"แพทองธาร" ชูรัฐจ่อเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียวเป็น 50% ดันเป้าไทยศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ด้าน รองนายกฯ และ รมว.คลัง เปิด 3 เงื่อนไข “ที่ดิน-พลังงานไฟฟ้าสีเขียว-ทักษะแรงงาน" ดึงต่างชาติลงทุน ตั้งเป้าลดคาร์บอน 30% พร้อม ใช้กม.บังคับ ด้านบิ๊ก ปตท.สั่งบูรณาการลดคาร์บอน เดินหน้าลุย CCS-ไฮโดรเจน สร้างสมดุล ESG หันผลิตพลังงานลดคาร์บอนควบปลูกป่ามุ่ง net zero
Ibusiness และสื่อในเครือผู้จัดการ จัดสัมมนา 2025 Net Zero กับความท้าทายของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ (Net Zero and the Challenges of The New Global Economy) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานผ่านสื่อวิดีทัศน์ และปาฐกถาจาก นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมการแสดงวิสัยทัศน์ จากผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) , ธนาคารกรุงไทย, บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) , องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างความตระหนักรู้ มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเสนอแนวทาง กลยุทธ์ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้
โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญนักธุรกิจ และผู้นําจากทุกภาคส่วนที่มุ่งมั่นในเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ประเทศไทยตั้งเป้าหมายมุ่งสู่ net zero ในปี 2025 ไม่ใช่เพียงเรื่องของเทคโนโลยีหรือนโยบายแต่เป็นความท้าทายที่ประเทศไทยและนานาประเทศทั่วโลกต้องพร้อมปรับตัว ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายทางเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ทั้งการลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนและการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
"เรามีแผนที่จะครอบคลุมทุกภาคส่วน ตั้งแต่การใช้พลังงานหมุนเวียนในระดับท้องถิ่น ไปจนถึงการสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้คนที่ใช้รถที่มีมลพิษน้อยลง เช่น ไฮบริดและอีวี มากยิ่งขึ้น การสนับสนุนให้ใช้วิธีการปลูกพืชใหม่ใหม่ที่ลดการปล่อยคาร์บอนลง การให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อให้บริษัทไทยสามารถเข้าถึง carbon credit ได้ให้สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในตลาดยุโรปการออกกฎหมายเรื่องการคิดภาษีคาร์บอน การเพิ่มสัดส่วนพลังงานสีเขียวเป็น 50% การปรับปรุงมาตรฐานคาร์บอนเครดิตเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานโลกมากยิ่งขึ้น นโยบายดังกล่าวไม่เพียงแต่ตอบสนองต่อความท้าทายภายในประเทศ แต่ยังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกที่มีความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม เรามีความพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่ง ในการผลักดันให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนร่วมกัน”น.ส.แพทองธาร กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความสําเร็จของเป้าหมายนี้ จําเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วม จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐภาคธุรกิจและประชาชน ตนเชื่อมั่นว่าหากทุกคนมีส่วนร่วมในเป้าหมาย net zero ประเทศไทยจะสามารถเป็นตัวอย่างที่สําคัญของประเทศที่สร้างความเจริญก้าวหน้า โดยไม่ละเลยความรับผิดชอบต่อโลก และอนาคตของลูกหลาน
