xs
xsm
sm
md
lg

“ตาเปี๊ยก-ยายแป๊ว” แม้โรคภัยรุมเร้า ต้องสู้ทำงานหาเลี้ยงลูกพิการและหลานวัยเรียนอีก 2 ชีวิต!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อรู้จัก “ตาเปี๊ยกและยายแป๊ว” ที่ไม่เพียงต้องดูแลลูกชายพิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ยังต้องดูแลหลานวัยเรียนอีก 2 ชีวิต ท่ามกลางสุขภาพที่เริ่มแย่จากโรคที่รุมเร้า แต่ก็ต้องสู้เพื่อครอบครัว



ตาเปี๊ยก ปรุง พุฒิวรณ์ กับวัยใกล้ 70 และยายแป๊ว นิพภา ธารายุทธ วัย 62 ใช้ชีวิตร่วมกันจนมีลูก 3 คน แม้สองคนแรกจะมีครอบครัวไปแล้ว แต่คนสุดท้อง “เบิร์ด” สรายุทธ วิหคโต ต้องอยู่ในความดูแลของพ่อแม่มา 34 ปีแล้ว เพราะมีภาวะสมองพิการตั้งแต่เล็ก


“ทีแรกเขาเป็นซางชัก พอเกิดได้เดือนกว่าๆ ก็ชัก ไปรักษา รพ.มาเดือนครึ่ง เสนา เดือนครึ่งก็ไม่หาย (ถาม-ผลกระทบจากการชัก หลังจากนั้นเป็นยังไง อาการของเขาพัฒนาการ?) ไม่เลย เป็นอย่างนี้ ยายก็จับอุ้มเดินบ้าง พอนั่นมันก็ไม่หาย ก็ชักอีก เป็นอีก (ถาม-เขาช่วยเหลือตัวเองได้บ้างไหม?) ไม่ได้เลย ต้องป้อนทุกอย่าง ทิ้งไม่ได้ เลี้ยงมา 34 ปีเต็มๆ (ถาม-แพทย์ระบุว่าเป็นผู้พิการด้านไหน?) พิการทางสมอง สมองไม่รับรู้อะไรเลย”


“เช้าก็เช็ดตัว ประแป้งให้ ใส่แพมเพิสให้ ป้อนข้าว แต่เช้าไม่ค่อยกินข้าว กินนม (ถาม-เคี้ยวเองได้ไหม?) ต้องกินของเหลวๆ เคี้ยวแข็งไม่ได้ (ถาม-ตอนที่เบิร์ดคลอดมาใหม่ ตายายทำงานอะไร?) ตอนนั้นตาเขาไปทำงานรับจ้างขับรถ ทำอู่ ยายก็เลี้ยง ถ้าเราอยู่ เขาก็ต้องไปทำงาน ถ้าเขาอยู่ เราก็ต้องไป ผลัดกัน ทิ้งไม่ได้”


นอกจากต้องดูแลลูกคนสุดท้องแล้ว ยายแป๊วและตาเปี๊ยกยังต้องดูแล “น้องเบียร์” หลานชายวัย 11 ขวบ ที่ลูกสาวคนโตทิ้งไว้ให้เลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก หลังไปมีครอบครัวใหม่ โดยไม่เคยกลับมาเยี่ยมอีกเลย


“เขาแยกทางกันไปหมด เขาก็ไปมีแฟนกันหมด ไม่ได้มาเลย พ่อมันติดยา ก็เลิกกันไป เลิกกันนานหลายปีแล้ว (ถาม-แม่เขาส่งเสียไหม?) นานๆ จะให้สัก 500 หรือ 1,000”

ขณะที่ “น้อยหน่า” วัย 7 ขวบ แม้ไม่ใช่หลานแท้ๆ แต่ยายแป๊วและตาเปี๊ยกก็รับเลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็ก หลังน้องถูกพ่อแม่ทอดทิ้งไป


“(ถาม-รับน้องน้อยหน่ามาเลี้ยงได้ยังไง?) เขามาติดต่อถาม จะจ้างเลี้ยงเด็ก เลี้ยงไหม ก็เลยเลี้ยงไว้ (ถาม-มาตอนนั้นอายุกี่ขวบ?) เดือนเดียวเอง มาให้ไว้ เขาหาเลี้ยง ก็เลยเลี้ยงไง (ถาม-พ่อแม่ของน้องเป็นใคร?) เขายังไงไม่รู้ บอกไม่ถูก ตอนนั้นเขาก็มาดี พอนั่นไม่เคยติดต่อเลย (ถาม-เป็นคนในพื้นที่เราไหม?) ไม่ใช่ แถวอื่น แต่ก่อนเขาเช่าหออยู่นี่ไง เดี๋ยวนี้เขาก็ไปไหนแล้วไม่รู้ (ถาม-ได้มาเท่าไหร่ตอนนั้น?) 4,000 แค่นั้น”


