มองรอบด้าน ปัญหา 'ประกันสังคม' ใครควรมีอำนาจบริหาร
ร้อยวันพันปีนานๆ จะเห็นประเด็นที่ว่าด้วยความโปร่งใสในการบริหารงานของกองทุนประกันสังคมจะกลายมาเป็นกระแสหลักที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและจับจ้องมองเป็นพิเศษในขณะนี้ โดยสาเหตุหนึ่งที่เป็นกระแสขึ้นมาได้นั้นส่วนหนึ่งมาจากการกัดไม่ปล่อยของ 'รักชนก ศรีนอก' ส.ส. กทม. พรรคประชาชน ออกมาเปิดประเด็นถึงการใช้งบประมาณของคณะกรรมการบริหารในการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ
แม้ว่าผู้บริหารประกันสังคมและกระทรวงแรงงานจะต่างออกมาชี้แจงว่างบประมาณสำหรับการบริหารจัดการใช้ไปไม่ถึง 3% ตามกรอบของกฎหมาย แต่ด้านหนึ่งต้องไม่ลืมว่ากองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่เงินจำนวนมหาศาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินจากผู้ประกันตน ดังนั้น เพียงแค่ 3% ก็เป็นเงินจำนวนมากแล้ว
สถานการณ์เรื่องธรรมาภิบาลของกองทุนประกันสังคมยิ่งหนักหน่วงมากขึ้นไปอีก ภายหลังมีการแสดงออกถึงการพยายามในการปฏิเสธกระบวนการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นตัวแทนของประชาชน โดยตัวแทนจากประกันสังคมพยายามเลี่ยงไม่ให้เอกสารข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารเงินของกองทุนให้กับคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ในโครงการ Web Application มูลค่า 848 ล้านบาท ที่มีกำหนดเสร็จ 20 ธ.ค.66 แต่ปัจจุบันยังขึ้นระบบไม่ได้
สำหรับสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พรรคประชาชนสามารถเดินหน้าตรวจสอบสำนักงานประกันสังคมได้อย่างเต็มที่ในปัจจุบัน มาจากการที่ทีมประกันสังคมก้าวหน้าได้รับการเลือกตั้งเข้าไปเป็นบอร์ดประกันสังคม จึงไม่แปลกที่ข้อมูลเหล่านี้จะสามารถนำเอาออกมาเผยแพร่ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้ามองในทางการเมืองแล้ว แน่นอนว่ารถทัวร์ย่อมไปลงที่พรรคภูมิใจไทยในฐานะเจ้ากระทรวงแรงงาน
ถ้าเอาเรื่องการเมืองวางไว้นอกสำนักงานประกันสังคม เราไม่อาจปฎิเสธได้ว่าสถานะของเงินกองทุนประกันสังคมมีความสั่นคลอนพอสมควร เพราะข้อมูลจากสถาบันทางวิชาการหลายสำนักต่างชี้ให้เห็นตรงกันว่าถ้าการบริหารงานกองทุนประกันสังคมไม่มีการเปลี่ยนแปลง อีกประมาณ 30 ปีเงินอาจจะหมดไปจากกองทุนได้
ข้อมูลภาพรวม ณ สิ้นปี 2567 มีเงินสมทบสะสมจากผู้ประกันตน และผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนรวมประมาณ 2 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย เงินสมทบและผลตอบแทนจากการลงทุน แต่ด้วยสาเหตุที่โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปที่มุ่งไปสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้จำนวนแรงงานใหม่ลดลง ซึ่งนั่นหมายถึงเม็ดเงินจากผู้ประกันตนจะลดลงในระยะยาวอีกด้วย เพราะกองทุนประกันสังคมมีรายจ่ายด่านสิทธิประโยชน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล และเงินบำนาญชราภาพที่จ่ายให้กับผู้ประกันตนเป็นรายเดือนไปตลอดชีวิตเมื่อเกษียณอายุ
ข้อเสนอหนึ่งที่มีการพยายามโยนให้สังคมช่วยกันตัดสิน คือ การเพิ่มสัดส่วนการเก็บเงินผู้ประกันตนจากที่ปัจจุบันจัดเก็บอัตราสูงสุด 750 บาทต่อเดือนมาเป็น 1000-1400 บาทต่อเดือน เพื่อให้เพิ่มเม็ดเงินเข้ากองทุนให้มากขึ้นและสร้างความแข็งแกร่งของกองทุนในระยะยาว แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากนัก เนื่องจากถูกมองว่าเป็นการดูดสภาพคล่องของผู้ประกันตนมากเกินไป อีกทั้ง ที่ผ่านมาการบริหารกองทุนประกันสังคมเองก็ไม่ได้ทำให้ผู้ประกันรู้สึกพอใจได้ว่าสิทธิประโยชน์ที่ตัวเองได้รับนั้นมีความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่จ่ายเข้ากองทุน
ดังนั้น จึงเริ่มมีข้อเสนออีกข้อในการแก้ไขปัญหาด้วยการเปิดโอกาสให้กองทุนประกันสังคมแยกออกมาจากระบบราชการ โดยสร้างให้เป็นหน่วยงานรัฐที่เป็นอิสระ เบื้องต้นอาจเป็นการแยกเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการลงทุนออกมาก่อน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาทำหน้าที่บริหารเม็ดเงินลงทุนเหมือนกับระบบกองทุนในภาคเอกชน เหมือนกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่สามารถบริหารกองทุนภายใต้ความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจรอบด้านได้เป็นอยางดี
การให้กองทุนประกันสังคมผูกติดกับระบบการบริหารแบบราชการต่อไป อาจทำให้ไม่เกิดความยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และที่สำคัญจะทำให้ยังอยู่ภายใต้การชี้นำของฝ่ายการเมือง
หากกองทุนประกันสังคมก้าวข้ามกำแพงตรงนี้ไปได้ อาจจะช่วยนำพาให้เงินประกันตนที่มาจากหยาดเหงื่อนของคนทำงานเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด แต่ปัญหาของเรื่องนี้อยู่ที่ผู้มีอำนาจในทางการเมืองว่าจะยอมหรือไม่ เพราะการจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาผู้แทนราษฎร
มองไปที่ความจริงใจของฝ่ายการเมืองแล้ว ต้องยอมรับว่ายังหาไม่มี และนอกจากจะไม่นำพาแล้ว ยังกลับจะทำให้เกิดความระแวงด้วยว่าจะทำในเรื่องอื่นที่ไม่สมควรทำด้วยหรือไม่ อย่างการยกเลิกระบบการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ รวมไปถึงรัฐบาล ควรกำหนดเป้าหมายและทิศทางของกองทุนประกันสังคมให้ชัดเจน พร้อมกับแนวทางการบริหารกองทุนให้ความโปร่งใสและเกิดความมั่งคั่งยั่งยืน