xs
xsm
sm
md
lg

“คุณยายบุปผา” วัย 71 หัวใจแกร่ง ยึดอาชีพเก็บผักขายเลี้ยงลูกพิการ แม้ต้องเสี่ยงกับการปีนต้นไม้เก็บมะรุม-มะขาม ก็ไม่หวั่น!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2567 พาคุณผู้ชมไปที่ จ.อ่างทอง เพื่อรู้จัก “คุณยายบุปผา” หัวใจแกร่ง ที่แม้จะอยู่ในวัยชรา แต่มีความแข็งแรงคล่องแคล่ว ทำงานหาเลี้ยงลูกพิการด้วยอาชีพเก็บผักขาย แม้ต้องแลกกับความเสี่ยงจากการปีนป่ายต้นไม้ก็ตาม



ยายบุปผา แย้มเทศ แม้วันนี้จะอยู่ในวัย 71 แล้ว แต่ต้องเป็นเสาหลักทำงานหาเลี้ยงลูกและหลานอีก 3 ชีวิต ซึ่งมีทั้งคนป่วย คนพิการ และบกพร่องทางการเรียนนรู้

ก่อนหน้าที่สามีจะเสียชีวิตเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ยายบุปผาและสามียึดอาชีพทำนาเป็นหลักมาตั้งแต่ยังหนุ่มยังสาว ก่อนจะเป็นหนี้หลายแสนจากการกู้ยืมมาลงทุนเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว


“มีหนี้สินก็เอามาลงทุนทำนานั่นแหละ ปีนั้นเพลี้ยลง และปีนั้นน้ำท่วม (ถาม-คุณยายลองเล่าให้ฟัง หนี้มันเกิดจากอะไร?) เกิดจากเราต้องเอาเขามา ซื้อเขาปลูก แล้วเมื่อก่อน ค่าไถค่าอะไรมันถูก แต่เดี๋ยวนี้ไม่อย่างนั้น ค่าปลูกก็แพง ค่าไถก็แพง น้ำมันวิดน้ำก็แพง ค่ายาก็แพง และยาเมื่อก่อน ตัวเดียวมันใช้ได้หลาย เดี๋ยวนี้คุมไปอย่างหนึ่ง ค่าอะไรต่ออะไร (ถาม-ค่าใช้จ่ายสูง?) เพลี้ยลง (ถาม-ก็เลยเป็นหนี้ เป็นหนี้เยอะไหมตอนนี้?) 5 แสน (ถาม-กี่ปีแล้ว?) ก็ตั้งแต่ฉันอายุ 50 กว่าๆ ที่ลงมือทำนา”


“(ถาม-เขาไม่ยึดหรือนานขนาดนี้?) เขาก็จะให้ฉันขายที่อยู่นี่ ทีนี้ถ้าขายไปแล้วไม่หมดหนี้ โฉนดก็ต้องออกไม่ได้ ฉันก็ยังว่า ถ้าใครนั่นนี่ เอาที่ไป ฉันก็ไม่ได้ว่า เพราะทุกวันนี้ฉันก็อยู่ที่หลวง (ถาม-ขายเท่าไหร่อย่างนี้?) ฉันก็ว่าจะลอง 3 แสน 2 งาน (ถาม-หนี้ 5 แสน เท่ากับมูลค่าที่ดินต่ำกว่าราคามูลหนี้ ตอนนี้กังวลหรือคิดยังไงต่อไป?) ถ้าเขาจะยึด ฉันก็ต้องให้เขายึด ทำยังไงได้ เราไม่มีให้เขา (ถาม-แล้วที่อยู่อาศัยทุกวันนี้?) ที่หลวง (ถาม-ไม่ใช่ที่ดินที่เข้าจำนอง?) ไม่ใช่ เข้าจำนองอยู่โน่น นี่ที่หลวง อยู่ตั้งแต่ พ.ศ.2525 ก็ไม่รู้”


