รัฐมนตรีคมนาคม ยืนยัน แก้สัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้เอกชน เชื่อทำความเข้าใจพรรคร่วมฯ ได้ เล็งให้ ผู้รับเหมาวาง แบงก์การันตี หวั่นทิ้งงาน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 22 ต.ค.67 ยังไม่ได้พิจารณาประเด็นการแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (อู่ตะเภา -สุวรรณภูมิ- ดอนเมือง) และขอชี้แจงว่า การแก้ไขสัญญา เกิดจากเอกชนและภาครัฐ ผิดสัญญา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด- 19 ทำให้โครงการล่าช้า รัฐบาลไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนได้ ขณะที่เอกชน ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างผิดสัญญา จึงต้องมาพิจารณาร่วมกันในการแก้ไขสัญญา เพื่อไม่ให้รัฐเสียประโยชน์ โดยสัญญาเดิมจะให้เอกชนสร้างจนเสร็จ หลังจากนั้น 10 ปี รัฐบาลจะค่อยชำระเงิน
ส่วนสัญญาใหม่ จะให้เอกชน นำเงินมาวางค้ำประกัน และเมื่อสร้างเสร็จ รัฐบาลจะคืน หนังสือค้ำประกันโดยธนาคาร หรือ แบงก์การันตีให้ ซึ่งการก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ละช่วง จะแบ่งเป็นแต่ละสัญญา หากมีการทิ้งงาน รัฐจะนำเงินค้ำประกัน ไปจ้างผู้ประกอบการรายใหม่
นายสุริยะ ยืนยันว่า การแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใหญ่ ที่สำคัญได้ให้อัยการตรวจสอบสัญญาทั้งหมดแล้ว มั่นใจว่า จะสามารถทำให้พรรคร่วมรัฐบาล เข้าใจในการแก้ไขสัญญาโครงการนี้ได้ ส่วนการนำเสนอ ครม.จะดำเนินการผ่าน โครงการ ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)