งานวิจัยจาก อโกด้า แพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการท่องเที่ยว ชี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมของไทยจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 4 ล้านคนต่อปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายใน 2 ปี หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ดัน GDP ไทยโตขึ้น 0.3%
งานวิจัยเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งจัดทำโดย อโกด้าร่วมกับบริษัท Access Partnership ได้ประเมินถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยจะได้รับจากการบังคับใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในวันที่ 22 มกราคม 2568 โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รับรองกฎหมายนี้ และเป็นประเทศที่สามในเอเชีย รองจากไต้หวันในปี 2562 และเนปาลเมื่อปีที่แล้ว กฎหมายดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ประเทศไทยดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ ทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่ากว่า 200 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
รายงานยังคาดการณ์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะแพร่กระจายไปสู่เศรษฐกิจไทยในวงกว้างจากการบังคับใช้กฎหมายนี้ โดยคาดว่าใน 2 ปี จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 4 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะสร้างผลกระทบเชิงบวกอย่างมากดังนี้
●เพิ่มรายรับจากการท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยกระจายไปยังหลายภาคส่วน เช่น ประมาณ 0.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากการจองที่พัก, 0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากการบริการอาหารและเครื่องดื่ม, 0.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากการจับจ่ายซื้อสินค้า, 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากการเดินทางภายในประเทศ และอีก 0.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ความบันเทิงและบริการทางการแพทย์
●สนับสนุนการสร้างงานประจำเพิ่มอีก 152,000 ตำแหน่ง โดย 76,000 ตำแหน่งจะเกิดขึ้นโดยตรงในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และอีก 76,000 ตำแหน่งจะกระจายไปยังภาคส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจไทย
●ผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยเพิ่มขึ้น 0.3%
แม้ประเทศไทย จะเป็นจุดหมายท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลกอยู่แล้ว แต่การออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมในครั้งนี้จะยิ่งยกระดับความน่าสนใจของไทยในสายตานักท่องเที่ยว LGBTQIA+ ที่มองหาจุดหมายที่เปิดกว้างและต้อนรับทุกคนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในยุคที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับประสบการณ์การท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายและเปิดกว้างมากขึ้น
เนื่องจากไทย จะเป็นประเทศที่สามในเอเชีย ที่ประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายนี้จะทำให้ไทย กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวสำหรับคู่รัก LGBTQIA+ จากประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการเฉลิมฉลองการแต่งงานในประเทศที่ยอมรับการสมรสเพศเดียวกัน หลายเมืองในประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับการแต่งงาน ทั้งในด้านความสวยงามของสถานที่และความพร้อมในการบริการที่หลากหลาย กฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ไม่เพียงช่วยกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมงานแต่งงานในไทย แต่ยังเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เช่น โรงแรม บริการจัดเลี้ยง และอุตสาหกรรมบันเทิง ได้รับประโยชน์อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจในประเทศ พร้อมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในระดับสากลว่าไทยเป็นประเทศที่ยอมรับและให้ความเท่าเทียมแก่ทุกเพศวิถีและเพศสภาพ
ปิติโชค จุลภมรศรี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาดของอโกด้า และผู้สนับสนุนของกลุ่ม Agoda Pride กล่าวว่า อโกด้าสนับสนุนชาว LGBTQIA+ มาตลอดทั้งในหมู่พนักงานและผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มอโกด้า ปีนี้เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือและสนับสนุน Bangkok Pride Parade 2024 ด้วยงานวิจัยชิ้นนี้ เราต้องการเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของการส่งเสริมความหลากหลาย ซึ่งช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าและประโยชน์มากมายที่เกิดจากการยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายในสังคม
จากการพูดคุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงผู้จัดงาน Bangkok Pride งานวิจัยชิ้นนี้ เผยให้เห็นถึงโอกาสสำคัญในอนาคตที่กฎหมายฉบับนี้จะนำมา เช่น งาน WorldPride ซึ่งเป็นงานระดับนานาชาติที่มุ่งส่งเสริมความเข้าใจและการตระหนักรู้เกี่ยวกับชาว LGBTIQIA+ ทั้งนี้ งานดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ ในประเทศเจ้าภาพได้อย่างมหาศาล
ปิติโชค กล่าวด้วยว่า การประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย ไม่เพียงในแง่ของการส่งเสริมสิทธิที่เท่าเทียมสำหรับชาว LGBTQIA+ แต่ยังช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางที่เปิดกว้างและปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวทุกคน”
วาดดาว ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้งบางกอกนฤมิตรไพรด์ และผู้จัดงาน Bangkok Pride Festival 2024 กล่าว “การยอมรับความหลากหลายและการรับรองสิทธิในการสมรสของคู่รักทุกคู่ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนหรือเพศสภาพใด สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทผู้นำของประเทศไทยในการส่งเสริมความเท่าเทียมและศักดิ์ศรีของมนุษย์ เราเชื่อว่าการตัดสินใจที่กล้าหาญในครั้งนี้จะสร้างความไว้วางใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น และกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเรา
Henry Koh ผู้อำนวยการบริหารของสมาพันธ์ International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association (ILGA) Asia กล่าวว่า ความจริงที่น่าเศร้าคือ นักเดินทาง LGBTQIA+ จากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมากกว่าครึ่ง เคยประสบกับการเลือกปฏิบัติระหว่างการเดินทาง ซึ่งทำให้ความปลอดภัยกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว การบังคับใช้กฎหมายนี้จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่ปลอดภัยและได้รับความนิยมในหมู่ LGBTQIA+ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสใหม่ๆ ที่พวกเขาไม่สามารถหาได้จากที่อื่น เช่น การจัดงานแต่งงานในประเทศไทย
Access Partnership, บริษัทที่ปรึกษานโยบายสาธารณะชั้นนำ ได้วิเคราะห์จากประเทศที่ออกกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยผลการศึกษา ชี้ให้เห็นว่า ประเทศที่มีการออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเห็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 10% ภายในสองปีหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้
นอกจากนี้ ผลการศึกษา ชี้ให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะเลือกเดินทางไปยังประเทศที่สนับสนุนสิทธิของชาว LGBTQIA+ โดย 43% ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะยกเลิกการเดินทางทันทีหากรู้สึกว่าประเทศปลายทางไม่ได้สนับสนุนสิทธิของชาว LGBTQIA+