xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก ความเหมือนในความต่างของ'ปลาหมอสีคางดำ-ปลาหมอคางดำ'มุ่งสู่เป้าหมายแก้ปัญหาการระบาดให้ลุล่วงปี 70

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการ สร้างความรู้ความเข้าใจคุณลักษณะปลา ชี้ให้เห็นความเหมือนในความต่างของปลาหมอสีคางดำ-ปลาหมอคางดำ หวังช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำให้ลุล่วงตามเป้าหมายปี 2570

ชาญศึก ผดุงความดี นักวิชาการอิสระ :
ย้อนรอยที่มาปลาหมอสีคางดำ-ปลาหมอคางดำ ที่ยังมีความพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลยกระดับการแก้ปัญหาให้มีความชัดเจนและต่อเนื่องมากกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณเพื่ออุดหนุนการซื้อปลาไปใช้ประโยชน์สูงสุด และจูงใจให้มีการจับปลาออกแหล่งน้ำธรรมชาติมากที่สุด เพื่อดำเนินตามขั้นตอนปล่อยปลาผู้ล่า สู่การใช้นวัตกรรม 4N เพื่อทำให้ปลาเป็นหมัน ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง วางเป้าหมายกำจัดและควบคุมปลาให้ได้ภายในปี 2570

ย้อนรอยที่มาของชื่อปลาหมอสีคางดำเดิมใช้ชื่อ "ปลานิล" (Sarotherodon melanotheron) ช่วงปี 2549 ถึง 2550 เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ ต่อมาในปี 2553 บริษัทเอกชนได้นำเข้าปลานิลชนิดนี้มาในประเทศเพื่องานวิจัยและพัฒนา และต่อมากรมประมงได้เปลี่ยนชื่อปลาชนิดนี้จากปลานิลเป็น “ปลาหมอเทศข้างลาย” ทำให้บริษัทเอกชนต้องใช้ชื่อตามที่กรมประมงระบุให้ใช้ในขณะนั้น แต่ยังใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อเรียก "ปลาหมอเทศข้างลาย" เป็น "ปลาหมอสีคางดำ" ในปี 2561 ตามประกาศของกรมประมง ซึ่งมีการห้ามนำเข้าและเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้พร้อมกับปลาหมอสีต้องห้ามอื่นๆ (ปลาหมอมายัน Cichlasoma urophthalmus (GÜnther,1862) ปลาหมอบัตเตอร์ Heterotilapia buttikoferi (Hubrecht,1881) อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 มีการเรียกชื่อปลาหมอสีคางดำให้สั้นลงเหลือเพียง “ปลาหมอคางดำ” โดยชื่อที่กรมประมงใช้อย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบันคือ “ปลาหมอสีคางดำ”

ในเรื่องของวงศ์วานของปลานิล ปลาหมอเทศข้างลายและปลาหมอสีคางดำ นี้ ผศ.ดร.สพ.ญ.วรรณา ศิริมานะพงษ์ อาจารย์ประจำหน่วยสัตว์น้ำ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้รายละเอียดไว้ ว่า “สำหรับปลาหมอเทศข้างลาย เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis aureus มีชื่อสามัญหลายชื่อ คือ Blue tilapia, Israeli tilapia, Blue kurper และเป็นปลาในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) รูปร่างทั่วไปคล้ายคลึงกับปลานิล (Oreochromis niloticus) และปลาหมอเทศ (Oreochromis mossambicus) ซึ่งเป็นปลาในวงศ์เดียวกันและสกุลเดียวกัน ส่วนปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ (Sarotherodon Melanotheron) ที่หน่วยงานภาครัฐอนุญาตให้เอกชนนำเข้าตามชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อสามัญดังกล่าวข้างต้นนับว่าเป็นปลาวงศ์เดียวกันแต่คนละสกุล พูดง่ายๆ คือ ปลาทั้ง 2 ชนิด เป็นญาติกันนั่นเอง” (https://mgronline.com/news1/detail/9670000064464)


การอยู่ในวงศ์ปลาหมอสีนั้น อาจเป็นการเรียกเพราะปลาหมอสีคางดำเมื่ออยู่ในช่วงผสมพันธุ์จะมีสีสันสวยงาม และจากหลักฐานที่พบการแพร่ระบาดในหลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา บางประเทศในยุโรป และในเอเซียที่ฟิลิปปินส์ ล้วนพบต้นทางในตลาดปลาสวยงามทั้งสิ้น (Aquarium Market) แสดงว่ามีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามในหลายประเทศ ตลอดจนมีหลักฐานการส่งออกปลาหมอสีคางดำจากไทยโดย 11 บริษัท ไป 17 ประเทศ ซึ่งกรมประมงยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าปลาที่ส่งออกไปเป็นปลาอะไรกันแน่ มีเพียงให้ข้อมูลว่าเป็นการกรอกเอกสารส่งออกผิดพลาดโดยบริษัทชิ้ปปิ้งเหมือนกันทั้งหมดตลอด 4 ปี ตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2559


ข้อสังเกตสำคัญตามหลักสากลที่บ่งบอกตัวตนคุณลักษณะของปลา คือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron ขณะที่ชื่อสามัญ Blackchin tilapia และชื่อไทยไม่ว่าจะปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ มีความสำคัญรองลงมาโดยเฉพาะชื่อภาษาไทยจะมีการตั้งเพื่อให้ง่ายต่อการเรียกชื่อและจดจำ ซึ่งอาจตั้งตามลักษณะของปลาได้ ดังนั้น หากต้องเรียกชื่อไทยควรเรียกชื่อทางการตามที่กรมประมงกำหนด คือ ปลาหมอสีคางดำ เพื่อให้เกิดความเข้าใจถูกต้องตรงกันในการสื่อสารและหยุดความสับสนของสังคม และควรร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการแจ้ง เมื่อพบแหล่งที่มีปลาหมอสีคางดำชุกชุมเพื่อเร่งดำเนินการจับ และเดินหน้าตามแผนปฏิบัติการของกรมประมง 7 มาตรการ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำให้ลุล่วงตามเป้าหมายปี 2570


กำลังโหลดความคิดเห็น