รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปที่ จ.สมุทรปราการ เพื่อรู้จัก “ช่างธิ” หนุ่มที่แม้ไร้ขา แต่หัวใจนักสู้ ไม่จำนนต่อความพิการ สู้ด้วยสองมือที่มีด้วยการทำงานทุกอย่าง และเป็นเสาหลักหารายได้เลี้ยงครอบครัว 4 ชีวิต ด้วยอาชีพช่างซ่อมรถ
“ต่อให้เราไม่มีกินแค่ไหน เราก็จะไม่ไปขอทานกิน ต่อให้ผมคลานแทบไม่ไหว ผมก็ไม่ขอใครกิน เพราะเรายังมีสองมือ ที่เรายังไปไหนมาไหนได้ และทำงานได้”
นั่นคืออุดมการณ์ที่แน่วแน่ของ “ช่างธิ” สมาธิ ขันแก้ว ที่แม้เกิดมาพร้อมขาพิการ จนไม่สามารถใช้งานได้ แต่พร้อมสู้ด้วยสองมือที่เหลืออยู่
ย้อนกลับไป ณ วันที่ช่างธิลืมตาดูโลก พ่อเล่าว่า แม้จะเสียใจที่ลูกเกิดมาพิการ แต่ก็รักและพยายามดูแลลูก แม้ฐานะทางบ้านจะลำบากก็ตาม
“พยายามสอนลูกว่า เกิดมาหนหนึ่งเป็นแบบนี้แล้ว ก็ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย บางคนเขายิ่งกว่าเราอีก แต่หนูนี่ยังคลานได้อะไรได้ ไปโรงเรียนก็ขี่คอเรา พอโตมาอีกหน่อย เขาขี่จักรยานได้ เขาเลยปั่นจักรยานไปโรงเรียนตลอด”
หลังความพิการทำให้ถูกเพื่อนล้อในวัยประถม ส่งผลให้ช่างธิตัดสินใจหยุดการศึกษาไว้แค่ชั้น ป.6 และเริ่มคิดหางานทำ เพื่อไม่เป็นภาระของครอบครัว
“ตอนนั้นก็คิดอยู่ว่า เราจะไปหางานตรงไหน จนมีวันหนึ่งน้าผมเขาออกทะเลอยู่แล้ว เขาเป็นเจ้าของเรือ วันนั้นลูกน้องเขาไม่มา เราก็เลยแกล้งแซวเขาว่า ขาดลูกน้อง ออกแทนได้ไหม เขาก็บอก ได้ ไปสิ (ถาม-เป็นลูกเรือประมง?) ใช่ ประมงเล็ก ประมงพื้นบ้าน (ถาม-พื้นที่ที่อยู่ตรงนี้คือ?) ปากอ่าว อ่าวทะเล เทศบาลตำบลคลองด่าน (ถาม-เราทำหน้าที่อะไรบ้างบนเรือ?) สาวอวน กับปล่อยอวนลงน้ำ”
หลังทำงานเป็นลูกเรือประมงได้เกือบปี ช่างธิตัดสินใจหยุดอาชีพนี้ ก่อนเบนเข็มไปเรียนรู้หลักสูตรช่างอิเล็กทรอนิกส์
“(ถาม-จุดเปลี่ยนที่ตัดสินใจเลิกทำงานประมงเพราะอะไร?) มันอันตรายด้วย และอีกอย่าง รายได้มันไม่แน่นอน แล้วแต่สถานการณ์แต่ละวันว่าจะมีของไหม ออกไปจะเจอลมไหม แม่ก็ห่วงด้วย เพราะช่วงนั้นมีพายุบ่อย ก็เลยเลิกทำ และไปเรียนอิเลกทรอนิกส์ที่พระประแดง เรียนนาน 1 ปี (ถาม-เรียนอิเล็กทรอนิกส์ต้องทำอะไรบ้าง?) เกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้า ทีวี วิทยุ เตารีด หม้อหุงข้าว เป็นต้น เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์หมดเลย”
แม้เรียนจบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ช่างธิก็ยังไม่ได้ทำงานด้านช่างอย่างเป็นทางการ เพราะโอกาสเอื้อให้ไปเป็นหนุ่มโรงงานเสียก่อน
“ตอนนั้นเรายังไม่มีทุนเปิดร้านรับซ่อมด้วย แต่ถามว่ารับซ่อมไหม รับทำอยู่ที่บ้าน แต่ก็ยังไม่เป็นทางการ พอดีมีโรงงานขึ้นป้ายรับสมัครคนพิการทำงาน ก็เลยไปทำงานตรงนั้น (ถาม-ตอนนั้นไปทำตำแหน่งอะไร?) เป็นพนักงานทั่วไป ไปประกอบล้อรถบังคับ ส่งออกนอก”
หลังทำงานโรงงานได้ 3 ปีกว่า ช่างธิก็ตัดสินใจออกจากงาน เพราะเริ่มค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบ งานที่ตัวเองรักเข้าแล้ว นั่นก็คือ งานช่างยนต์