ทั้งเบียร์และน้อยหน่ารู้ดีว่า ตาเปี๊ยกและยายแป๊วต้องเหนื่อยกับการทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัว น้องทั้งสองจึงไม่เพียงช่วยงานบ้านที่พอช่วยได้ แต่ยังออกเก็บขวดไว้ขายช่วยตายายหารายได้อีกทาง


ปัจจุบัน ตาเปี๊ยกหาเลี้ยงครอบครัวด้วยอาชีพที่ถนัดคือ ช่างเคาะพ่นสีรถให้กับอู่ใกล้บ้าน แต่เพราะโรคหอบที่รุมเร้า ทำให้ตาทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้รายได้ลดลงตามไปด้วย


“(ถาม-หน้าที่ของลุงทำอะไรบ้างที่อู่รถนี่?) พ่นสีและตัด (ถาม-รายได้ เขาจ้างยังไง?) เป็นคัน แล้วแต่ว่าทำมากทำน้อย ไม่ได้เป็นรายวัน (ถาม-แล้วอย่างนี้กี่วันได้เงินที?) ก็แล้วแต่เขาจะให้ ก็ไม่ได้ตีราคาไป เถ้าแก่เขารู้ คันหนึ่งๆ ทำประจำกันอยู่ (ถาม-คันหนึ่งเท่าไหร่?) ถ้าทั้งคันก็ประมาณ 6,000”


“(โรคหอบที่เป็นอยู่ อาการเป็นยังไง?) ก็หายใจไม่ค่อยออก เหนื่อย ทำงานไป พักไป ทำไปเรื่อยๆ (ถาม-เป็นมานานหรือยังโรคหอบ?) นานแล้ว (ถาม-เราไปพบแพทย์ไหม?) ไปประจำ หมอนัดประจำ ทีแรกปอดดำไปข้างหนึ่งเลย ที่หมอให้ดู ไปอยู่ รพ.ทรวงอกมาเป็นเดือน ไปรักษาตัวอยู่ (ถาม-เกี่ยวกับการทำงานสีรถไหม?) ก็น่าจะเกี่ยว เพราะพ่นสีรถด้วย (ถาม-แล้วกระทบต่อการจ้างงานไหม?) นายจ้างเขารู้ เขาอยู่ใกล้ๆ บ้าน เขาก็รู้ความเป็นอยู่ยังไง ยาพ่นต้องพกติดตัวตลอด”


ขณะที่ยายแป๊วพยายามทำงานหารายได้เสริมด้วยการรับจ้างทั่วไป“ก็ตัดข้าวดีด ถ้ามีหญ้าก็ตัดหญ้า มันมี 2 อย่าง ตัดข้าวดีด บางทีหลังบ้านเขาจ้างฟันหัวคันนาบ้าง รับจ้างทั่วไป (ถาม-มีไหมวันไหนไม่มีงาน ต้องอยู่บ้านทั้ง 2 คน?) มีเหมือนกัน เขาไม่มีงาน เราก็ไม่มีงาน รถมันนานๆ เข้าคันหนึ่ง บางวันก็ไม่ได้เลย ไปคนหนึ่ง ได้อยู่คนหนึ่ง บางวันก็ไม่ได้เลย บางทีต้องไปเชื่อแม่ค้าเขากิน”


“สุขภาพตอนนี้เดินไม่ค่อยไหว เป็นโรคประจำตัวเหมือนกัน ความดัน ไขมัน เป็นอยู่นี่ ปวดขา ถ้าไม่กินยา ไปไม่ไหว ขาปีนี้เป็นมากหน่อย”

“(ถาม-ที่บ้านนี่ รายจ่ายส่วนใหญ่หลักๆ หมดไปกับเรื่องอะไร?) เรื่องกับข้าว ข้าวสาร น้ำมัน พริก กระเทียม ขนมเด็กคนละ 5-10 บาท (ถาม-ให้น้องไปโรงเรียนสองคนวันเท่าไหร่?) คนโต 30 คนเล็ก 20 ไม่มีก็ต้องหาให้มัน และอีกคนที่พิการ แถวบ้านให้นมโรงเรียนมา ถ้าไม่มีก็ต้องซื้อ ไม่มีก็เชื่อเขา ให้มันกิน ไม่อย่างนั้นมันร้อง”


“ลูกที่พิการเหมือนเด็กอ่อนเลย ทิ้งไม่ได้ และเดี๋ยวนี้ กินอะไรไป ป้อนอะไรไปนะ แป๊บเดียวถ่าย เลี้ยงมาเนี่ย ทิ้งไม่ได้ แพมเพิสเขาก็มาให้บ้าง ใช้วันละ 3 ตัว ประหยัดๆ หน่อย ไม่มีตังค์ซื้อ ตอนนั้นไม่เคยใช้เลย เขาเพิ่งมาให้ 1-2 ปี ส่วนใหญ่เราไม่ซื้อหรอก เอาอะไรไปซื้อ กินยังไม่มีเลย (ถาม-เขาพิการสมอง เขารู้ไหมยายต้องเหนื่อย?) ไม่รู้อะไรทั้งนั้น บางทีพูดกับมัน บอกว่า แม่ลำบากนะเลี้ยงมึงเนี่ย กี่ปีแล้วเนี่ย บางทีอ้อน บางทีร้องน่าดูเหมือนกัน โมโหร้าย”