“(ถาม-แล้วสามีหรือคุณตาเสียไปเมื่อไหร่?) วันที่ 15 มิ.ย. 2565 จะ 2 ปีแล้ว (ถาม-จากเมื่อก่อนช่วยกันหา พอแกเสีย ทำยังไง?) ฉันก็ต้องเป็นหลัก เพราะตอนเขาอยู่ เช่านาทำ ก็ยังพอได้ แล้วเขาก็เฝ้าสวนที่หลานอยู่ ก็ยังได้ แล้วฉันก็รับจ้างเลี้ยงเด็กอีกคน เขาก็ให้เดือนละ 3,000 โน่นก็ 3,000 ฉันเลี้ยงเด็กก็ 3,000 พอสมทบกันได้ แล้วสามีเขาก็ไปรับจ้างหว่านข้าวหว่านปุ๋ย พอทำของตัวเอง แล้วก็ไปรับจ้างบ้าง แล้วเขาก็ปลูกผัก (ถาม-พอเขาเสีย เราปรับตัวยังไง?) จะปรับยังไง ชีวิตมันต้องสู้ไง”


เมื่อสามีเสียชีวิต ยายบุปผาต้องเป็นเสาหลักหารายได้ดูแล “สมคิด แย้มเทศ” ลูกชายวัย 50 กว่า ที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนจนกลายเป็นผู้พิการ ไม่สามารถทำงานได้

สมคิด ยอมรับว่า ปัจจุบันร่างกายมีสภาพอ่อนแรง“(ถาม-แขนขาเป็นยังไงบ้าง?) อ่อนแรง (ถาม-ข้างไหนที่อ่อนแรง?) ข้างขวา (ถาม-ตั้งแต่อายุเท่าไหร่?) 21”


ขณะที่ยายบุปผา ผู้เป็นแม่ เสริมว่า อุบัติเหตุครั้งนั้นกระทบต่อสมองของลูกชาย“มันสะเทือนแกนสมอง ความจำเขาจะแค่ 80 ผ่าก็ไม่ได้ ต้องกินยาละลาย (ถาม-แสดงว่าเป็นอุบัติเหตุที่แรงมาก?) คนขับตาย มาเร็ว คนขับก็จะเมาๆ ด้วย ก็ไม่รู้ เป็นรูไปเลย นี่หัวเขาไปโขกกับปูนที่เรียงไว้”

ไม่ใช่แค่ลูกชายที่ยายบุปผาต้องดูแล แต่ “ทองสุก แย้มเทศ” ลูกสาวคนโตของยายบุปผา พร้อมด้วยลูกชายที่สมองบกพร่องการเรียนรู้ ยังย้ายมาอยู่กับยาย หลังสามีเสียชีวิตไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว


“แต่งงานตอนอายุ 26 พ.ศ.2539 แล้วก็ย้ายไปอยู่บ้านสามี เพราะสามีก็มีพี่สาวคนเดียว ไม่มีแฟน และมีแม่คนเดียว หนูไปอยู่เป็นเพื่อนเขา 3 คน (ถาม-แล้วมีลูก?) มีลูกชายคนเดียว (ถาม-เป็นยังไงบ้างลูก?) ลูกชายก็สมาธิสั้น ความจำสั้น อารมณ์รุนแรง (ถาม-ตอนนี้เขาอายุเท่าไหร่แล้ว?) 25 (ถาม-เรียนปกติไหม?) เรียนพอรู้เรื่อง จบ ม.3”


“(ถาม-พูดถึงภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตเขาไหม?) ก็ส่งผล เพราะเขาจะจำอะไรไม่ค่อยได้ บางทีพอเราสั่งไป พอไปถึงที่แล้ว เขาต้องโทรย้อนกลับมาว่า แม่สั่งซื้ออะไร อะไรเป็นอะไร (ถาม-ความคิดการตัดสินใจยังไม่ดี?) ไม่ดี (ถาม-ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่?) เป็น เราก็เตือนเขาว่า ให้พยายามฝึกฝน อดทน เพราะเขาจะเป็นคนอดทนน้อย (ถาม-หมอเคยแนะนำว่าต้องรักษายังไง?) เขาก็แนะนำว่าให้เอายามากิน แต่เขาก็ไม่ค่อยกิน เขาบอก กินแล้วมันก็ดื้อยา กินแล้วก็เหมือนเดิม เขาต่อต้าน แล้วอีกอย่าง เราไม่ได้ไปจุกจิก เขาอยู่โซนของเขาคนเดียว ถ้าไม่มีใครไปวุ่นวาย เขาก็ไม่ก้าวร้าวใคร”


