รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปที่ จ.สุโขทัย เพื่อรู้จัก “น้องน้ำหวาน” เด็กกตัญญู ทั้งช่วยพ่อแม่ทำงานในสวนกล้วยเพื่อสอยใบตองมาขาย ทั้งทำงานเสริมเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว โดยมีฝันอยากเป็นเชฟทำอาหารและขนม เพราะเป็นสิ่งที่ชอบและถนัด
อาชีพหลักที่พ่อแม่ของ “น้ำหวาน” ด.ญ.สุภาวดี มั่นรอด ทำมาตลอดเพื่อเลี้ยงครอบครัวก็คือ ทำสวนกล้วย เพื่อขายใบตอง ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้กำลัง กว่าจะได้ขายต้องผ่านหลายขั้นตอน ทั้งสอยใบตอง แบกใบตอง แล่ใบตอง ซ้อนใบตอง และมัดใบตอง
ปัจจุบัน น้องน้ำหวานเรียนอยู่ชั้น ม.2 โรงเรียนหนองปลาหมอวิทยาคม นอกจากเป็นเด็กเรียนดีแล้ว ยังช่วยเหลือพ่อแม่ทำงานในสวนกล้วย โดยทำได้ทุกขั้นตอน “งานสอยใบตองต้องทำตอนเช้า เพราะถ้าตอนบ่าย แสงแดดจะทำให้ใบตองเหี่ยวได้”
ด้าน “สุภาพ อินทนา” แม่น้องน้ำหวาน เล่าว่า“หลังจากสอยใบตองและเก็บใบตองมาแล้ว ก็เอามาจุ่มน้ำ แล้วไปพับ พับให้มันเป็นแหนบ แล้วแต่เขาจะสั่งว่าเอาแหนบ 1 โล แหนบ 2 โล แล้วทำเป็นมัด ถ้าแหนบ 1 โล 5 แหนบ มัดละ 40 บาท แต่ถ้าแหนบละ 2 โล มาประกบกัน อันนั้นคือ 4 โล 30 บาท ปกติกว่าจะขายได้ต้องใช้เวลา 2 วัน คือสอยวันหนึ่ง ทำอีกวันหนึ่ง ถึงเวลาจะมีรถมารับซื้อ อย่างวันนี้ทำได้ 25 มัด ก็ได้ 1,000 บาท ปกติเดือนหนึ่งถัวเฉลี่ยได้ประมาณ 4,000-5,000 บาท”
กล้วยเป็นพืชที่ต้องการน้ำ แต่พ่อแม่ไม่มีทุนพอที่จะซื้อเครื่องสูบน้ำ ทำให้บางครั้งไม่ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ“หน้าแล้งปุ๊บ ต้นกล้วยมันต้องการน้ำตลอด บางทีได้ตังค์มา ก็ไปจ้างเขาดูดน้ำใส่ ซื้อปุ๋ยใส่ ถ้าเราไม่มี ส่วนมากจะไม่มี ส่วนมากจะไม่ค่อยได้ใส่ ไม่ค่อยให้น้ำ เหมือนทุนเราไม่มี ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น ถ้าเกิดขาดไป อย่างน้อยก็พยายามไปหายอดใบตองมาให้เขาให้ได้ (ถาม-ถ้าต้องจ้างเขาสูบน้ำใส่ใช้เงินเยอะไหม?) บางทีก็ชั่วโมงละ 100 บางที 20 ชั่วโมง”
ขณะที่ “รุ่ง มั่นรอด” พ่อน้องน้ำหวาน แม้จะอยู่ในวัยทำงาน อายุ 47 แต่ด้วยโรคประจำตัวที่รุมเร้า ก็ทำให้พ่อทำงานหนักต่อเนื่องนานๆ ไม่ได้
“ผมเป็นความดัน เบาหวาน บางครั้งก็ขึ้นสูง ทำงานไม่ไหว บางทีก็นอนเลย ผมก็อยากช่วยแฟนผมเต็มที่ บางทีผมทำไม่ไหว ผมก็ต้องพยายามไปกับเมีย เก็บบ้าง สอยบ้าง บางทีผมเก็บไม่ได้ แฟนก็บอกให้สอยใบตอง บางทีผมเก็บใบตองก้มๆ เงยๆ หน้ามืด หน้ามืดบ่อย”