ด้านตาเปี๊ยก ยอมรับว่า เห็นสภาพลูกพิการแล้วรู้สึกท้อ แต่ก็ต้องทน“ท้อ แต่ก็ต้องทน ทำยังไงได้ เกิดมาแล้ว ก็ต้องยอมรับสภาพไป”

ขณะที่หัวอกคนเป็นแม่อย่างยายแป๊ว อดห่วงลูกไม่ได้ว่า ถ้าวันหนึ่งพ่อแม่ไม่อยู่ แล้วลูกจะอยู่อย่างไร“ไม่รู้ยายจะไปก่อน หรือมันจะไปก่อน ถ้ายายไปก่อน ก็จะลำบาก อยากให้มันไปก่อน จะได้ไม่ต้องห่วง ไม่อย่างนั้นใครจะดูแลล่ะ”


“(ถาม-เคยแจ้งปัญหาให้ลูกๆ ทราบไหมว่า ตอนนี้แม่กับพ่อเริ่มแก่แล้ว เอายังไงกับลูกกับหลาน?) ก็พูด เขาก็บอกเขาไม่มี จะทำยังไง พูดว่าจะทำกินไม่ไหวอยู่แล้ว ขาก็ปวด ไปไม่ไหว ตาก็เป็นโรคหอบ ไปรักษามาตั้งนานหลายปี เพิ่งจะมาทำงานได้ แต่ก่อนเขาก็อยู่เลี้ยงคนพิการประจำ เราออกทุ่งทุกวัน (ถาม-แล้วถ้ายายป่วยทำยังไง?) ยายป่วยนะ ต้องลุกหุงข้าวกินเอง ขนาดลุกไม่ไหว ก็ต้องทำ บางทีน้ำตาไหลร้องไห้ (ถาม-ร้องไห้ทำไม?) เอาไม่ไหวก็ต้องเอา เอามันเข้ามุ้งกลางคืน ใส่แพมเพิสให้มัน เหนื่อยท้อ น้ำตาไหลเลย ใส่คนเดียวในมุ้ง ท้อมากบอกตรงๆ ท้อแล้วทำยังไง ก็ต้องสู้ ท้อไม่ได้”


ขณะที่ตาเปี๊ยก ไม่กล้าคาดหวังว่าอนาคตของหลานๆ จะเป็นอย่างไร ต้องแล้วแต่วาสนาและบุญกรรม โดยตาและยายพร้อมเลี้ยงดูเท่าที่จะเลี้ยงได้

“(ถาม-ตอนนี้ความเป็นอยู่เราค่อนข้างอัตคัดขัดสน ลุงคิดว่าความขาดแคลนเหล่านี้จะทำให้เด็กเหล่านี้เติบโตมามีสภาพชีวิตแบบไหน?) อันนี้ก็แล้วแต่เด็กเขาด้วย เพราะเราก็เลี้ยงเท่าที่จะเลี้ยงได้ (ถาม-ลุงคาดหวังกับอนาคตของน้องไหม ให้เขาโตเป็นอะไร หรือส่งเสียเขาสูงสุดได้แค่ไหน?) ก็อยากให้เขาเรียนดีๆ เรียนเก่งๆ แล้วแต่วาสนาเขา เราก็เลี้ยงได้เท่าที่จะเลี้ยง (ถาม-แต่ตอนนี้ตายายก็อายุมาก แรงก็ไม่ค่อยจะมี แถมยังเจ็บป่วย ถ้าเป็นอะไรไปก่อน คิดว่าคนที่อยู่จะทำหน้าที่ต่อไหวไหม?) ก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็แล้วแต่บุญแต่กรรมของเขา (ถาม-ในส่วนของลูกที่พิการ ถึงวันนี้มีความห่วงใยเขาเรื่องไหนบ้างไหม?) ก็คิดว่าถ้าพ่อแม่ยังอยู่ เขาก็สบาย แต่ถ้าพ่อแม่ไปก่อน เขาก็ลำบากอยู่แล้ว (ถาม-แต่วันที่เรายังอยู่ เราก็ทำหน้าที่ต่อไปใช่ไหม) ใช่”


หากท่านใดต้องการช่วยเหลือทุนการศึกษาและปัจจัยในการดำเนินชีวิตให้กับครอบครัวนี้ โอนไปได้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ชื่อบัญชี นิพภา ธารายุท เลขที่บัญชี 020-167-348-276 หรือโทร 098-530-7268 ติดต่อคุณวัทนา


คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “สู้...สุดจิตสุดใจ”
https://www.youtube.com/watch?v=UrgMeDlmFVE


ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos


กำลังโหลดความคิดเห็น