ปมร้อนข่าวลึก : ‘วันนอร์-ทักษิณ‘ อย่านำเรื่องชาติบ้านเมือง มาตอบแทนบุญคุณส่วนตัว
ก่อนจะถึงวันที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24 มีนาคม ปรากฎว่าเวลานี้ฝ่ายค้านได้เริ่มซ้อมอภิปรายไม่ไว้วางใจประธานสภาผู้แทนราษฎร นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ไปก่อน หลังจากมีความเห็นกันไม่ลงตัวในประเด็นเกี่ยวกับการมีชื่อ 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี ในญัตติที่พรรคประชาชนเสนอต่อประธานสภาฯ เพื่อขออภิปรายไม่ไว้วางใจ
เนื้อหาบางส่วนจากญัตติที่มีชื่อของอดีตนายกฯทักษิณ มีว่า"...นอกจากนี้ ยังสมัครใจยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา ชี้นำ ชักใย ให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันเป็นเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง ประพฤติตนเป็นเสมือนนายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด โดยมีบิดาเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริงที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการใช้อำนาจ..."
เรื่องนี้ถ้ามองในแง่ของข้อกฎหมายผ่านข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถือว่าเป็นการมองต่างมุมกันพอสมควร โดยเฉพาะข้องคับข้อที่ 69 และ 176 โดยประธานสภาฯ คิดว่าในฐานะประธานมีอำนาจในการแก้ไขญัตติหากพบว่ามีข้อบกพร่อง ซึ่งข้อบกพร่องที่ว่านั้นก็คือเนื้อหาในญัตติที่มีการพาดพิงบุคคลภายนอกตามข้อที่ 69
"เมื่อประธานสภาได้รับญัตติตามข้อ 175 แล้ว ให้ทำการตรวจสอบ หากมีข้อบกพร่องให้ประธานสภาแจ้งผู้เสนอทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับญัตติ" บางส่วนจากข้อ 176 ส่วนข้อ 69 ที่ประธานสภาฯอ้างไม่สามารถพาดพิงบุคคลภายนอกได้นั้น ระบุว่า "ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น"
ตรงกันข้ามความคิดของพรรคประชาชนที่เห็นว่าญัตติดังกล่าวสมบูรณ์ในตัวเองตามข้อบังคับการประชุมสภาฯทุกประการ โดยเฉพาะองค์ประกอบของการมีจำนวนส.ส.เข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าประธานสภาฯมีหน้าที่บรรจุตามระเบียบวาระเท่านั้น แม้ในข้อบังคับการประชุมสภาฯจะเปิดโอกาสให้ประธานสภาฯแก้ไขข้อบกพร่อง แต่ก็เป็นข้อบกพร่องทั่วไปเท่านั้น
เช่น ความถูกต้องของตัวอักษร เป็นต้น โดยไม่อาจเข้าแทรกแซงเนื้อหาในญัตติได้ และที่สำคัญต่อให้มีการพาดพิงบุคคลภายนอกหรือทักษิณขึ้นมาจริง ความรับผิดชอบก็ต้องตกเป็นของผู้อภิปรายเท่านั้นอยู่แล้ว
แต่เหตุผลเบื้องหลังของการยอมออกเปลืองตัวของประธานสภาฯในครั้งนี้ มองได้ว่าเป็นเรื่องของการเมืองเป็นสำคัญ พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชาติ แม้จะต่างพรรคกัน แต่ก็ถือว่ามีสายสัมพันธ์โยงใยกันแนบแน่นพอสมควร ในอดีตครั้งหนึ่งต้องไม่ลืมว่าประธานสภาฯผู้นี้ คือ แกนนำกลุ่มวาดะห์ ในพรรคไทยรักไทยเมื่อครั้ง 'ทักษิณ' ครองอำนาจเมื่อ 20 ปีก่อน โดยเวลานั้นได้เป็นรัฐมนตรีในหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
มาจนถึงปัจจุบันการออกมาตรวจสอบกระบวนการเลือกส.ว.ในครั้งนี้ก็ว่ากันว่าเป็นการร่วมมือกันเฉพาะกิจของทั้งสองพรรคเช่นกัน เพื่อตอบโต้พรรคภูมิใจไทย ยิ่งไปกว่านั้นล่าสุดยังปรากฎภาพการพินอบพิเทาระหว่าง 'ทักษิณ' กับ 'วันนอร์' มาแล้วระหว่างลงพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยภาพประธานสภาฯยกมือไหว้นายใหญ่พรรคเพื่อไทย จนเกิดเสียงวิจารณ์ถึงขนาดที่โฆษกประธานสภาฯ ต้องออกมาแถลงข่าวชี้แจงเป็นการด่วน
เพียงเท่านี้ก็พอปะติดปะต่อได้ว่าการพยายามยกข้อบังคับการประชุมสภาฯขึ้นมาของประธานสภาฯในครั้งนี้ ย่อมแฝงไปด้วยเหตุผลทางการเมืองไม่มากก็น้อย เพราะที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยทั้งระดับลูกพรรคและรัฐมนตรีต่างออกมาเปลืองตัวปกป้องนายน้อย 'แพทองธาร ชินวัตร' นายกรัฐมนตรี กันถ้วนหน้าแล้ว และต่างบอบช้ำไปตามๆกัน
การออกมาดักทางเช่นนี้ของประธานสภาฯ เป็นการทำให้เข้าทางพรรคเพื่อไทยพอดิบพอดี เพราะอย่างน้อยจะได้มีข้ออ้างในการห้ามไม่ให้พรรคประชาชนกล่าวพาดพิงนายใหญ่ซึ่งเป็นผู้นำแห่งจิตวิญญาณไปในตัว และจะได้มีเหตุยกมือประท้วงได้อย่างต่อเนื่อง จนการอภิปรายของพรรคประชาชนตต้องติดๆดับๆเป็นระยะ
อย่างไรก็ตาม ยิ่งท่าทีของฝ่ายรัฐบาลทั้งการขีดเส้นให้อภิปรายเพียง 1 วัน หรือการพยายามแก้ไขเนื้อหาในญัตติ ในทางการเมืองแล้วไม่ได้เป็นผลดีต่อพรรคเพื่อไทยหรือตัวนายกฯเลยแม้แต่น้อย เพราะการใช้ลูกไม้การเมืองแบบนี้มากขึ้นเท่าไหร ยิ่งทำให้ภาวะผู้นำของนายกฯแย่ลงมากขึ้นเท่านั้น
รัฐบาลอาจชนะในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพราะถึงอย่างไรเสียส.ส.ฝ่ายรัฐบาลย่อมยกมือสนับสนุนนายกฯต่อไป แต่ระยะยาวภาพจำนี้จะติดตัวนายกฯไปตลอด