xs
xsm
sm
md
lg

“ยายแจ๋ว” สู้ฝืนสังขารในวัย 80 ทำข้าวต้มมัดขาย หารายได้ดูแลสามีป่วยติดเตียง-ลูกสาวเดินไม่ได้!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2568 พาคุณผู้ชมไปที่ จ.นครสวรรค์ เพื่อรู้จัก “ยายแจ๋ว” ที่แม้จะอายุมากแล้ว แต่ยังต้องทำงานหาเลี้ยงสามีป่วยติดเตียงและลูกสาวเดินไม่ได้ แม้แข้งขาจะเริ่มอ่อนล้าตามวัย แต่หัวใจยายยังสู้เพื่อครอบครัวที่เหลืออยู่



อุดม สามารถ หรือยายแจ๋ว แม้วันนี้จะอยู่ในวัย 80 แล้ว แต่ยังต้องเป็นเสาหลักทำงานหารายได้ดูแลสามีที่ป่วยติดเตียง และลูกสาว วัยใกล้ 60 ที่เดินไม่ได้ ด้วยอาชีพทำข้าวต้มมัด แล้วเข็นไปขาย


“สุขภาพยายก็ไม่ค่อยแข็งแรง แต่สู้ได้ ตอนนี้ก็มีเมื่อยปวด ปวดหัวเข่า เดินไปเดินมา ทรุดเฉยๆ (ถาม-เคยล้มด้วยหรือ?) ล้ม หน้าเพิ่งหาย (ถาม-ที่ช้ำๆ นี่ล้มหรือ ตอนนั้นทำอะไรอยู่?) ก็จะออกไปขายขนม แมวขวาง”


ย้อนกลับไปสมัยสาวๆ คุณยายอุดมกับตาเริ่ม สามี ช่วยกันทำมาหากินด้วยอาชีพแม่ค้าขายอาหาร ซึ่งรายได้ดี จนสามารถซื้อที่อยู่อาศัยให้ครอบครัวได้ แม้ช่วงแรกของการค้าขาย จะถูกลูกจ้างลักขโมยเงินจนทำให้มีหนี้ก็ตาม


“ค้าขาย ขายดิบขายดี ขายของร้านอาหาร ข้าวแกง อาหารตามสั่ง ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดงทุกอย่าง (ถาม-ขายที่ไหน?) ไฟฟ้าฝ่ายผลิต (ถาม-ไฟฟ้าฝ่ายผลิตใน จ.นครสวรรค์ ใน อ.เมือง ขายดีมากเลย?) ขายดีมาก (ถาม-ตอนนั้นทำกันกี่คนที่บ้าน?) 3 คน ก็มีลูกสาว ฉัน และพ่อเขา (ถาม-กับข้าวกี่อย่าง?) 10 กว่าอย่าง เสริมเรื่อย อันนี้หมด เสริมอันนี้ ขายดี (ถาม-แสดงว่าตอนนั้นก็หาเงินได้เยอะ?) ขายดี วันละหมื่น (ถาม-กี่ปีแล้ว?) ขายมาก็หลายปี แต่เงินไม่มี ทีแรกมีลูกจ้าง ลักเงินหมด อยู่ 3 ปี เขามีเงิน 6 หมื่น เราเป็นหนี้ค่าของ 3 หมื่น (ถาม-เลยไม่จ้างลูกจ้าง อดทนทำเอง?) จ้ะ””


ด้านป้าวรรณ ภัทราภร สามารถธรรม ลูกสาวยายแจ๋ว ยอมรับว่า รายได้จากการขายอาหาร ทำให้ตัดสินใจเบนเข็มจากอาชีพครูมาช่วยพ่อแม่ค้าขาย


“เป็นครูขณะขายข้าวแกง ร้านอาหารข้าวแกง เป็นครูได้แค่ 2 ปี เขาก็ตามไปสอน ไม่ไปแล้ว ขี้เกียจ ขายข้าวแกงดีกว่า เงินเดือนมันน้อย 2,600 เอง พ่อบอก มาช่วยกูดีกว่า เงินเดือนมึงน้อย มึงไม่เอาเหรอ เงินเดือนนี่ 3 หมื่นนะ แค่ 2,600 มึงไปทำอยู่ได้”


