รัฐบาล - หอการค้าฯ ดันนครศรีฯ สู่เมืองหลัก ตั้งเป้า GPP โตเฉลี่ย 10% สอดคล้อง World Bank แนะถึงเวลายกระดับเมืองรอง เสริมเศรษฐกิจไทย
(นครศรีธรรมราช, 5 ก.ค.67) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยหลังลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ,นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อรับฟังแนวทางและข้อเสนอการยกระดับศักยภาพภายในจังหวัดของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งนำเสนอแผนผลักดันการท่องเที่ยว เพิ่มการจ้างงาน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดที่ 3 ของพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด ได้แก่ นครพนม ศรีสะเกษ แพร่ ลำปาง นครสวรรค์ กาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ตรัง และนครศรีธรรมราช ที่ได้ขับเคลื่อนไประยะหนึ่งแล้ว
สอดคล้องกับรายงานฉบับล่าสุดของ World Bank ที่ระบุว่าไทยเป็นประเทศแห่งการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันเมืองรองของไทยหลายเมืองมีศักยภาพและเป็นกุญแจสําคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน โดย Agoda ได้จัดอันดับจังหวัดที่ได้รับความนิยมด้านการท่องเที่ยว 5 อันดับแรก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี นครศรีธรรมราช นครนายก ราชบุรี และเชียงราย ซึ่งหอการค้าไทย ได้จัดทำ Happy Model ผ่านกิจกรรม 4 ด้าน ได้แก่ กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี และแบ่งปันสิ่งดีๆ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูง สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยวให้กับพื้นที่แต่ละจังหวัด สำหรับแผนขับเคลื่อนการยกระดับเมืองและกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของจังหวัด ผ่าน 3 แกนหลักสำคัญ ได้แก่ 1) Unlock Potential 2) การสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี และ 3) การช่วยเหลือเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
นายแพทย์พรหมินทร์ กล่าวว่า รัฐบาล ให้ความสำคัญกับแผนขับเคลื่อนการยกระดับเมืองและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายหลักสำคัญ 3 ประการ คือ 1) การร่วมมือกับภาคเอกชนที่ถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
2) เชื่อมโยงภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเจ้าของจังหวัดที่มีความเข้าใจในแต่ละพื้นดีเป็นอย่างดี
3) ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องการอำนวยความสะดวก ปลดล็อกข้อจำกัดในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบที่ล้าสมัย ให้เศรษฐกิจจังหวัดขับเคลื่อนได้ง่ายที่สุด
ดังนั้น การลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชครั้งนี้ ถือเป็นการมารวมตัวกันเพื่อกำหนดเป้าหมายและปลดล็อคศักยภาพที่มีอยู่ของจังหวัด ทั้งการเป็นแหล่งผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญอย่างยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล รวมถึงเป็นแหล่งผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้า GI คุณภาพ อาทิ เครื่องถมนคร ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง โดยใช้กลไกการทำงานของภาคเอกชนเข้ามาช่วยดูแลเรื่องของตลาด การลงทุน และกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ เพื่อยกระดับศักยภาพของจังหวัดให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ประกาศแผนพัฒนาจังหวัด 20 ปี สู่การเป็น “เมืองแห่งสุขภาพ การท่องเที่ยวครบวงจร ศูนย์กระจายสินค้า เกษตรที่ทันสมัยและยั่งยืน สังคมอุดมสุข” โดย นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และ นายประยูร เงินพรหม ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นตัวแทนในการนำเสนอโครงการ QuickWin ตั้งเป้าให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด หรือ GPP ของนครศรีธรรมราชเติบโตจาก 190,000 ล้านบาท ปี 2565 เป็น 286,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 (โตเฉลี่ยปีละ 8.4%) ซึ่งจะเร่งการเติบโตจากภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม พร้อมกับดึงการลงทุนมาที่จังหวัดเพื่อยกระดับเมืองและเศรษฐกิจจังหวัด
สอดคล้องกับ 3 แกนหลัก เมืองน่าเที่ยว – เมืองน่าอยู่ – เมืองน่าลงทุน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้ง Must see - Must Eat - Must Buy และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง การทำ SandBox อาหารทะเลแปรรูปและแช่แข็ง รวมถึงการยกระดับภาคการเกษตรแปรรูปที่ใช้นวัตกรรมสูง ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อทำให้ผลผลิตภาคการเกษตรเป็นไปตามหมาย
ทั้งหมดนี้ จะช่วยให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงในพื้นที่รองรับ Southern Economic Corridor (SEC) ที่ควรแตกต่างจากเขตพื้นที่การลงทุนพิเศษในภาคอื่น และมีส่วนช่วยดึงดูดแรงงานในพื้นที่ให้กลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัดต่อไป
ด้าน กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนและกำกับดูแลส่วนจังหวัด ได้สั่งการให้ทั้ง 10 จังหวัดวางแผนการขับเคลื่อนฯ ในการพิจารณาศักยภาพขอจังหวัดในทุกมิติให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) โดยกระทรวงฯ พร้อมให้การสนับสนุนและขับเคลื่อนการดําเนินงานของคณะกรรมการฯ ผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนจังหวัด (กรอ.จังหวัด) เพื่อให้เกิดความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่นๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์การขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเจริญมาสู่พื้นที่และยั่งยืน ต่อไป
สำหรับแผนขับเคลื่อนการยกระดับเมืองและกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืนในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด ได้เริ่มดำเนินการเปิดตัวไปแล้ว 3 จังหวัด ได้แก่ นครพนม กาญจนบุรี และนครศรีธรรมราช ซึ่งหลังจากนี้คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีกำหนดลงพื้นที่ 7 จังหวัดนำร่องที่เหลือ ได้แก่ จังหวัด ศรีสะเกษ แพร่ ลำปาง นครสวรรค์ ราชบุรี จันทบุรี และตรัง