ขณะที่ลูกชายบกพร่องการเรียนรู้ ตัว “ทองสุก” ผู้เป็นแม่ก็มีโรครุมเร้าให้ต้องกินยาอยู่ตลอด

“(ถาม-ในส่วนตัวพี่ทองสุก มีโรคประจำตัวเป็นอะไรนะ?) มีเบาหวาน ความดัน และไขมัน (ถาม-เบาหวานขึ้นระดับไหน?) ระดับบอกไม่ถูก มันต้องฉีด 200 ตอนไปหาหมอมันก็ 200 เมื่อเดือนที่แล้วไปหา ลดลงมาเหลือ 150 130 ต้องทานยาตลอด คุมจนกว่าเราจะเหลือประมาณ 120 หรือ 100”


“(ถาม-ทุกวันนี้ มันมีอาการที่รบกวนต่อการใช้ชีวิตไหม?) ก็มีถ้าวันไหนเรานอนน้อย พักผ่อนน้อย ก็จะมีเวียนหัว คลื่นไส้ ช่วงอากาศร้อนๆ อาเจียน เบาหวานมันพูดยาก ถ้าวันไหนเราไม่ได้ทานหวานหรือทานมากเกินไป มันก็จะมีอาการ แต่ถ้าเบาหวานตก ก็จะเหงื่อแตก ใจสั่น คลื่นไส้ อยากอาเจียน แต่ถ้าเบาหวานสูง เราก็จะฉี่บ่อย และเหนื่อย”


หลังสามีเสียชีวิต ยายบุปผาหารายได้ด้วยการเก็บผักเป็นหลัก แล้วให้ลูกสาวไปขายที่ตลาดแสวงหา (จ.อ่างทอง) ซึ่งการเก็บผักของยายแม้จะมีความถนัด เพราะเคยทำตั้งแต่ยังสาว แต่ก็มีความเสี่ยง เพราะต้องปีนต้นไม้เพื่อเก็บ เช่น มะขาม มะรุม มะม่วง เป็นต้น นอกเหนือจากเก็บฝักบัว งมไหลบัว


“ก็ออกไปเก็บฝักบัว งมไหลบัว ดอกบัว บางทีก็ไปเก็บผักบุ้ง ทีนี้จะไปแล้วมันไกลไง ต้องไปดอนทอง ไปอีกหมู่หนึ่ง”

“(ถาม-งานที่ยายทำดูเหมือนจะเป็นงานที่ผู้ชายในวัยหนุ่มทำ ยายยังมีแรงปีนต้นไม้ไปเก็บของ?) ใช่ (ถาม-ทำมานานแล้วยัง?) ก็ทำมาตั้งแต่ตายังอยู่ เก็บมะขามอ่อน แถวนี้ ขึ้นหมดทุกต้นมะขามนะ มะม่วงก็ขึ้น บางทีเขาเดินผ่าน ฉันอยู่บนยอด ทักเขา อยู่ไหนวะ เพราะต้นโน้นมันใกล้ทาง”


“(ถาม-อายุมากขึ้น กำลังมันไหวหรือยาย?) มันก็เหนื่อยบ้าง พอเราเหนื่อย เราก็หยุด เราก็ไม่ทุรังไง (ถาม-เคยหล่นบ้างไหม?) ไม่เคยหล่นนะต้นไม้ (ถาม-อยู่ข้างบน เคยคิดไหมถ้าหล่นจะยังไง?) ก็เคยคิด ถ้าหล่นให้ตายเลยนะ อย่าทรมาน เคยอธิษฐานไว้ ถ้าหล่น ขอให้ตายเลย เพราะถ้าทรมาน ไหนจะลูกอีกล่ะ (ถาม-ไม่กลัวลูกๆ เป็นห่วงหรือ?) เขาก็เป็นห่วง แต่ทำยังไงได้ เหมือนเราไม่ต้องไปซื้อเขาลงทุนไง เราไปเก็บของเราเอง”