เงินเก็บจากอาชีพค้าขาย ไม่เพียงช่วยให้ยายแจ๋วซื้อบ้านให้ครอบครัวได้ แต่ยังนำเงินอีกส่วนไปลงทุนทำสัมปทานคิวรถโดยสาร หวังให้รายได้งอกเงยและมีใช้ในวัยเกษียณ แต่เหตุการณ์กลับพลิกผันเพราะถูกโกง


“ได้บ้านหลังหนึ่ง และซื้อคิวรถ เขาขาดได้ 2 คิว เขาโกง ผู้จัดการ ทีแรกเขาบอก ขายคิวก่อน ขายคิวหมด เดี๋ยวจะคืนให้ ขายจนหมด ขายคิว ซื้อ 3 แสน ขาย 2 หมื่น เหลือเงินพันเดียว (ถาม-ลงทุนไปเท่าไหร่ ทำคิวรถโดยสาร?) 3 แสน หมดไปทั้งหมด 7 แสน”


ไม่ใช่แค่ถูกโกงเงินลงทุนสัมปทานคิวรถโดยสาร แต่สัญญาเช่าที่ขายอาหารก็หมดลงเช่นกัน ทำให้ยายแจ๋วที่เริ่มสูงวัยมากขึ้นหันไปทำขนมทองม้วนขาย แต่ทำได้ไม่นาน ตาเริ่ม สามีก็ป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้เงินทองที่เคยมีหมดไปกับการรักษา


“มีอะไรก็ขายหมดตอนนั้น ตอนพ่อป่วย ขายหมดเลย มีทองมีอะไรขายหมด ตอนนั้น (ถาม-สวัสดิการไม่มี?) เราไม่รู้เรื่อง เข้าแต่เอกชน ก็เสียเป็นอาทิตย์ เยอะ”


หลังพ่อล้มป่วย ป้าวรรณตัดสินใจทำงานรับจ้างรายวัน แต่สุดท้ายปัญหาสุขภาพก็เล่นงานป้าวรรณเช่นกัน

“มันชาหมดเลย มันชาและปวด ปวดเข้ากระดูกเลย (ถาม-แล้วทำไมต้องนั่งรถเข็น?) มันยืนไม่ได้ เหมือนกล้ามเนื้ออ่อนแรง หมอบอกกล้ามเนื้ออ่อนแรง”


เมื่อสามีและลูกล้มป่วยในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ภาระหนักจึงตกกับยายแจ๋ว“ทีแรกลูกพูดไม่ได้ แม่ก็ต้องอุ้มมาอาบน้ำ ทุลักทุเล ทำไม่ไหวก็ต้องทำ อาบน้ำให้ลูก เรายกตาบ้างยกลูกบ้าง หลังยายก็เริ่มไม่ไหว”


นอกจากดูแลคนป่วยแล้ว ยายแจ๋วยังต้องทำงานเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัวอีกด้วย โดยป้าวรรณพยายามช่วยแม่อีกแรง“ทีแรกดอกจอกก่อน ถั่วทอด ทำไป ก็ขายดีนะ คนซื้อบอก ยาย เมื่อวานก็ซื้อดอกจอก ถั่วทอด วันนี้ก็ดอกจอก เปลี่ยนใหม่ แม่บอกทำอะไรดีล่ะ ข้าวต้มมัดแม่ เราถนัดข้าวต้มมัด ก็ทำข้าวต้มมัด ก็ออกไปขาย แม่ก็เดิน พอไปขายสักพัก แม่บอก ไม่ไปขายแล้ว มันไม่มีตังค์ซื้อกูกัน มันเอาอะไรไม่รู้ แกนๆ สแกน ไม่เอา ไม่ไป ก็กลับมาขาย เดินวนเดิมๆ แม่ไม่ต้องไปเดินแล้ว เหนื่อย แม่อยู่หน้าถนนอย่างเดียวเลย เขาขยันมาก เขาเป็นแบบอย่างของความอดทน อดกลั้น”


