xs
xsm
sm
md
lg

สู้ความจน! “ป้าละออ” ทำขนมขายเลี้ยงครอบครัว 4 ชีวิต แม้สายตาใกล้บอด ไม่กล้าไปรักษา กลัวครอบครัวอดตาย ถ้าต้องหยุดทำงานนานเป็นเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “ป้าละออ” แม่เลี้ยงเดี่ยวสู้ชีวิต ที่สมาชิกในครอบครัวมีทั้งลูกพิการป่วยติดเตียง และแม่วัยชรา ขณะที่ตัวป้าเองก็กำลังเจอมรสุมลูกใหญ่ถูกต้อกระจกเล่นงานจนสายตาใกล้บอด แต่ไม่กล้าไปรักษา เพราะกลัวครอบครัวอยู่ไม่ได้ ถ้าป้าต้องหยุดทำงานนานนับเดือน



รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “ป้าละออ” แม่เลี้ยงเดี่ยวสู้ชีวิต ที่สมาชิกในครอบครัวมีทั้งลูกพิการป่วยติดเตียง และแม่วัยชรา ขณะที่ตัวป้าเองก็กำลังเจอมรสุมลูกใหญ่ถูกต้อกระจกเล่นงานจนสายตาใกล้บอด แต่ไม่กล้าไปรักษา เพราะกลัวครอบครัวอยู่ไม่ได้ ถ้าป้าต้องหยุดทำงานนานนับเดือน


“ตอนนี้ลูกสาวอายุ 22 หนัก 15 กก. เจาะคอช่วยหายใจ เจาะหน้าท้องให้อาหาร และใส่สายฉี่ และใช้ออกซิเจนไฟฟ้า”

ป้าละออ วงษ์สุวรรณ พูดถึงอาการของน้องเกรซ ลูกสาวที่ต้องอยู่ในสภาพพิการติดเตียงตั้งแต่คลอดได้ไม่กี่วัน“เขาช็อคตอนคลอดได้ 10 วัน และไปนอนไอซียูได้ 16 วัน ออกมาเขาก็เกร็ง เหมือนสมองเขาขาดออกซิเจน แต่หมอแจ้งกับป้าว่า ติดเชื้อที่กระแสโลหิต”


การมีลูกพิการ ไม่เพียงต้องดูแลเป็นพิเศษ แต่ยังส่งผลให้ป้าละออต้องออกจากงานประจำ กระทบต่อการหารายได้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อการดูแลรักษาลูกค่อนข้างสูง“ลำบาก เพราะต้องใช้เงินเป็นส่วนใหญ่ วิ่งเข้าออก รพ. จากที่เคยทำงาน เราก็ต้องลางานมาเฝ้าเขา เพราะว่าแม่ใหญ่แกช่วยเลี้ยงได้อย่างเดียว เรื่องอื่นช่วยไม่ได้ ก็กลายเป็นปัญหากับที่ทำงานเพราะลาบ่อย สุดท้ายเลยลาออก”


แม้จะอยู่ในวัยใกล้ 80 แล้ว แถมมีโรครุมเร้า แต่คุณยายยังช่วยดูแลน้องเกรซได้ เพื่อให้ลูกสาวอย่างป้าละออมีเวลาทำงานหารายได้จุนเจือครอบครัว ซึ่งปัจจุบันป้าละออทำขนมไทยขายตามตลาดนัด เช่น ข้าวเกรียบปากหม้อ, ขนมต้ม ฯลฯ หมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนบ้าง เพื่อไม่ให้ลูกค้าเบื่อ โดยมีน้องกัน ลูกชายคนเล็กวัย 19 ช่วยแม่ทำขนมในบางขั้นตอน รวมทั้งช่วยขับมอเตอร์ไซค์พ่วงแม่พร้อมซาเล้งขนของและอุปกรณ์ต่างๆ ไปยังจุดขาย