ขณะที่ทองสุก ลูกสาว ยอมรับว่า แม่แข็งแรงกว่าตนมากที่ขึ้นต้นไม้ได้“เขาแข็งแรงกว่าหนูเยอะเลย ขึ้นต้นไม้ได้ แล้วเขาไม่มีโรคประจำตัว อย่างหนูต้องฉีดยาเบาหวาน เช้ากิน 2 เม็ด เย็นกิน 2 เม็ดหลังอาหาร และก่อนอาหาร เช้าเม็ด เย็นเม็ด และยาความดัน และยาไขมันก่อนนอน และก่อนนอนเย็นก็ต้องฉีดอีก 10 ซีซียาเบาหวาน”


ผักที่ทองสุกนำไปขายที่ตลาด ไม่ได้มีแค่ผักที่แม่เก็บเท่านั้น แต่ต้องซื้อเพิ่มบางส่วนด้วย

“(ถาม-ของที่ขายทุกวัน ที่ไปรับมาขายมีอะไรบ้าง?) ตอนนี้มีบวบ มะเขือยาว ดอกโสนที่ซื้อจากอ่างทอง ฝากเพื่อนแม่ค้าด้วยกันเขาไปซื้อ ส่วนรายได้ก็แล้วแต่บางวัน มันพูดยาก ถ้าขายดี เราหาเองได้เยอะ มันก็เยอะ 400-500 ถ้าเราไปรับผักเขามาขาย ก็ได้แค่ 200-300 กำไร เพราะช่วงนี้ผักแพง”


แม้อาชีพเก็บผักขายจะสร้างรายได้ไม่มากมาย และไม่เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยง 4 ชีวิตในครอบครัว แต่ยายบุปผายืนยันว่า ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

“(ถาม-ทุกวันนี้ รายได้อย่างนี้เอาไปใช้จ่ายเคลียร์หนี้ได้ไหม?) ไม่ได้เลย (ถาม-แล้ว 4 ชีวิต มันพอกับการใช้จ่ายไหม?) ไม่พอ ก็ประหยัดกันเอา จะทำยังไงได้ ดีกว่าเราไม่ทำอะไรเลย เราไม่สู้ จะมัวมาท้อแท้อย่างนี้ เป็นไปไม่ได้ เราต้องสู้ ในเมื่อชีวิตเรายังมีกำลัง เราก็ต้องสู้กันไป”


“(ถาม-บางครอบครัว ในวัย 60-70 อาจจะเริ่มพักผ่อนเลี้ยงหลาน?) เลี้ยงหลาน (ถาม-คุณยายยังต้อง?) ดิ้นรนไป (ถาม-ตากแดด ปีนต้นมะขาม เก็บไหลบัว?) วันนั้นไปเก็บฝักบัวตรงนั้น สามีเขาปลูกไว้เป็นล็อก ก็ไปบ่ายโมง เอาน้ำไปขวดหนึ่ง ร้อน กินน้ำซะหมดแล้ว เหนื่อยแล้ว ก็นั่งพัก พอนั่งพักสักพัก กลับบ้านเถอะ เพราะเดี๋ยวแข็งเด่อยู่ มันรกด้วยล็อกโน้น (ถาม-เหนื่อยไหมเวลาออกไปทำงานกลางแดด หรือต้องใช้แรงงานเยอะๆ?) ก็เหนื่อย ยอมรับว่าเหนื่อย แต่ก็ไม่ถึงกับนั่น พอรู้สึกว่าเหนื่อยมาก เราก็ต้องหยุด เพราะสังขารเราก็ป่านนี้แล้ว”

ด้านทองสุก อยากบอกกับผู้เป็นแม่ว่า“อยากให้เขาสุขภาพแข็งแรง อยู่ไปเรื่อยๆ ไม่อยากให้เขาเจ็บป่วย แต่ก็ไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาเมื่อไหร่ ก็อยากบอกว่ารักเขา ห่วงเขา แต่ก็ต้องสู้”


หากท่านใดต้องการช่วยเหลือปัจจัยในการดำรงชีวิตให้ครอบครัวยายบุปผา สามารถโอนไปได้ที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ชื่อบัญชี บุปผา แย้มเทศ เลขที่บัญชี 020-016-023-598

คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “บุปผาเหล็ก”
https://www.youtube.com/watch?v=OASKB2vzotY


ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos


กำลังโหลดความคิดเห็น