เร่งตรวจสอบ 11 บริษัท ส่งออกปลาหมอคางดำ หวั่นปัจจัยเร่งการแพร่ระบาด ลงระบบผิดพลาดนาน 4 ปี จี้ภาครัฐ รีบหาต้นตอการแพร่ระบาด
ไศลพงศ์ สุสลิลา นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม เผย สังคมทั้งแปลกใจและตั้งคำถามหนักมาก หลังคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทาง แก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ เดินทางไปที่กรมประมง เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 และได้ข้อมูลใหม่ว่าบริษัทส่งออกปลาทั้ง 11 บริษัท จ้างบริษัทชิปปิ้ง เป็นตัวแทนทำเอกสารส่งออกและระบุชื่อภาษาไทยผิดทุกบริษัทอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปี โดยไม่มีใครรับทราบเรื่องนี้ ผ่านไป 7 ปี เรื่องนี้ถถึงถูกตีแผ่เพราะพาดพิงกับปัญหาระดับประเทศขณะนี้
จากบทสัมภาษณ์ของน.พ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ถึงข้อเท็จจริงการส่งออกปลาหมอคางดำเป็นปลาสวยงาม ช่วงปี 2556-2559 ไป 17 ประเทศ จำนวน 320,000 ตัว ว่า ได้รับข้อมูลใหม่ผู้ส่งออกปลาสวยงามทั้ง 11 บริษัท มีการชื่อปลาในระบบผิดพลาด โดยทุกบริษัทมีการว่าจ้างบริษัทชิปปิ้ง เป็นผู้จัดการเอกสารส่งออก และมีการลงระบบผิดพลาดเหมือนกันหมด เป็นเวลา 4 ปี โดยมีการระบุชื่อไทยเป็นปลาหมอเทศข้างลาย ชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron ชื่อสามัญ Blackchin tilapia แต่ในระบบของทางราชการมีการบันทึกแตกต่างกันดังนี้ ชื่อไทย ปลาหมอคางดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron ชื่อสามัญ Blackchin tilapia ซึ่งมีการตรวจสอบพบความผิดพลาดดังกล่าวตั้งแต่ปี 2560 ใครจะเชื่อ ผิดเหมือนกันแบบไม่มีผิดเพี้ยน และเหตุใดจึงไม่มีการทักท้วง...เชื่อว่าประธานอนุกรรมาธิการ คงสงสัยไม่เลิกเหมือนกัน
ด้านนายณัชฐา บุญไชยอินสวัสด์ ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ประเด็นการส่งออกปลาหมอคางดำ กรมประมง ให้คำตอบว่า ได้สืบค้นแล้วไป พบเอกสารสอบสวน ทั้ง 11 บริษัท ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ซึ่งช่วงนั้น ก็มีเรื่องการระบาด คล้ายๆ กับจึงมีขบวนการในการดำเนินการ ซึ่งผู้ส่งออกทั้งหมด ยืนยันว่าที่พวกเขาส่งออกไม่ใช่ปลาหมอคางดำ แต่เวลาส่ง ชิปปิ้ง ไปกดเลือก ไปเป็นปลาหมอเทศข้างลายและเลือกชื่อทางวิทยาศาสตร์ กับ ชื่อ ภาษาอังกฤษ ไปตรงกับปลาหมอคางดำ โดยทั้ง 11 บริษัท ให้ข้อมูลถึงใบขนส่ง ของกรมศุลกากรและพิกัดศุลกากร และส่งไปปลายทางที่เอามายืนยัน สุดท้าย ไม่ได้เป็นปลาหมอคางดำและมีระบุว่าปลาหมอคางดำ ไม่มีความสวยงาม ไม่สามารถส่งออกเป็นปลาสวยงามได้ แต่บริษัทส่งปลาหมอสีมาลาวี และ ปลาหมอโทรเฟียส ซึ่งกรมประมงพิสูจน์และนำเอกสารทั้งหมดมาเทียบแล้ว เป็นความจริงและลงบันทึกว่า ปลาที่ส่งออก เป็นปลาหมอสีมาลาวี และ ปลาหมอโทรเฟียส เป็นลงบันทึกผิดในระบบเท่านั้น...คำชี้แจงนี้ สังคมเชื่อยาก แปลว่ามีการชิปปิ้งเพียงบริษัทเดียวดำเนิน ถ้าจริง ทำไมการตรวจเอกสารไม่ผิดสังเกตุ
