ปมร้อนข่าวลึก : สหรัฐฯ อิสราเอล กร่าง ละเมิดสิทธิฯ กล่าวหาคนอื่น ปั่นประเด็นร้อน“อุยกูร์”
กลายเป็นดรามาการเมืองระดับโลก ประเด็นที่ไทยส่งกลับผู้ต้องหา “อุยกูร์” กลับไปยังประเทศจีน เป็นเหตุให้ถูกประณาม ตลอดจนมีมาตรการตอบโต้จากชาติตะวันตก ทั้งสหภาพยุโรปหรืออียู และโดยเฉพาะ “พี่เบิ้ม“ ประเทศสหรัฐอเมริกา
เอาเข้าจริงครั้งนี้ไม่ใช่หนแรกที่ “ชาวอุยกูร์” ถูกจุดขึ้นมาเป็นประเด็นความขัดแย้งระดับโลก และหลายครั้งที่ “ประเทศไทย” มักถูกใช้เป็นพื้นที่การจุดชนวนในประเด็นดังกล่าว
นอกจากนี้ยังถูกใช้เป็น “ข้ออ้าง” ในการก้าวก่ายการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐของไทย ซึ่งหากลงลึกในรายละเอียดแล้วอาจเข้าข่ายละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทยรวมถึงละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วยซ้ำ
ที่ผ่านมา สหรัฐฯมักทำตัวเป็น “ลูกพี่” ที่ไม่ค่อยให้เกียรติการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐไทยเท่าที่ควร โดย “ตำรวจสันติบาล” เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มักได้รับการ “ประสานงานเชิงสั่งการ” อยู่เสมอ
ถึงขั้นที่ว่า หากมีใครมาเดินด้อมๆมองๆถ่ายรูปนักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติแถวย่านสุขุมวิท หรือแถวถนนวิทยุ ใกล้สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย ก็จะ “ชี้เป้า” ให้ตำรวจสันติบาลนำตัวหรือ “อุ้ม” เข้าไปทำประวัติถ่ายรูปเก็บข้อมูล รวมทั้งยังให้ตรวจค้น-ตรวจยึด อุปกรณ์หรือกล้อง รวมทั้งสั่งให้ลบรูปภาพ ทั้งที่โดยส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงนักท่องเที่ยวที่ถ่ายภาพทัศนียภาพวิวทิวทัศน์ทั่วไป
จนบางครั้งมีการพูดกันไปถึงว่า ย่านถนนวิทยุ ใจกลาง กทม. กลายเป็นอาณาเขตของสหรัฐฯ ไปแล้ว คล้ายกับละแวกโอเชี่ยนทาวเวอร์ สุขุมวิท 19 อันเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ก็มีการร้องขอในลักษณะใกล้เคียงกัน
เดิมทีเพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทางตำรวจสันติบาลก็ให้ความร่วมมือปฏิบัติตาม แต่มาในระยะหลังก็พิจารณาในแง่สิทธิส่วนบุคคล จึงหลีกเลี่ยงไปจนถึงยกเลิกการเข้าตรวจค้นตามคำขอของทางสหรัฐฯ จะมีเพียงการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลไปดูแลบริเวณด้านหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ตามมาตรการรักษาความปลอดภัย
นอกจากนี้ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมของ “เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ” ที่มักวางกล้ามใหญ่โต ร้องขอการดูแลต้อนรับแบบเอิกเกริก เพื่อโชว์ความเป็น “ลูกพี่” ที่ต้องได้รับการดูแลที่เหนือกว่าชาติอื่นๆ ต่างกับ “จีน” ที่มีภารกิจร่วมกับไทยเสมอยังให้เกียรติ ให้ความเคารพ มีความสนิทชิดเชื้อกับทางเจ้าหน้าที่ของไทย มากกว่าการทำตัวเป็น “ลูกพี่” อย่างสหรัฐฯ
ตรงนี้เป็นความย้อนแย้งอย่างชัดเจนกับพฤติการณ์ของสหรัฐฯ ที่มีคำถามถึงการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล-สิทธิมนุษยชน ทั้งในประเทศไทยตามที่ว่าไว้ข้างต้น และแม้แต่ในประเทศสหรัฐฯ เอง กลับนำประเด็นนี้มาโจมตีประเทศจีน รวมถึงประเทศไทย กรณีที่รัฐบาลไทยตัดสินใจส่ง 40 ผู้ต้องชาวอุยกูร์ซึ่งถูกคุมขังในประเทศไทยมานานเกิน 10 ปี กลับไปยังประเทศจีน
กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในระดับนานาชาติ ทั้งที่ก่อนหน้านี้หลายประเทศก็มิได้ แสดงเจตจำนงที่ชัดเจนเพียงพอในการรับ 40 ชาวอุยกูร์ ไปในฐานะผู้อพยพ แม้จะมีการทำหนังสือสอบถามกันหลายครั้งก็ตาม
ขณะเดียวกันประเทศจีนก็เปิดปฏิบัติการ “ซื้อใจ” ด้วยการแสดงความจริงใจในการดูแลชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง โดยการลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับและสร้างอาชีพให้กับชาวอุยกูร์ ที่เดิมวางงบประมาณการลุงทุนที่ 50 ล้านหยวน แต่ภายหลังกลับเพิ่มยอดลงทุนขึ้นไปถึง 250 ล้านหยวน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประเทศไทย และนานาชาติว่า จะดูแลชาวอุยกูร์เป็นอย่างดี ลบครหา “ไอโอ” ที่ออกมาโจมตีในแง่มนุษยธรรมอย่างต่อเนื่อง