ทุกวัน ยายแจ๋วต้องตื่นเพื่อทำข้าวต้มมัดตั้งแต่เช้ามืด ก่อนออกไปขายช่วงเช้า เมื่อขายหมดหรือคนเริ่มซา ก็จะกลับเข้าบ้านเพื่อเตรียมทำข้าวต้มมัดสำหรับไปขายช่วงเย็น

“(ถาม-ที่ผ่านมา เคยมีออเดอร์เยอะๆ ไหม ทำสูงสุดได้กี่มัด?) 120 เขาสั่ง เราขายของเราต่างหากอีก 50 ของเราต้องประจำ ต้อง 50 ประจำ (ถาม-เราต้องมีขายหน้าร้านของเราเหมือนกัน?) ค่ะ”


รายได้จากการขายข้าวต้มมัดแต่ละวันไม่แน่นอน ขณะที่ต้นทุนราคาวัตถุดิบก็สูงขึ้น

“บางครั้งก็ขาดเหลือ บางครั้งก็พอ บางทีซื้อของตาเยอะวันไหนเดือนไหน ก็ไม่พอ ถ้าซื้อของน้อย ก็พอ (ถาม-เมื่อเข้าขายได้กี่ตังค์?) เช้า 50 มัด ก็ 500 500 ก็ได้ 100 กว่าบาท (ถาม-กำไร 100 กว่าบาท?) จ้ะ แต่เดี๋ยวนี้จะถึงหรือเปล่าไม่รู้ กะทิก็ขึ้นอะไรก็ขึ้น ยังไม่ได้คิด”


ขณะที่สุขภาพของยายแจ๋วทุกวันนี้ ที่ยังต้องเป็นเสาหลักในการทำงานหารายได้เลี้ยงสามีและลูก แม้จะยืนยันว่ายังไหวในวัย 80 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อาการปวดเมื่อยเนื้อตัว ปวดหลัง ปวดสะโพก ก็บั่นทอนคุณยายอยู่

“(ถาม-ทุกวันนี้สุขภาพยาย เรี่ยวแรงยังไหวไหม?) มันก็ไม่ค่อยดีนะ แต่ก็พอทำได้ พอทำได้ก็ไป ตื่นมาไม่ไหว ทายา นวดๆ ขา เราก็ไปได้ (ถาม-แต่ดูยายเดินเข็นขายข้าวต้มมัด เชื่อว่าหลายคนห่วงสุขภาพของยายมากเลย หมอรักษายายให้เดินตรงเหมือนเดิมได้ไหม?) หมอไม่รู้จะทำยังไง ขาบวม บอก ธรรมชาติของคนแก่ เลยไม่ไปเลย”


“(ถาม-เราทำขนมตั้งแต่เช้ายันเย็นจนค่ำเลย เหนื่อยบ้างไหมยาย?) ก็ไม่เหนื่อย เฉยๆ ทำเรื่อยๆ (ถาม-ยายคิดว่าจะทำแบบนี้ได้อีกนานแค่ไหน?) ก็ทำไปเรื่อยๆ จนหมดแรง (ถาม-แต่งานพวกนี้ต้องใช้ร่างกายใช้เวลา แทบไม่ได้พักเลย ยายคิดว่าไหวไหม?) ยายยังไหว”

หากท่านใดต้องการช่วยเหลือครอบครัวยายแจ๋ว โอนไปได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี นางอุดม สามารถ เลขที่บัญชี 8-812-338-388


คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “ยายยังไหว”
https://www.youtube.com/watch?v=1hSAc-SpAs4


ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 11.30-12.00 น. ทาง NEWS1 (PSI ช่อง 211 / IPTV ของ NT ช่อง 64 / AIS Playbox ช่อง 655)

หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos


กำลังโหลดความคิดเห็น