xs
xsm
sm
md
lg

หมอคางดำ...ปลาสวยงามส่งออก ยิ่งชี้แจง ยิ่งสงสัย!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการด้านสัตว์น้ำ ขี้กรณีปลาหมอคางดำ-ปลาสวยงามส่งออก ยิ่งชี้แจง ยิ่งสงสัย!


วิภาวี บุตรสาร นักวิชาการด้านสัตว์น้ำ ระบุ ประเด็น “ปลาหมอคางดำ” ส่งออกเป็น “ปลาสวยงาม” ที่มีการให้ข้อมูลทั้งฝ่ายที่มั่นใจว่า เป็นไปไม่ได้ แล้วพุ่งเป้าไปที่บริษัทเอกชนที่นำเข้าอย่างถูกต้องเท่านั้น แต่อีกฝ่ายก็เชื่อว่า มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะการลักลอบนำเข้าปลาสวยงามเป็นปัญหาที่มีมานาน รวมถึงขั้นตอนการส่งออกที่ยังเต็มไปด้วยคำถาม ทำให้ตัดความเป็นไปได้ว่า ปัญหาปลาหมอคางดำที่กำลังเผชิญอยู่มาจาก "การลักลอบนำเข้า" ออกไปไม่ได้ และยังเป็นสิ่งต้องพิสูจน์ หาหลักฐานมายืนยันกันต่อไป 

จากการเข้าพบ คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กมธ.อว.) ของ 11 บริษัทส่งออก ในวันที่ 8 สิงหาคม 2567 ผู้ส่งออกยังคงยืนยันว่า มาจากการกรอกชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ผิดจริงๆ โดยนำเอกสารใบกำกับสินค้า และใบสั่งซื้อสินค้ามาแสดง แต่ไม่ได้อธิบายว่า เพราะเหตุใดจึงปล่อยให้กรอกข้อมูลผิดได้ทุกครั้ง แล้วทำไม บริษัทส่งออกถึงไม่ทักท้วงให้มีการแก้ไขใดๆ เลย ปล่อยให้ข้อมูลผิดต่อเนื่องมาถึง 4 ปี หรือมีเหตุผลอื่นแอบซ่อนอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามที่เกิดจากคำตอบที่ไม่กระจ่าง 

ด้าน กรมประมง ชี้แจงว่า เคยตรวจสอบการส่งออกปลาหมอคางดำแล้วในปี 2560 ได้ข้อสรุปว่า เนื่องจากช่วงเวลาส่งออกปี 2556-2559 ใช้อำนาจตาม พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 ควบคุมการส่งออก ผู้ส่งออกต้องมาขออนุญาตก่อนส่งออกกับด่านตรวจประมง ใช้เพียงเอกสารใบกำกับสินค้าเป็นเอกสารประกอบการส่งออก หรืออาจมีใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำประกอบในกรณีที่ประเทศปลายทางร้องขอ ไม่ต้องแสดงที่มาของสัตว์น้ำในการส่งออก ดังนั้น รายงานการส่งออกนั้นมาจากการกรอกชื่อผิดของเจ้าหน้าที่ชิปปิ้งเท่านั้น ซึ่งคำอธิบายดังกล่าว ทาง กมธ.อว.ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการตอบที่ไม่ชัดเจน 

เริ่มจากการไม่สงสัยและตรวจสอบตั้งแต่แรกว่า ชื่อถูกต้องหรือไม่ ปล่อยให้ผิดพลาดและส่งออกได้อย่างไร ถึง 4 ปี แล้วค่อยมาตรวจสอบในปี 2560 ที่สำคัญประเทศปลายทางรับสินค้าได้อย่างไร ทั้งที่ชื่อปลาผิด หรือเอกสารที่ขออนุญาต กับเอกสารเมื่อถึงปลายทางเป็นคนละชื่อกัน ยิ่งแสดงให้เห็นถึง ความผิดปกติในขั้นตอนการส่งออก หรือเป็นวิธีการหลบเลี่ยงเอกสารรับรอง GAP เพื่อให้ส่งออกได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

หากเป็นเช่นนั้น การกระทำในลักษณะนี้ถือว่า ผิดกฎหมายหรือไม่ แล้วใครต้องรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้ สังคมยังไม่ได้รับการชี้แจงใดๆ เลย รวมถึงไม่มีหน่วยงาน หรือองค์กรอิสระใด ออกมาผลักดันสืบหาหลักฐาน เพื่อเอาผิดใดๆ มีเพียงการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นความหละหลวมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ไม่มีการตามไปถึงบ่อเพาะเลี้ยงของผู้ส่งออกว่า เป็นอย่างไร 

หลังปี 2561 เมื่อมีกฎหมายห้ามนำเข้า เพาะเลี้ยง และส่งออก สัตว์น้ำต่างถิ่นแล้ว ยอดส่งออกกลับหายตามไปด้วย ยิ่งน่าสงสัย เพราะหลังกฎหมายบังคับใช้ บ่อที่เลี้ยงปลาป้อนให้บริษัทส่งออกเหล่านั้น จัดการกับพ่อแม่พันธุ์ปลาอย่างไร มีการทำลายอย่างถูกต้องหรือไม่ ได้รายงานหน่วยงานที่รับผิดชอบหรือไม่

หรือถ้าบอกว่า เป็นการกรอกชื่อผิด จริงๆ เป็นการส่งออกปลาชนิดอื่น เพราะเหตุใดจึงไม่แก้ไข ทั้งที่ตรวจสอบแล้ว ปล่อยให้ผิดมาจนถึงวันที่ปลาหมอคางดำได้รับความสนใจจากสังคม เมื่อมีวิธีการหลบเลี่ยงให้ส่งออกง่ายขึ้นได้ หรือการกรอกชื่อผิดได้จริง ก็มีโอกาสสูงที่การนำเข้าอื่นๆ นอกจากบริษัทที่ขออนุญาตถูกต้อง จะกรอกชื่อผิดนำเข้าด้วยหรือไม่ ได้มีการตรวจสอบบางหรือไม่ หรือต้องรอให้เกิดวิกฤตสัตว์ต่างถิ่นรุกรานขึ้นมาก่อนค่อยเริ่ม 

ที่สำคัญ พรก.ประมง ปี2558ที่กำหนดให้ผู้ส่งออกแสดงแหล่งที่มานั้น การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาบอกว่า เป็นการส่งออกก่อนปีที่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ ยิ่งชวนสงสัยว่า ออกกฎหมายมาปี 2558 แต่ต้องรอบังคับใช้หลังปี 2559 เลยอย่างนั้นหรือ มีเหตุผลใดที่ต้องใช้เวลานานถึงปีกว่า จึงจะบังคับใช้กฎหมายได้ ถือเป็นสิ่งที่เชื่อได้ยาก เพราะหากทำตามกฎหมายตั้งแต่แรก ก็คงไม่ต้องมาถกเถียงเรื่องนี้กันอย่างทุกวันนี้ 

จากข้อมูล ข้อสงสัยดังกล่าว จึงต้องหาหลักฐานมายืนยันความถูกต้องก่อนถึงจะสิ้นสงสัย แต่การหาข้อมูลอาจทำได้ไม่เต็มที่ เพราะแต่ละคนก็ต้องระวังการให้ข้อมูล เพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบ หรือถูกตรวจสอบไปด้วย การบอกว่าไม่ทราบ ไม่เห็นว่ามีการเลี้ยงปลาหมอคางดำเป็นปลาสวยงาม เพราะสีไม่สวย จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ไม่ได้ยืนยันว่า ไม่มี เพราะอาจมีการเลี้ยงแบบไม่ได้เปิดเผย เช่น การนำมาผสมกับปลาสายพันธุ์อื่น เพื่อต้องการลักษณะเด่น เส้นสาย จุด หรือความต้านทานโรค มาเพื่อให้ตรงตามความต้องการตลาด ก็ถือเป็นอีกเหตุผลที่ต้องนำมาพิจารณาและเข้าไปตรวจสอบด้วย ซึ่งการตรวจสอบต้องใช้เวลา

แต่ที่ทำได้ทันที คือ การตรวจสอบกระบวนการหลบเลี่ยงเพื่อให้ส่งออกง่ายขึ้นนี้ เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการปัญหาปลาลักลอบนำเข้า และสัตว์ต่างถิ่นรุกรานได้อย่างแน่นอน 


กำลังโหลดความคิดเห็น