ด้าน ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้เรามุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ปีค.ศ.2050 โดยทิศทางของโลกทั้ง Climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้พลังงานสะอาดขึ้น Digital Transformation ของอุตสาหกรรมต่างๆล้วนมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจและการใช้พลังงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากพลังงานเป็นพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจโลก และเป็นปัจจัยที่ทำให้โลกเกิดความวุ่นวายไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Geopolitics ซึ่งต้องการความต้องการความมั่นคงด้านพลังงาน 75% คู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วันนี้คงไม่ต้องมีคำถามว่าทำไมต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เพื่อช่วยโลก รวมถึงช่วยตัวเองเพื่อให้มนุษยชาติอยู่ได้
ดร.คงกระพัน กล่าวต่อว่า การใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้นถึง 46% จากปี 2000 ซึ่งประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากคือ จีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ขณะที่ไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1% ของโลก แต่เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากสุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจ การใช้พลังงานต้องทำควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นับวันการใช้ถ่านหิน และน้ำมันจะทยอยลดลง แต่ยังคงมีการใช้ก๊าซธรรมชาติในอัตราที่สูงในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพราะเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดสุด ทำให้ก๊าซฯยังมีความสำคัญในอีก20-30ปีข้างหน้าแต่จะให้ดีต้องลดคาร์บอนควบคู่กันไปด้วย เพราะพลังงานหมุนเวียน (Renewable ) ยังมีข้อจำกัด ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก(SMR) และไฮโดรเจนมีต้นทุนที่แพง ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีก
"ปัจจุบันอาเซียนมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเนื่องจากแต่ละประเทศมีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติเองไม่ว่าจะเป็น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา ซึ่งประเทศไทยมีการผลิตก๊าซธรรมชาติใช้เองราว 50% ส่วนที่เหลือนำเข้าก๊าซฯจากเมียนมาราว 10% และ LNG นำเข้า ส่วนน้ำมัน ไทยนำเข้ามากถึง 90% ของความค้องการใช้ ถ้าเราต้องการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานหมุนเวียน ก็ต้องมีการผลิตจากแหล่งก๊าซฯควบคู่ไปกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากประเทศไทยมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า จำเป็นต้องลดปล่อยคาร์บอนควบคู่กันไปเพื่อเป็นพลังงานสะอาดขึ้น โดยเฉพาะโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ซึ่งเป็นโครงการที่ปตท.อยู่ระหว่างการศึกษา และจะเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยให้ปตท.และประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ซึ่งบริษัทน้ำมันชั้นนำของโลกมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์(Net Zero)ในปี ค.ศ. 2050 เช่นเดียวกับ ปตท." ดร.คงกระพัน กล่าว
สำหรับแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของ ปตท.นั้น ดร.คงกระพัน กล่าวว่า จะดำเนินควบคู่กันในการพัฒนาโครงการ CCS ซึ่งต่างประเทศได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกามีมากกว่า 100 แห่ง และยุโรปก็มีมากเช่นกัน เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดย ปตท.จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถังเก็บคาร์บอนและท่อฯ รวมทั้งประสานกับภาครัฐเพื่อออกกฎหมายรองรับ ขณะที่ ปตท.สผ.จะเป็นแกนนำในโครงการ CCS ส่วนไฮโดรเจนประเทศไทยก็มีศักยภาพ โดยมีการใช้ไฮโดรเจนสีเทา (Gray Hydrogen) ในบางอุตสาหกรรม นอกจากนี้แผน PDP ฉบับใหม่ ระบุให้มีการใช้ไฮโดรเจนสัดส่วน 5% ในโรงไฟฟ้าก๊าซฯ แม้ปัจจุบันจะไฮโดรเจนมีราคาแพง แต่ในอนาคตจะค่อย ๆ ถูกลง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และควรทำ การทำไฮโดรเจน-CCS ควบคู่กันไปแต่คาดว่าไฮโดรเจนอาจจะเห็นความชัดเจนก่อน เนื่องจากโครงการ CCS ต้องใช้เวลา มีกฎหมายรองรับ
"ภายใต้วิสัยทัศน์ ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน ในฐานะที่ ปตท.เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ เมื่อ ปตท.แข็งแรง ประเทศชาติก็แข็งแรงด้วย ดังนั้น ปตท.จึงเน้นการเติบโตในต่างประเทศสะท้อนให้เห็นว่า สัดส่วนรายได้ของ ปตท.มากกว่า 50% มาจากต่างประเทศ การบูรณาการ Sustainability เข้าสู่การทำธุรกิจและสร้างสมดุล ESG ให้เหมาะสมกับการทำธุรกิจ ผ่าน C3 approach คือ 1.Climate resilience Business 2.Carbon conscious asset และ 3 Coalition,co-creation and collection efforts for all" ดร.คงกระพัน กล่าว
ดร.คงกระพัน ยังกล่าวถึงการทำธุรกิจคาร์บอนต่ำของกลุ่ม ปตท.ว่า สามารถดำเนินการได้ เช่น การผลิตไฟฟ้าของ GPSC เชื้อเพลิงที่นำมาใช้จะเริ่มเป็นคาร์บอนต่ำ มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และไฮโดรเจนเข้ามามากขึ้น ส่วนธุรกิจในเครือ ปตท.ที่ปล่อยคาร์บอนก็ให้มีการจัดเก็บ โดย ปตท.จะสร้างถังเก็บคาร์บอนบนฝั่งก่อนต่อท่อนำไปฝังเก็บในอ่าวไทยต่อไป 2 ข้อรวมกัน กลุ่ม ปตท.ก็ลดคาร์บอนได้ 50% ส่วนที่เหลือเป็นการทำโครงการ CCS การปลูกป่า นับเป็นการ Integrate ในกลุ่ม ปตท. ทั้งการลดคาร์บอน ความยั่งยืน และการทำธุรกิจให้ไปด้วยกัน โดยมองว่าการลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zreo ไม่ใช่ต้นทุน (Cost) แต่เป็นโอกาสทางธุรกิจ
"โครงการ CCS ทางปตท.สผ. ที่ดำเนินการธุรกิจ E&P มากว่า30ปีเป็นแกนนำ ซึ่งไทยสามารถกักเก็บคาร์บอน (CCS) ได้ 2 วิธี คือ 1. กักเก็บคาร์บอนในหลุมก๊าซที่ไม่ได้ใช้แล้ว เบื้องต้นสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ราว 1 ล้านตันคาร์บอน 2. เป็นน้ำเกลือเข้มข้นโดยนำคาร์บอนไปละลายได้ทำได้บริเวณชายฝั่งทะเล ปัจจุบัน ปตท.สผ. กำลังดำเนินการโครงการ sandbox ซึ่งเป็นการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ในแหล่งอาทิตย์ในอ่าวไทย ขณะนี้เริ่มทดลองจากการผลิตก๊าซฯแล้วแยกคาร์บอนอัดกลับในหลุม โครงการCCS จะเป็นการเริ่มต้นภายในกลุ่ม ปตท. ก่อนหากประสบความสำเร็จก็จะดึงพันธมิตรและบริษัทเอกชนอื่นๆร่วมด้วยอาทิ กลุ่ม WHA กลุ่มปูนซินเมนต์" ดร.คงกระพัน กล่าว
ขณะที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้เข้ามาหารือถึงผลกระทบโลกร้อน สิ่งเหล่านี้จะต้องทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้ถูกกฏหมาย ทุกภาคส่วนของร่วมมือกัน และตระหนักถึงคำว่า NET ZERO เกี่ยวข้องอะไรกับเรา บางที่ได้ทำพันธสัญญากันแล้ว ต้องทำให้ชัดว่า ต้องปล่อยเท่าไรลดลงได้เท่าไร ในประเทศไทยและในเอเชียที่ตกลงกันไว้เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว จะทำอย่างไรให้ระดับการปล่อยคาร์บอนให้เข้าใกล้เป้าหมายมากที่สุด หรือถ้าทำไม่ได้จะทำอย่างไร จะต้องชดเชยอย่างไร คนที่ทำไม่ได้ต้องเป็นคนจ่ายให้คนทำไม่ได้หรือไม่ มีการดูแลแก้ไขกันไป หากดำเนินการไม่เพียงพอก็อาจจะต้องไปสร้างเพิ่มเติม เช่น ปลูกต้นไม้ ปลูกข้าวแบบใหม่ ที่ลดคาร์บอนเพิ่มขึ้น
