xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ ชี้ อย่าทิ้งประเด็น ส่งออกปลาต้องระบุแหล่งที่มา!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านสัตว์น้ำ ชี้ อย่าทิ้งประเด็น … ส่งออกปลา ต้องระบุแหล่งที่มา!


สมเจตน์ สุขมงคล ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านสัตว์น้ำ ระบุ  สังคมยังคงตั้งข้อสงสัย ในประเด็นปลาต่างถิ่นห้ามเพาะเลี้ยง แต่กลับมีการส่งออกได้ เรื่องนี้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบมีมาตรการควบคุมดูแลกำกับอย่างเข้มงวดหรือไม่ เพราะหากไม่มีกรณี “ปลาหมอคางดำ“ข้อมูลเหล่านี้ก็คงไม่ได้รับความสนใจ ทั้งที่เป็นสัตว์ต่างถิ่นที่พร้อมสร้างปัญหากับระบบนิเวศ

ประเด็นนี้ ต้องกลับมาพิจารณา พ.ร.บ.ประมง ปี 2558 ที่กำหนดให้ “ระบุแหล่งที่มาของการส่งออก” แต่ทั้ง 11 บริษัท ผู้ส่งออกปลากลับไม่ได้บอกว่า ปลาที่ส่งออกไปนั้นมาจากที่ใด ทั้งที่เป็นปลาต่างถิ่น แล้วนำมาเพาะเลี้ยงได้อย่างไร โดยไม่มีการขออนุญาตนำเข้า เกิดเป็นคำถามว่ามีการนำเข้ามาถูกต้องหรือไม่ ต่อมาในปี 2561 จึงมีประกาศ ห้ามเพาะเลี้ยง นำเข้า ส่งออก แล้วบริษัทผู้ส่งออกเหล่านั้น มีการทำลายปลาอย่างไร และได้นำส่งแก่หน่วยงานรัฐหรือไม่ แล้วมั่นใจการดำเนินงานของบริษัทเหล่านั้นได้อย่างไร

หากแต่ข้อสงสัยเหล่านี้ กลับไม่ได้รับความสนใจ จาก NGO ที่เกาะติด และพยายามหาต้นตอปัญหาเลย เพราะล็อกเป้าไปที่ผู้ขออนุญาตนำเข้าอย่างถูกต้องเท่านั้น โดยไม่มองความเป็นไปได้อื่น แต่กลับยอมรับเหตุผลว่า การส่งออกของ 11 บริษัท เป็นปลาชนิดอื่น ที่เจ้าหน้าที่ชิปปิ้งกรอกข้อมูลชื่อปลาผิดมาตลอด 4 ปี ในทุกรอบการผิด โดยไม่มีการตรวจสอบ หรือแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องใดๆ เลย

แม้แต่คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ยังอดสงสัยไม่ได้ เนื่องจากขณะนั้น ไม่มีชื่อเรียก ปลาหมอคางดำ กรมประมงแนะนำให้ใช้ชื่อ ปลาหมอเทศข้างลาย ซึ่งตรงกับชื่อส่งออกที่ระบุ เป็นปลาหมอเทศข้างลายเช่นกัน

แต่เมื่อถามบริษัทที่ส่งออก กลับได้คำตอบว่า เป็นการส่งออก ปลาหมอสีมาลาวี หมายความว่า การกรอกชื่อว่า ปลาหมอเทศข้างลาย มีโอกาสเป็นปลาชนิดใดก็ได้ที่มีลักษณะคล้ายๆปลาหมอ หรือ ปลาหมอเทศ แล้วจะเชื่อได้อย่างไรว่า ปลาที่ส่งออกไม่ใช่ปลาหมอคางดำจริงๆ ตราบใดที่ยังไม่มีการติดตามไปถึงปลายทาง หรือตรวจสอบย้อนกลับต้นทางได้เช่นนี้

วันนี้ไทย ยังมีปัญหาการรุกรานของปลาต่างถิ่นอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ปลาหมอบัตเตอร์ ชื่อสามัญ Zebra tilapia ชื่อวิทยาศาตร์ Heterotilapia buttikoferi มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา ที่พบการแพร่กระจายพันธุ์ในเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ปลาชนิดนี้มีนิสัยค่อนข้างดุร้าย กินได้ทุกอย่าง ทั้งไข่ปลา และลูกปลาชนิดอื่น ทำให้พันธุ์ปลาดั้งเดิมลดน้อยลง และเข้าไปแทนที่ปลาถิ่นบางชนิด อย่างเช่น ปลาแรด ดังนั้นปลาชนิดนี้ก็ถือเป็นอีกภัยรุกราน ที่ยังไม่มี NGO รายใด เข้ามาทำงานหาต้นตอ

จากการสอบถามชาวประมงในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า อาจมีผู้ประกอบการหรือมีนายทุนบางราย นำเข้าปลานี้ แล้วเอามาให้เกษตรกรเลี้ยงในกระชัง แล้วจะรับซื้อกลับ ไปขาย “เป็นปลาสวยงาม” ซึ่งในระหว่างการเลี้ยงอาจมีปลาหลุดออกจากกระชังไปสู่แหล่งน้ำ แม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดเป็นสัตว์น้ำห้ามนำเข้า ส่งออก หรือเพาะเลี้ยง มาตั้งแต่ปี 2561 โดยผู้ฝ่าฝืนมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ทุกวันนี้ปริมาณก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาการลักลอบนำเข้าปลาต่างถิ่น มาเพาะเลี้ยงแบบผิดกฎหมายมีอยู่จริง และหาต้นตอได้ยาก เพราะไม่มีรายงานข้อมูลการขออนุญาตนำเข้าเหมือนกับปลาหมอคางดำ

อีกชนิดคือ “ปลาหมอมายัน" (Mayan cichlid) ชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Mayaheros urophthalmus มีถิ่นกำเนิดในเขตพื้นที่น่านน้ำแอตแลนติกตอนกลาง ของประเทศเม็กซิโด เบลีซ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส และนิการากัว พบว่าเติบโตได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย กินลูกปลาและสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร มีนิสัยดุร้ายและหวงถิ่น โดยมีชาวประมงจับได้ในแหล่งน้ำสาธารณะไม่ต่างจากปลาหมอคางดำ ยิ่งตอกย้ำว่า การลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นมีอยู่ แต่ระบบการควบคุมของภาครัฐไม่เข้มแข็งพอที่จะป้องกันได้ และยังขาดการตรวจสอบที่เข้มงวด มิฉะนั้น คงไม่ปล่อยให้ปลาห้ามเพาะเลี้ยงมีการส่งออก ดังที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกราน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มจากดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่ปล่อยให้ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้น แล้วจึงแก้ไข ที่สำคัญต้องวางระบบการป้องกันการลักลอบนำเข้าสัตว์ต่างถิ่น และตรวจติดตามการส่งออกสัตว์น้ำ ทำตาม พ.ร.บ.ประมง ที่ต้องระบุแหล่งที่มาการส่งออกให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

บทความโดย 'สมเจตน์ สุขมงคล ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้านสัตว์น้ำ'


กำลังโหลดความคิดเห็น