xs
xsm
sm
md
lg

ปมร้อน ข่าวลึก : สัมพันธ์สุดซับซ้อน ทักษิณ-เนวิน มิตรแท้ ศัตรูถาวร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปมร้อน ข่าวลึก : สัมพันธ์สุดซับซ้อน ทักษิณ-เนวิน มิตรแท้ ศัตรูถาวร

ความสัมพันธ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาลระหว่าง 'เพื่อไทย-ภูมิใจไทย' กำลังเดินทางมาถึงจุดแตกหักครั้งสำคัญ ภายหลังการยื่นเข้ามาตรวจสอบกระบวนการการได้มาซึ่งส.ว.ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ แม้ในทางปฏิบัติดีเอสไอจะเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย แต่ในทางการเมืองเป็นอันรู้ว่าพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แกนนำพรรคประชาชาตินั้น แทบจะเป็นเนื้อเดียวกับพรรคเพื่อไทย

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งแห่งความขัดแย้งระหว่าง 'เพื่อไทย-ภูมิใจไทย' เท่านั้น เพราะล้วงลึกลงไปแล้วต่างฝ่ายต่างสะสมความแค้นและเอาคืนกันทั้งต่อหน้าและลับหลังมาหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ การให้ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์กลับไปเป็นที่ดินธรณีสงฆ์ การลุกขึ้นมาตรวจสอบที่ดินเขาใหญ่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การขัดแข้งขัดขาในเรื่องโครงการสถานบันเทิงครบวงจร มาจนถึงการเตะถ่วงร่างกฎหมายสำคัญทั้งร่างพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จริงๆสองผู้ยิ่งใหญ่ของทั้งสองพรรคต่างเคยเคลียร์ใจกันมาแล้วรอบหนึ่งที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ทุกอย่างก็ดูน่าจะราบรื่น แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น การห่ำหั่นกันของทั้งสองฝ่ายยังคงมีให้เห็นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันตามที่ปรากฏในเวลานี้ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าทั้ง 'ทักษิณ-เนวิน' อาจมีความแค้นที่ยังคงฝังใจกันอยู่

ความสัมพันธ์ของ 'ทักษิณ-เนวิน' ด้านหนึ่งเรียกได้ว่ามีทั้งรักและชังผสมกันไป ช่วงพีคที่สุดของทักษิณเมื่อปี 2548 ความแข็งแกร่งของพรรคไทยรักไทยในเวลานั้นที่เกิดขึ้นมาได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำงานการเมืองของ 'เนวิน' ที่ย้ายออกจากพรรคชาติไทยมาซบพรรคไทยรักไทย

ความรักของทั้งสองคนที่มีให้ต่อกันในเวลานั้นเรียกได้ว่าหอมหวานเป็นอย่างมาก ขนาดวันที่ทักษิณเผชิญกับวิกฤติศรัทธาจนต้องประกาศเว้นวรรคทางการเมืองที่ทำเนียบรัฐบาล ก็เป็น 'เนวิน' ที่ได้เดินเข้าไปกอดทักษิณ ร่วมกับคนในครอบครัวชินวัตร

ใครต่อใครก็มองว่าสองคนนี้ไม่มีวันที่จะแยกจากกัน เพราะภายหลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบและจุดกำเนิดของพรรคพลังประชาชน ส.ส.ในเครือข่ายของนายใหญ่บุรีรัมย์ในนาม 'กลุ่มเพื่อนเนวิน' ก็ยังร่วมหัวจมท้ายช่วยกันประคองนายกรัฐมนตรีของพรรคถึงสองคน ไม่ว่าจะเป็น 'สมัคร สุนทรเวช' และ 'สมชาย วงศ์สวัสดิ์' แต่สุดท้ายก็มาถึงจุดแตกหักครั้งสำคัญ

ทั้งนี้ เนื่องมาจากการที่ 'เนวิน' ไปร่วมสนับสนุนให้ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2551 จากนั้นในปี 2552 ได้ออกมาเปิดใจหมดเปลือกถึงการสิ้นสุดความรักที่มีต่อทักษิณ

โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า "ไม่ใช่การหักหลัง แต่เป็นเรื่องของคนที่คิดต่างกันในทางการเมือง เพราะมาถึงจุดหนึ่งเมื่อเราเห็นต่างกัน ก็ต้องตัดสินใจเดินไปในแนวทางที่เราเชื่อและดีต่อประเทศชาติ กรณีผมอย่าหยิบมาบอกว่าเป็นการทรยศ ถ้าจะพูดถึงการหักหลัง กรณีท่านสมัคร สุนทรเวช ครับ การไม่โหวตให้ท่านสมัครกลับไปเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2551 ผมถือว่ากรณีนี้เป็นการหักหลังทางการเมือง"

"กรณีพวกผมเมื่อเห็นต่างจากท่านนายกฯทักษิณ ผมถูกไล่ล่าทำลายล้าง ผมอยากฝากไปยังท่านนายกฯทักษิณว่าพวกผมเป็นคน เป็นมนุษย์ ไม่ใช่ทาส ผมเป็นแค่หมาล่าเนื้อ วันไหนผมเห็นต่าง วันไหนผมไม่ทำตามใจ ผมก็เป็นได้แค่คนเนรคุณ คนหักหลังสำหรับท่านนายกฯทักษิณ นี่คือชีวิตพวกผมครับ"

การก้าวออกมาจากร่มเงาของ 'ทักษิณ' ในวันนั้นทำให้ 'เนวิน' ได้ถูกยกระดับเป็นนายใหญ่ในทางการเมืองอีกคนหนึ่ง แม้อาจจะไม่ถึงระดับเดียวกับ 'ทักษิณ' แต่เวลานี้ 'เนวิน' หรือแม้แต่ 'อนุทิน ชาญวีรกูล' รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ไม่ใช่คนที่นายใหญ่เพื่อไทยจะมาชี้นิ้วสั่งอะไรได้อีกแล้ว

ไม่ว่าจะด้วยจำนวนเสียงในสภาที่พรรคเพื่อไทยยังไม่อาจหายใจได้ด้วยตัวเอง หรือแม้แต่คอนเนคชั่นทางการเมือง ณ เวลานี้
'เนวิน-อนุทิน' ก็มีท่อต่อไม่แพ้กับที่ทักษิณมีเช่นกัน

ภาพความขัดแย้งทางการเมืองของ 'เพื่อไทย-ภูมิใจไทย' ด้านหนึ่งอาจเป็นเรื่องวิถีนักเลงการเมืองแบบโบราณที่ยังอาจพอมีมุมให้ตกลงกันได้ แต่วิถีนี้อาจใช้ไม่ได้กับการเมืองในยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร การมีจุดยืนทางการเมืองที่กลับไปกลับมาไม่ชัดเจน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อาจไม่เป็นผลดีกับทั้งสองพรรคในระยะยาว โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย

ดังนั้น ภายใต้ความสัมพันธ์ที่สุดซับซ้อนของผู้นำจิตวิญญาณทั้งสองพรรค อาจมาถึงปลายทาง ที่ไม่อาจเป็นมิตรแท้ แต่คือศัตรูถาวร
กำลังโหลดความคิดเห็น