ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านสัตว์น้ำ ชี้ ปูดำเถื่อน ... สะท้อนปัญหาลอบนำเข้าปลาหมอคางดำ อย่าทิ้งประเด็นผู้ลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำ
สมเจตน์ สุขมงคล ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านสัตว์น้ำ เปิดเผยว่า ปัญหาการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำ ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งจัดการ ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน มีรายงานข่าวการจับกุม 2 ผู้ต้องหา ลักลอบนำเข้าปูดำเถื่อน กว่า 460 กก. จากประเทศเพื่อนบ้าน ได้ที่จังหวัดระนอง หลังจาก ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ศรชล.ภาค 3) สืบทราบว่า มีการลักลอบนำเข้าของผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในพื้นที่
เจ้าหน้าที่จึงลาดตระเวนในพื้นที่ล่อแหลม ก่อนพบเรือต้องสงสัย และดำเนินการเข้าจับกุม ตรวจพบ ปูดำสดประมาณ 460 กิโลกรัม เรือหางยาวพร้อมเครื่องยนต์ติดท้าย 1 ลำ และจับกุม 2 ผู้ต้องหาลักลอบนำเข้าปูดำโดยไม่มีเอกสารการอนุญาตลงตรา ตม.ผ่านแดน แสดงต่อเจ้าหน้าที่ จึงดำเนินการจับกุมพร้อมแจ้งข้อกล่าวหา ลักลอบนำเข้าสินค้าโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรและลักลอบเข้าเมืองโดยเข้าออกไม่ถูกช่องทางตามที่ทางการไทยกำหนด
ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา จึงควบคุมผู้ต้องหาและของกลางส่งพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
สำหรับพื้นที่จังหวัดระนอง ก่อนหน้านี้ก็มีการจับกุมเรือสัญชาติเมียนมา ลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 2 ลำ พร้อมด้วยสัตว์น้ำของกลางจำนวน 1 รายการ คือ หอยลาย จำนวน 104 กระสอบ น้ำหนักรวมประมาณ 4,680 กิโลกรัม ณ บริเวณแพสุดารัตน์ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง
ดังนั้นการจับกุมผู้ลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำอย่างผิดกฎหมายดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า การลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่ในประเทศไทยมาช้านาน และยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาด สะท้อนถึงความเข้มงวดในการป้องกันการลักลอบนำเข้า และขาดการขยายผลสาวไปให้ถึงต้นตอ เพื่อถอนรากถอนโคนปัญหานี้อย่างจริงจัง ซึ่งอาจเป็นเพราะคิดว่า ไม่มีผลกระทบที่รุนแรง ส่งผลให้ไทยต้องเผชิญหน้ากับปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกรานส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
จากกรณีปูดำและหอยลายเถื่อน ทำให้ต้องกลับมาดูปัญหาปลาหมอคางดำอีกครั้ง นั่นเพราะคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่สืบหาสาเหตุรอบด้าน แต่กลับพุ่งเป้าไปที่ข้อมูลการขออนุญาตนำเข้าของบริษัทแห่งหนึ่งเป็นหลัก โดยไม่พิจารณาความเป็นไปได้ของการลักลอบนำเข้าเลย แม้มีข้อมูลการส่งออก แต่ก็รับฟังคำของบริษัทส่งออก ที่ชี้แจงว่า เกิดจากการลงชื่อผิดในเอกสารการส่งออก แต่ไม่สืบถึงที่มาว่า บริษัทส่งออกเอาปลามาจากที่ใด ก่อนสรุปผลว่า ปลาหมอคางดำ ถูกนำเข้ามาเพียงครั้งเดียว ตามข้อมูลการขออนุญาต
ป้ญหาการลักลอบนำเข้าที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบอย่างจริงจัง อาจเป็นเพราะจับมือใครดมไม่ได้ เพราะการจับกุมที่ผ่านมาก็ไม่เคยขยายผล ทำให้ขาดข้อมูล เมื่อพุ่งปัญหาก็พุ่งเป้าไปที่ ข้อมูลการนำเข้าเป็นหลัก ปล่อยให้การลักลอบนำเข้ายังคงเป็นปริศนาต่อไป
การแพร่กระจายของ กุ้งเครย์ฟิช ปลาซัคเกอร์ ปลาหมอมายัน หรือปลาหมอบัตเตอร์ ที่รุกรานแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ ที่ยังไม่รู้ใครนำเข้ามาคือเครื่องยืนยันปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี แต่กลับไม่มี NGO หรือ หน่วยงานใด พยายามหาต้นตอแล้วเชื่อว่า เป็นการลักลอบนำเข้า เพราะไม่มีข้อมูลการขออนุญาตใดๆ
หากจะจัดการกับปัญหานี้อย่างยั่งยืน ต้องไม่ทิ้งประเด็นผู้ลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำ เพราะหากปล่ยอยไปเช่นนี้ปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกรานระบบนิเวศน์และกระทบกับเศรษฐกิจก็จะยังคงอยู่ต่อไปอย่างแน่นอน