"สำหรับภาครัฐก็จำเป็นต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้ และตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องคาร์บอนเครดิต ซึ่งประเทศไทยได้ให้พันธสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้อย่างน้อย 30% เมื่อประเมินดูในเบื้องต้น ประเทศไทยอาจยังไม่ได้ตระหนักถึงข้อมูลตรงนี้ จึงต้องเร่งดำเนินให้เป็นไปตามกฎหมาย หากลดไม่ได้อาจจะต้องกำหนดให้ผิดกฎหมาย" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า ประเทศไทยมียังพื้นที่เหลืออีกมาก ประชากรอยู่ 60 ล้านคน พื้นที่ 360 ล้านไร่ เหลือเพียงพอที่จะให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน วันนี้ได้เชิญให้ต่างชาติเข้ามาบ้างแล้ว แต่จะเชิญให้เป็นอุตสาหกรรมที่โนคาร์บอน ปัจจุบันเริ่มเข้ามาแล้ว ทั้งสหรัฐอเมริกา และยุโรป ส่วน จีน หากถูกกีดกันทางการค้า การลงทุนก็จะไหลเข้ามาในประเทศ ตอนนี้มีคนเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ใน 9 เดือนแรกของปี 2567 ทำลายสถิติรอบ 10 ปี สูงสุดอยู่ที่ 7 แสนกว่าล้านบาท หรือ 2 หมื่นกว่าล้านเหรียญสหรัฐ
"ทั้งนี้สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติยังมีความต้องการในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย 3 เรื่อง ได้แก่ อยากได้ที่ดินที่มีการพัฒนาแล้วและราคาไม่แพง , อยากได้พลังงานไฟฟ้าสีเขียว และ อยากได้แรงงานที่มีทักษะเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ โดยยืนยันว่ารัฐบาลยินดีที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการสร้างองค์ประกอบเหล่านี้ให้ครบถ้วน เหลือเพียงความรวดเร็ว นโยบายพลังงานที่ชัดเจน ซึ่งเราจะให้ความร่วมมือและเร่งทําอย่างเต็มที่” นายพิชัย กล่าว
ทางด้านนายธวัชชัย ชีวานนท์ ประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า จากข้อมูลที่จำนวนปล่อยคาร์บอนของไทยในสัดส่วนเพียง 1% ของจำนวนคาร์บอนทั้งหมด แต่เราติด TOP 10 ที่จะได้รับผลกระทบจาก Climate change ที่รุนแรง ดังจะเห็นได้จากภัยธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดมีความรุนแรงขึ้น ดังนั้น จึงถือเป็นภารกิจทุกคนจะต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความเป็นอยู่ในที่ทำงาน เศรษฐกิจชุมชน ไปจนถึงเศรษฐกิจระดับประเทศ
ประธานผู้บริหาร Product & Business Solutions ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ทั้งนี้ ในเรื่องของสภาพแวดล้อมนั้น จากรายงานของธนาคารโลก ได้มีการเสนอแนะแนวทางในการดำเนินให้ประเทศไทยในหลายส่วน เช่น ในเรื่องของการบริการจัดการน้ำ รวมถึงการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลด้านอากาศ น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นต้น เนื่องจากประเทศไทยให้ความสำคัญกับเกษตรกรรม และการประมง ทั้งนี้ หากประเทศไทยยังคงไม่ปรับตัวในเรื่องดังกล่าว กระทั่งปี 2050 อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อจีดีพีถึง -4% และคาดว่าเกิดผลกระทบต่อภาคการเกษตรและประมงได้ถึง 3.16 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจยั่งยืนต้องใช้วงเงินลงทุนในระดับที่สูง โดยจากการคาดการณ์เม็ดเงินลงทุนที่จะใช้ในการเปลี่ยนผ่านของไทยนั้นอยู่ที่ 1.84 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เราเพิ่งมีเม็ดเงินลงทุนไปเพียง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น เรื่องของเม็ดเงินลงทุนเป็นอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณา
นายธวัชชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เรามองปัจจัยที่ความท้าทายต่อ Green Transition ในอีกมิติ คือ การจัดการในเรื่องเศรษฐกิจนอกระบบซึ่งประเทศไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบในสัดส่วนที่สูงถึง 48% ของจีดีพี และเป็นปัจจัยที่สร้างความท้าทายต่อ Green Transition เนื่องจากข้อมูลที่ไม่ได้ถูกบันทึกทำให้กำกับดูแลเป็นเรื่องที่ยาก รวมไปถึงการเข้าไปช่วยเหลือ ดูแลในเรื่องต่างๆทำได้ยากเมื่อเกิดปัญหา รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วย
"ในท้ายที่สุดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจยั่งยืน เป็นเรื่องที่ภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งทำแต่เพียงลำพังไม่ได้ เป็นสิ่งที่ 3 แกนหลักได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนต้องร่วมมือกัน โดยภาครัฐจะต้องดูแลในเรื่องของปัจจัยพื้นฐานที่เอื้อ รวมถึงแรงจูงใจต่างๆ ในการลงทุน การเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการให้ความตระหนักรู้ถึงความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านและความรู้ในการเปลี่ยนผ่าน ขณะที่ภาคเอกชนรายใหญ่เองก็ต้องช่วยดูแล Supply Chain ของตนเองให้สามารถเปลี่ยนผ่านได้เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และภาคประชาชนต้องตระหนักในเรื่องดังกล่าวเช่นกันโดยการปรับตัวพัฒนา skill ที่มีประโยชน์ในการเปลี่ยนผ่านต่อไป" นายธวัชชัย กล่าว
ขณะที่ นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า WHA จะมอง 3 เรื่องคือ geopolitical tention ,Sustainability และ Tecnology inflastructer เราจะมองเทรน นำมาปรับการลงทุนใน 3 เมกกะเทรนนี้ ที่ผ่านมาโลกประสบปัญหามาก ทั้งอย่าง เรนบอมส์ต่างๆ ซึ่งลูกค้าก็ประสบมาหลากหลาย โดยปัจจุบัน WHA มีลูกค้าต่างชาติมากกว่า 85% หลายปีมานี้พบว่านักลงทุนที่เข้ามา จะถามหาพลังงานสะอาด 100% ล่าสุดที่ WHA ได้เซ็นสัญญากับกูเกิล และต้องการพลังงานสะอาด 100 % ทำให้บริษัทต้องใส่ใจกับพลังงานสะอาด 100 % และหาปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อตอบโจทย์ เพราะเราใช้น้ำมาก มีการปล่อยน้ำจากธรรมชาติมาก และปล่อยน้ำเสียมาก ทั้งนี้ก่อนจะเกิดสงครามการค้า เรามี 4 ธุรกิจหลักๆ และได้รับการกระทบเต็มๆ ทำให้เราใส่ใจว่าจะปรับตัวอย่างไร ต้องลงทุนระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการย้ายฐานการลงทุน โดยที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน พบว่า มีนักลงทุนสนใจเข้ามากว่า 500 ราย โดยยุค "โดนัลด์ ทรัมป์" เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งแรก มีการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนจากทั่วโลก และในรอบนี้ new economy ก็ต้องเตรียมรับการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนจากต่างประเทศ
"ในส่วนของ WHA ได้ปรับเปลี่ยนการทำงานทุกสายธุรกิจ อย่างการสร้างศูนย์กระจายสินค้า ส่วนในธุรกิจขนส่ง WHA ได้หันไปรุกการใช้ รถ EV เพื่อลดปริมาณคาร์บอน เพราะลูกค้าส่วนมากเป็น global และเป็นบริษัทขนส่งขนาดใหญ่ ส่วนในไทยนั้นมีรถขนส่งกว่า 4 ล้านคัน ก็ต้องมาคิดกันว่าจะช่วยให้ลดการใช้รถขนส่งให้เป็น ev ได้อย่างไรใน 3 ปีนี้ และไทยต้องทำให้ได้ เราจึงมองกรีน โลจีสติกส์ เพราะ เป็น end to end process จึงตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมารองรับและเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันและลดต้นทุนการดำเนินงานได้ด้วย ส่วนกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม แม้ WHA จะไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอน แต่ลูกค้าของเราในนิคมปล่อยก๊าซคาร์บอนเต็มๆ เราจะทำอย่างไร” นางสาวจรีพร กล่าว