“ก่อนจะออกจากงาน พอดีรู้จักกับพี่คนหนึ่งที่เขาเปิดร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ เราเลยไปคลุกคลีกับเขาอยู่พักหนึ่ง เราไปเห็นแล้วรู้สึกชอบ รักงานแบบนี้ เลยตัดสินใจออกจากโรงงาน และมาอยู่กับพี่เขาได้ประมาณปีหนึ่ง พี่เขาก็จะสอนโน่นนี่ เกี่ยวกับการทำรถทุกอย่าง”
หลังสะสมประสบการณ์ด้านช่างยนต์จนเชี่ยวชาญ ในที่สุด ช่างธิก็สามารถเช่าพื้นที่เพื่อเปิดร้านซ่อมรถเล็กๆ ของตัวเองได้ ซึ่งจนถึงปัจจุบันเปิดมาได้ 6 ปีแล้ว
“(ถาม-ทุกวันนี้งานช่างยนต์ที่ช่างธิทำได้มีอะไรบ้าง) เกี่ยวกับรถมอเตอร์ไซค์ ผมทำได้ทุกอย่าง ผ่าเครื่อง ประกอบเครื่อง ได้หมดทุกอย่าง (ถาม-มาอาการไหนทำได้หมด?) ทำได้หมดเลย (ถาม-นอกจากซ่อมมอเตอร์ไซค์ ยังรับซ่อมอย่างอื่นด้วยไหม?) ก็จะมีพวกอิเล็กทรอนิกส์ที่เราได้เรียนมา เล็กๆ น้อยๆ บางทีคนรู้จักก็เอามาให้ซ่อม หม้อหุงข้าวบ้าง พัดลมบ้าง”
ปัจจุบันช่างธิเป็นเสาหลักทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัวอีก 3 ชีวิต คือ พ่อ ภรรยา และลูกชายวัยกำลังเรียน ส่วนแม่ ซึ่งก่อนหน้านี้พักอยู่ด้วยกันที่บ้าน ขณะนี้ไปพักอยู่กับพี่ชายช่างธิ เนื่องจากบ้านที่อยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นบ้านไม้ เช่าพื้นที่วัดอยู่ มีสภาพชำรุดทรุดโทรมผุพัง ไม่ค่อยมีความมั่นคงแข็งแรง จึงกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยสำหรับแม่
“ตอนนี้เป้าหมายของผมคือ อยากจะหาเงินหรือเก็บเงินให้ได้สักก้อนหนึ่งเพื่อจะทำบ้าน จะได้ให้แม่มาอยู่บ้านเหมือนเดิม”
ลำพังขาพิการ ก็ทำให้ช่างธิเคลื่อนไหวและใช้ชีวิตยากกว่าคนปกติอยู่แล้ว แต่ล่าสุด 3-4 เดือนที่ผ่านมา ช่างธิเริ่มมีปัญหาสุขภาพ จนจำเป็นต้องใส่สายปัสสาวะ
“(ถาม-ทำไมต้องมีสายปัสสาวะ?) ปัสสาวะมันออกน้อย ทำให้น้ำท่วมอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเยอะเกินไป คือมันออกมาไม่หมดเท่าที่เรากิน หมอบอกว่า ถ้าเราไม่ใส่สายฉี่ จะต้องเริ่มฟอกไตแล้ว (ถาม-พอมีสาย ส่งผลต่อการทำงานไหม?) ช่วงแรกๆ มีผลมาก การเคลื่อนไหวของเรามันจะไม่เหมือนเดิม เวลาเราจะไปไหน เราก็ต้องหิ้วกระเป๋า(ใส่ถุงปัสสาวะ)ไปด้วย จากเมื่อก่อนจะไปไหน กระโดดก็คือกระโดดลงจากเก้าอี้ก็คือไปเลย แต่ตอนนี้ต้องเซฟตี้ตัวเองด้วย”
ไม่ว่าร่างกายและสุขภาพจะมีปัญหาแค่ไหน ช่างธิก็ไม่ถอดใจ พร้อมสู้เพื่อทุกคนในครอบครัวต่อไปโดยไม่เคยย่อท้อต่อความเหนื่อยยาก โดยยึดหลักว่า“เราเกิดมาแล้ว แม้พิการ ต้องสู้และทำให้ดีที่สุด เพื่อไม่เป็นภาระของสังคม”
หากท่านใดต้องการนำรถมอเตอร์ไซค์ไปซ่อมกับช่างธิติดต่อไปได้ที่ 094-083-8262 หรือหากต้องการช่วยเหลือเพื่อให้ช่างธิมีงบซ่อมแซมบ้านไวๆ โอนไปได้ที่ธนาคารกสิกรไทย ชื่อบัญชี นายสมาธิ ขันแก้ว เลขที่บัญชี 254-2-35245-3
คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “ช่างธิ...หัวใจนักสู้”
https://www.youtube.com/watch?v=DHukniEtJ-U
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )
หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อhttps://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อhttps://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos