงานของสื่อต่างประเทศที่ระบุว่า ผู้นำกัมพูชา โทร. มาขอโทษแสดงความเสียใจในเหตุการณ์ดังกล่าว
ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ทุกปัญหาความคลุมเครือ ในเรื่องเขตแดนทางบกและทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาจะถูกสาธารณชนตั้งข้อสงสัยว่า การที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้อย่างเด็ดขาดโดยฝ่ายไทยได้รับประโยชน์ครบถ้วนและรักษาเกียรติภูมิของชาติไว้ได้อย่างสมศักดิ์ศรี เป็นเพราะสายสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร กับนายฮุนเซน อดีตนายกกัมพูชา
ซึ่งหลายฝ่ายเคลือบแคลงใจว่า ทั้งสองมีดิวลับจับมือกันแบ่งผลประโยชน์ให้แก่กันและกันเป็นส่วนตัว แทนที่จะยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม หากประเด็นความขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ปราสาทตาเมือนธมลุกลามบานปลายไปสู่ความขัดแย้ง เป็นกรณีพิพาทที่ต้องใช้กำลังทหารเข้าตัดสินจนเกิดการสู้รบแบบจำกัด เพื่อแย่งชิงกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าว
คงจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสำหรับครอบครัวทหารของทั้งสองฝ่ายที่ต้องสูญเสียคนที่รักจากการสู้รบที่เกิดจากการแย่งชิงกรรมสิทธิของพื้นที่ซึ่งเป็นชายแดนของทั้งสองฝ่ายที่ผู้คนทั้งสองประเทศ มีการไปมาหาสู่ และทำมาหากินกันมาอย่างสงบสุขโดยตลอด
คงต้องติดตามกันต่อไป อย่างค่อยคิดว่า ปัญหาการอ้างสิทธิ์บนพื้นที่ชายแดนอันเป็นที่ตั้งของปราสาทตาเมือนธมจะลงเอยอย่างไร และรัฐบาลของทั้งสองฝ่ายจะมีความจริงใจมากน้อยแค่ไหน ในการหาทางออก
หรือทุกอย่างจะเป็นไปตามคำร่ำลือที่ว่า พื้นที่แห่งนี้จะถูกใช้เป็นประเด็นเบี่ยงเบนความสนใจ เมื่อสถานะการทางการเมืองของทั้งสองชาติอยู่ในภาวะสั่นคลอน ไร้เสถียรภาพ จนต้องหาตัวช่วย ด้วยการสร้างกระแสความคลั่งชาติ หวงแหนพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งเป็นเสมือนโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หาย หรือเจ้าของไข้ไม่ต้องการที่จะหายจากโรคนี้