ความยากลำบากของครอบครัวนี้ ไม่ใช่แค่แม่ต้องออกจากงานเพื่อมาดูแลลูกพิการและทำขนมขายเลี้ยงครอบครัว แต่ลูกคนเล็กอย่างน้องกัน ยังต้องออกจากการเรียน เพื่อมาดูแลคุณตาที่ป่วยขณะยังมีชีวิตอยู่ หลังดูแลตาได้ปีกว่า ตาก็เสียชีวิต น้องกันจึงเรียน กศน. แม้ตอนนี้น้องจบ ม.6 กศน.แล้ว แต่ความจน ทำให้น้องต้องหยุดเรื่องเรียนไว้“แม่ก็บอกลูกว่า เดี๋ยวรอก่อนนะ ถ้าหนูอยากเรียน แม่มีตังค์เมื่อไหร่ ก็ไปเรียนต่อการอาชีพ ฝีมือ อะไรพวกนี้”


ด้านน้องกัน แม้อยากเรียนต่อ แต่เห็นสภาพแม่ที่มีปัญหาเรื่องดวงตาเริ่มมองไม่ค่อยเห็น จึงอยากช่วยแม่ทำงานมากกว่า“ถามว่าอยากเรียนไหม อยากเรียนต่อ แต่ด้วยสภาพครอบครัวเป็นอย่างนี้ ผมเลยต้องออกมาช่วยแม่ก่อน ตอนแรกๆ ผมก็คิดว่าจะออกไปทำงาน แต่ทีนี้ ดูสภาพร่างกายแม่แล้ว ผมก็ทิ้งเขาไม่ได้ เลยอยู่ช่วยแม่ดีกว่า ช่วยแม่ขายของเผื่อว่า ถ้าแม่ไปขายไม่ไหวแล้ว ผมก็ไปขายแทน อาจจะเป็นอาชีพผมเลย”


ขณะที่ป้าละออยอมรับว่า ปัญหาเรื่องสายตาเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตแล้ว แม้อยากรักษาเพื่อไม่ต้องตาบอดในอนาคต แต่ความอัตคัดขัดสน ก็ทำให้ป้าห่วงครอบครัวมากกว่าเรื่องดวงตาของตนเอง


“ตอนนี้ตาข้างขวาของป้าเห็นประมาณ 50% และตาข้างซ้ายเริ่มเป็นฝ้า เพราะเป็นต้อกระจก 2 ข้างเลย แต่ยังไม่ได้ไปเอาออก เพราะการทำต้อกระจก ป้าต้องพัก ต้องหยุดทำงาน 1-2 เดือน ค่ารักษาไม่เสียก็จริง แต่เราต้องมีเงินไว้สำรองใช้ในครอบครัว เพราะต้องมีค่าอาหารเหลวลูก ค่านมลูก ค่ารถไปหาหมอ ค่ากินของคนในบ้านอีก ข้าวสาร ค่าไฟ โห มันสารพัด แต่ใจอยากรักษามาก กลัวตาบอด กลัวไม่มีใครเลี้ยงลูกกับแม่ อยากรักษา แต่ไม่มีตังค์ ยังเคยบอกลูกชายว่า ตาแม่เริ่มฝ้า จะทำยังไงกันดี น้องกันก็เครียด แกบอกให้แม่ไปรักษา ถ้าแม่ไปรักษาแล้วจะทำยังไง จะเอาที่ไหนกิน มันก็ลำบาก”


“(ถาม-สักวันหนึ่ง น้องจะสามารถเป็นตัวแทนให้แม่ได้หยุดทำงานและไปรักษาตัวได้ไหม?) ทุกวันนี้น้องก็ฝึกนะ เริ่มฝึก เขาก็พูดอยู่ เดี๋ยวรอหนูแป๊บหนึ่ง เขาบอกว่าเขาอยากช่วยแม่ให้ถึงที่สุด ให้แม่ได้ไปรักษาตัว อยากให้แม่ได้พัก เขาก็พูดตลอด”


ด้านน้องกัน ยอมรับว่า ทุกวันนี้การขายของแต่ละวัน รายได้แทบไม่พอค่าใช้จ่ายในครอบครัว“ขายขนมหมดนี่ แทบไม่พอเลย ไม่พอใช้เลย ค่าใช้จ่ายเยอะ เช่น ค่าของพี่สาวใช้เครื่องปั่นออกซิเจนไฟฟ้า ค่าไฟขึ้นจาก 600 มาเป็น 1,200 (ถาม-เห็นบอก บางทีถึงขั้นอาหารไม่มีกินกันจริงหรือเปล่า?) จริงครับ ไม่มีกิน ไม่มีข้าวสาร ต้องไปเอาที่โรงทาน (ถาม-ถ้าไม่มีโรงทาน อยู่กันยังไง?) ก็อาจจะไปเชื่อของเขามาก่อน และพอเรามีเงิน ก็ไปใช้เขา (ถาม-เครียดไหมลูกภาวะนี้?) เครียดครับ แต่ก็บอกกับตัวเองว่า ครอบครัวเราเป็นอย่างนี้แล้ว ถ้าเกิดเราเครียดอย่างเดียว มันก็ทำอะไรไม่ได้ เราต้องอดทนทำต่อไป”


ป้าละออยอมรับว่า วิกฤตของครอบครัวเคยหนักหนาถึงขั้นป้าไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่เพราะได้กำลังใจจากลูกชาย จึงเปลี่ยนความคิดและช่วยกันสู้ต่อไป

“ผมก็บอกแม่ว่า ถ้าแม่ฆ่าตัวตาย แล้วผม พี่สาว และยายจะอยู่ยังไง แม่ไม่ต้องท้อนะ เพราะว่ายังมีผมอยู่ ผมคอยช่วยแม่ แม่อย่าคิดงั้นเลย”


อดถามป้าละออไม่ได้ว่า การดูแลลูกพิการต้องใช้เงินเยอะ และความเป็นอยู่ก็หนัก ตอนนี้รู้สึกเหนื่อยหรือท้อแท้ไหม?“ถามว่าแม่เหนื่อยไหม เหนื่อย บางทีแม่ไม่ได้นอน เพราะลูกไม่นอน มันก็เหนื่อยหนัก ตรงที่เรามาเครียดว่า เราไม่มีเงิน แต่ถามว่าท้อไหม ไม่ท้อหรอก เพราะสู้เพื่อเขา ตอนนี้กำลังใจที่ทำให้ป้ามีแรงสู้คือ ทุกคนในครอบครัว ทุกวันนี้เราไม่มีกินนะ แต่ถามว่า ป้ามีความสุขไหม มีความสุขนะ ถ้าวันไหนได้เห็นแม่ใหญ่นั่งกินข้าวอย่างเอร็ดอร่อย กินอิ่ม ป้ามีความสุขนะ วันไหนน้องเกรซยิ้ม หัวเราะ ไม่เจ็บป่วย ป้ามีความสุข สู้ได้ทุกวัน ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้ถอยลงได้ สู้อย่างเดียว”


หากท่านใดต้องการช่วยเหลือป้าละออให้มีทุนทรัพย์ในการประกอบอาชีพและดูแลครอบครัว เพื่อให้สามารถหยุดทำงานและไปผ่าตัดรักษาดวงตาได้ไวๆ ไม่ต้องเสี่ยงต่อภาวะตาบอดในอนาคต โอนไปได้ที่ธนาคารออมสิน ชื่อบัญชี นางละออ วงษ์สุวรรณ เลขที่บัญชี 020-357-937-661 หรือหากต้องการติดต่อ โทรไปได้ที่ 093-310-1027


คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “ชีวิตต้องสู้...ของป้าละออ”
https://www.youtube.com/watch?v=zvcyl9b-u1A


ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 11.30-12.00 น. ทาง NEWS1 (PSI ช่อง 211 / IPTV ของ NT ช่อง 64 / AIS Playbox ช่อง 655)

หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos












กำลังโหลดความคิดเห็น