อาการป่วยของพ่อทำให้น้องน้ำหวานอดห่วงและกังวลไม่ได้ กลัวว่าพ่อจะเป็นอะไรไป“พ่อเคยเข้า รพ. เขาความดันขึ้นแล้ววูบ (ถาม-หนูร้องไห้ รู้สึกอะไรอยู่?) กลัวพ่อแม่จะไม่ได้อยู่กับหนู กลัวเขาทำงานแล้วเหนื่อย แล้วสู้ไม่ไหว ตอนที่หนูไปโรงเรียน ตอนที่เขาไปสวนกันสองคน กลัวเขาจะเป็นลมไม่รู้ตัว”
หากถามว่า การทำงานสวนกล้วย ขั้นตอนไหนหนักที่สุด แม่น้องน้ำหวานบอกว่า“ตอนไปทำความสะอาด ถางหญ้า ถ้าตอนหน้าฝน ก็ซ่อมใหม่ เอาหน่อไปปลูก(ถาม-ทำสองคน แต่ทำได้เต็มที่คนเดียวและเป็นผู้หญิงด้วย เวลาเหนื่อย ท้อ คิดยังไง?) ไม่รู้จะทำยังไง มองหน้าลูกก็สู้ สู้เพื่อลูก อยากให้เขาเรียนสูงๆ จะพยายามทำให้เต็มที่”
ในยามที่รายได้ไม่ค่อยพอ ทุกคนในครอบครัวต้องปรับตัวเพื่อรับผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องการกินอยู่และการไปโรงเรียนของน้องน้ำหวาน
“ในแง่อาหารการกิน พ่อก็ไปดักตามต้นไม้บ้าง บางทีได้งูมา ก็เอามาผัด หากับข้าว บางทีก็ไปหาหนู หาปลาบ้าง (ถาม-บางทีไม่มีค่าขนมไปโรงเรียนให้ลูก บอกเขาว่ายังไง?) บอกว่าพ่อยังไม่มีตังค์นะ (ถาม-ในใจคนเป็นพ่อรู้สึกยังไงที่พูดอย่างนี้กับลูก?) น้ำตาก็ไหล เจ็บข้างใน (ถาม-แล้วน้องบอกพ่อว่ายังไง?) ไม่มีก็ไม่เป็นไรพ่อ”
ขณะที่น้องน้ำหวานพยายามทำงานเสริมเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว“ช่วงเย็นหลังเลิกเรียน 5 โมงถึง 2 ทุ่ม หนูก็ไปทำขนม พวกถ้วยฟู ขนมชั้น หน้าที่หนูคือ เอาขนมใส่กล่อง ได้รายได้วันละ 100 บาท (ถาม-คิดว่าการไปทำงานทำขนม เราได้อะไรกลับมาบ้าง?) ได้ความรู้ ได้ความอดทน และได้เงินไปโรงเรียน ถ้าขนมมันไม่ดี เราสามารถปรับเปลี่ยนให้มันดีกว่าเดิมได้ (ถาม-แล้วเคยคิดจะทำขายเองไหม?) เคย (ถาม-แล้วได้ทำหรือยัง?) ยังค่ะ เพราะไม่มีของ ยังไม่มีทุน”
“(ถาม-ทำไมหนูถึงชอบทำขนมไทย?) เพราะได้ทำกินเอง ได้แบ่งคนอื่นด้วย หรือไม่ก็ทำแล้วไปขาย (ถาม-หนูเพิ่งอายุ 14 อนาคตหนูอยากเป็นอะไรหรือทำอะไร?) อยากเป็นเชฟทำอาหารขนม เพื่ออยากให้แม่สบาย จะดูแลแม่ (ถาม-พูดถึงปัญหาเศรษฐกิจการเงิน น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของครอบครัว หนูคิดว่าหนูจะมีโอกาสเรียนได้ถึงจบปริญญาตรีไหม?) ไม่น่าถึง ก็อยากจะไปให้ถึง (ถาม-แล้วหนูจะทำยังไง?) ก็ต้องสู้เรียนต่อไป (ถาม-แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาเรียน?) ก็ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย”
