xs
xsm
sm
md
lg

คณะผู้เชี่ยวชาญมรดกโลก แนะลดความสูงหลังคาสถานีไฮสปีดไทย-จีน ไม่ให้ซ้อนทับสถานีรถไฟอยุธยาเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก” แนะ ปรับลดความสูงของหลังคาสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ไม่ให้โครงสร้างหลังคาซ้อนทับกับสถานีรถไฟอยุธยาเดิม ย้ำ รฟท.พร้อมอนุรักษ์และคงคุณค่าสถานีรถไฟอยุธยาเดิมไว้ ให้สมกับที่ได้รับยกย่องเป็นแหล่งมรดกโลก


นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 – 22 มกราคม 2568 การรถไฟแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับ Mr. Gamini Wijesuriya ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์นานาชาติเพื่อการศึกษาการสงวนรักษาและการบูรณะมรดกทางวัฒนธรรม (ICCROM) และ Mr. Michael Pearson ผู้เชี่ยวชาญจากสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อสำรวจพื้นที่จริงและรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับรายงานการประเมินผลกระทบทางทรัพย์สินและวัฒนธรรมต่อแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (HIA) กรณีโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงสถานีอยุธยา โดยมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย

ผู้แทนองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก ได้ลงพื้นที่บริเวณแหล่งพื้นที่มรดกโลกทางวัฒนธรรม อาทิ แยกตะแลงแกง วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ รวมถึงพื้นที่โบราณสถานที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่โครงการ อาทิ สถานีรถไฟอยุธยา วัดหลวงพ่อคอหัก และพื้นที่โบราณสถานบริเวณรอบเกาะเมืองอยุธยา อาทิ วัดพนัญเชิง หมู่บ้านญี่ปุ่น วัดใหญ่ชัยมงคล นอกจากนี้ ยังลงพื้นที่สถานีบ้านม้า สถานีรถไฟบ้านโพ สถานีรถไฟบางปะอิน เพื่อนำข้อมูลต่างๆ ทั้งด้านทัศนียภาพ การพัฒนาเมือง การท่องเที่ยว รวมถึงการจราจร ไปสังเคราะห์ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกต่อไป

ผู้แทนองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลก มีข้อสรุปให้การรถไฟฯ ปรับลดความสูงของหลังคาสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ไม่ให้โครงสร้างหลังคาซ้อนทับกับสถานีรถไฟอยุธยาเดิม พร้อมทั้งให้อนุรักษ์และคงคุณค่าของสถานีรถไฟอยุธยาเดิมไว้ ซึ่งหลังจากนี้ UNESCO จะจัดส่งรายงานกลับมาอีกครั้งภายในเดือนมีนาคม โดยการรถไฟฯ จะนำข้อเสนอแนะเหล่านี้มาจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก หรือ Heritage Impact Assessment (HIA) ตามคำแนะนำของ UNESCO เพื่อรักษาคุณค่าอันเป็นสากลของนครประวัติศาสตร์อยุธยาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เหมาะสมกับแหล่งมรดกโลกต่อไป ทั้งนี้ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะรายงานต่อคณะอนุกรรมการมรดกโลกทางวัฒนธรรม และคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกทราบ เพื่อนำส่งรายงานให้ศูนย์มรดกโลก (World heritage Centre) ต่อไป


ปัจจุบัน มีการเว้นช่วงบริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ในสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ - พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 10,325.90 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติให้การรถไฟฯ ดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค เพื่อรอผลการศึกษาจากรายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก (HIA) ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบด้านทัศนียภาพของโบราณสถานมรดกโลก อาทิ การปรับลดความสูงของสถานีจากเดิม 37.45 เมตร ให้เหลือ 35.45 เมตร และปรับลดความสูงของสันรางจาก 19 เมตร เหลือ 17 เมตร อย่างไรก็ตาม แนวเส้นทางช่วงบริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา มีการก่อสร้างบนเขตทางรถไฟ ซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่มรดกโลก แต่อยู่ห่างออกไป 1.5
 กิโลเมตร และมีแม่น้ำป่าสักคั่นอยู่เป็นบับเบิลโซน

นายวีริศ ย้ำว่า การรถไฟฯ จะอนุรักษ์สถานีอยุธยาเดิม ให้เป็นสถานที่อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ควบคู่กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญตามมาตรฐานสากล ให้สมกับการที่ได้รับยกย่องให้เป็นแหล่งมรดกโลก








กำลังโหลดความคิดเห็น