จากข้อชี้แจงดังกล่าวข้างต้น คำถามคือภาครัฐได้เดินทางไปตรวจสอบปลาที่ปลายทางว่าเป็นปลาตามที่บริษัทส่งออกระบุไว้หรือไม่ และเมื่อแจ้งส่งออกเป็นปลาหมอเทศข้างลาย แต่ท้ายที่สุดยืนยันเป็นปลาหมอสีมาลาวีและปลาหมอโทรเฟียส ความจริงของข้อสรุปนี้คืออะไร และผ่านมา 7 ปี ความจริงนี้เพิ่งถูกเปิดเผย
สังคมควรพิจารณาที่ทั้ง 11 บริษัท พร้อมใจกันผิดพลาดเหมือนลอกข้อสอบกันมาเป็น บริษัทส่งออกปลานี้มีความรู้ดีเกี่ยวกับสินค้าที่ส่งออก เหตุใดจึงแจ้งชื่อภาษาไทยผิด ทั้งที่ ปลาหมอเทศข้างลาย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreochromis aureus ชื่อสามัญ คือ Blue tilapia และส่งออกปลาเป็นแสนตัว ทำกำไรเข้ากระเป๋าไปเรียบร้อย ถ้าไม่เกิดปัญหาการแพร่ระบาดขึ้นก็คงเงียบกริบ และกรณีนี้ “ความแตก” เชื่อว่ายังมีส่วนอื่นที่ทำผิดกฎหมายและความยังไม่แตกอีกจำนวนมากที่รอเวลาสะสางทั้งระบบ
การเพาะเลี้ยงปลาหมอสีคางดำในช่วงเวลาดังกล่าว แม้จะยังไม่มีกฎหมายห้ามเพาะเลี้ยง แต่เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ในปี 2561 ตัวเลขส่งออกก็หายไปด้วย ทำให้ยิ่งคลางแคลงใจว่าปลาที่ไม่ได้ส่งออกอยู่ที่ไหน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจจะเป็นอีก 1 คำตอบ ของการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ
ถึงวันนี้ กระแสสังคมต้องการหาต้นตอการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ เรื่องการส่งออกจึงจำเป็นต้องนำมาพิจารณาควบคู่กันไป เพราะทุกปัจจัยล้วนเป็นมูลเหตุของปัญหาได้ทั้งสิ้น เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างในกระบวนการยุติธรรม รับผลกำไรไปแล้วก็ต้องยอมรับผลของการกระทำด้วย
หวังว่าการตรวจสอบผู้ส่งออกปลาหมอคางดำ 11 บริษัท ควรจะเปิดเผยความจริงอีกด้านหนึ่งให้ประจักษ์ตามข้อเท็จจริงด้วยความโปรงใส่และรอบคอบโดยไม่ทิ้งประเด็นใดไป เพื่อยุติปัญหาที่ยังคงมีการตั้งคำถามกันต่อเนื่อง หาไม่เรื่องนี้ก็จะลากยาวต่อไปโดยไม่มีจุดจบ
บริษัทที่ส่งออกปลาหมอคางดำ 11 บริษัท ประกอบด้วย หจก.ฉาง ซิน เอ็นเตอร์ไพร์, หจก. ซีฟู้ดส์ อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต, บจก.นิว วาไรตี้, บจก. พี.แอนด์.พี อควาเรี่ยม เวิลด์ เทรดดิ้ง, บจก.ไทย เฉียน หวู่, บจก. แอดวานซ์ อควาติก, บจก.เอเชีย อะควาติคส์, บจก.หมีขาว, หจก. วี. อควาเรียม, บจก.สยามออร์นา เมนทอล ฟิช, และ หจก.สมิตรา อแควเรี่ยม.