ด้าน “สโรชา ปัญญานุกูล” ครูที่ปรึกษาของน้องน้ำหวาน ยืนยันว่า น้องเป็นเด็กที่เก่งรอบด้าน ทั้งการเรียนและทำอาหาร“น้องเป็นเด็กที่เรียนดี มีความสามารถ มีความเก่งรอบด้าน ตอนเรียนในวิชา น้องตอบคำถามที่ครูถามได้ การเรียนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ได้เกรด 4 วิชาที่ครูสอน เห็นว่าน้องมีความสามารถด้านทำอาหาร เรียกว่า เป็นครูอีกคนหนึ่งในห้องเรียนได้เลยสำหรับวิชาการทำอาหาร เพราะพอถึงขั้นตอนการทำขนม น้องจะรู้ขั้นตอน เพราะน้องได้ไปทำอาชีพเสริมเป็นขนมหวาน น้องจะจะรู้ว่าเมนูบัวลอยต้องปั้นยังไง ใช้สัดส่วนเท่าไหร่ และมีขั้นตอนอะไรบ้างจนเสร็จเลย”
ขณะที่ “จันท์ประภา เพิ่มพูน” รองผู้อำนวยการโรงเรียนหนองปลาหมอวิทยาคม เผยว่า ทางโรงเรียนเล็งเห็นความสามารถด้านต่างๆ ของน้องน้ำหวาน และทราบถึงพื้นฐานครอบครัว จึงพยายามช่วยให้น้องมีรายได้เสริม
“จากการเยี่ยมบ้านกับครูที่ปรึกษา เราได้เยี่ยมบ้านนักเรียน 100% จึงทำให้ผู้บริหารคณะครูได้เห็นถึงความเป็นจริงการเป็นอยู่ของนักเรียน ได้พบว่า นักเรียนแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ กลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ แต่กรณีของน้องน้ำหวานเป็นกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงหรือต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน แต่เป็นกลุ่มที่พฤติกรรมดี และมีความสามารถ เลยส่งเสริมเขา ความสามารถของเขาคือ ดนตรีไทย นางรำ ส่งเสริมให้เขาได้ไปออกชุมชน หารายได้ระหว่างเรียน เป็นนางรำร่วมกับชุมนุมกลองยาวของเรา”
สำหรับน้องน้ำหวานแล้ว ประสบการณ์ชีวิตที่น้องต้องเจอและฝ่าฟันมาตลอด ทั้งเพื่อพ่อแม่และอนาคตของตนเอง คงพิสูจน์ได้อย่างดีว่า น้องไม่เพียงเป็นเด็กกตัญญู แต่ยังเข้มแข็งและพร้อมสู้มากเพียงใด“ประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้หนูได้ความอดทน อดทนเพื่ออนาคต และต้องสู้ต่อไป”
หากท่านใดต้องการช่วยเหลือทุนการศึกษาและสมทบทุนซื้ออุปกรณ์การเกษตร เครื่องสูบน้ำให้ครอบครัวน้องน้ำหวาน สามารถโอนไปได้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ชื่อบัญชี สุภาพ อินทนา เลขที่บัญชี 011-0-92995-157
คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “แรงใจจากสวนใบตอง”
https://www.youtube.com/watch?v=kgDzLBNz-LM
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 11.30-12.00 น. ทาง NEWS1 (IPTV ของ NT ช่อง 64 / AIS Playbox ช่อง 655)
หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos