รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “น้องบีม” เด็กกตัญญูสู้ชีวิต ขยัน และอดทน ช่วยยายปั่นจักรยานตระเวนขายผัก ตั้งแต่บ่ายถึงค่ำ หารายได้จุนเจือครอบครัว
“พ่อแม่เขาแยกทางกันตั้งแต่น้องยังแบเบาะอยู่เลย พอเลิกกันไป เขาก็ทิ้งเด็กไว้ให้”
ผลจากพ่อแม่แยกทาง ทำให้ “น้องบีม” ด.ช.นเรศ ทองอร่าม ได้รับการเลี้ยงดูจากผู้เป็นยาย “ใกล้รุ่ง มณเฑียรรัตน์” ซึ่งปัจจุบันพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ ที่ จ.สิงห์บุรี โดยมีลูกสาวคนเล็ก วัย 3 ขวบด้วยอีกคน
ด้วยฐานะที่ยากจน และต้องดูแลเด็ก 2 คน ยายรุ่งหรือป้ารุ่ง วัย 44 เลือกประกอบอาชีพด้วยการเก็บของเก่า และเก็บผักตามทุ่งริมทางขาย แม้แลกกับรายได้ไม่มากมาย แต่ช่วยประทัง 3 ชีวิตให้อยู่ต่อไปได้ในแต่ละวัน หากมีใครจ้างให้ทำอะไร ป้าก็ทำหมด
ลำพังบ้านที่อยู่อาศัยก็เล็กอยู่แล้ว แต่รอบบ้านยังเต็มไปด้วยถุงขยะถุงของเก่าที่ป้าเก็บมาสะสมไว้เพื่อรอการคัดแยกก่อนขาย ทำให้พื้นที่สำหรับเดินแทบไม่มี ขณะที่บ้านก็ดูทรุดโทรม ทำให้คุณภาพชีวิตการอยู่อาศัยค่อนข้างลำบากมาก
“(ถาม-สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างดูทรุดโทรมเหมือนกัน?) ค่ะ ก็ไม่ค่อยได้ซ่อมแซม และอีกอย่างเราเก็บของเก่าเนอะ เวลาเก็บมา เราไม่มีเวลาจะคัด เราก็จะปล่อยวางไว้ ใครผ่านไปผ่านมา โอ๊ย รกจัง ทำยังไงได้เนอะ ก็คนเดียว ไหนจะคัดของ ไหนจะหาผักเพื่อไปขาย ถ้าเราหยุดทำอย่างหนึ่ง ก็ต้องขาดรายได้ไป เด็กๆ ก็จะไม่มีอะไรกิน เพราะคัดของวันหนึ่งไม่เสร็จหรอก อาศัยว่า ไปหาผักขาย เพื่อให้เด็กๆ มีกินไปวันๆ แค่นั้นเอง”
“(ถาม-แล้วเคยขัดสนบ้างไหม ในแง่ของการหารายได้?) เคย เคยถึงขนาดว่า ข้าวเหลือแค่นิดเดียว แค่พอให้เด็ก 2 คนกิน เราก็ให้เด็กกิน เราไม่กิน อยู่ได้ ก็บอก หนูกินไปเถอะลูก แม่อิ่มแล้ว...”
ทุกเช้า ป้ารุ่งจะขี่รถมอเตอร์ไซค์พ่วงลูกและหลานไปเก็บผักตามท้องทุ่งริมทาง เช่น ผักบุ้ง สะเดา บางครั้งก็งมหอยเสริมด้วย หลังจากนั้น จะนำผักกลับมาคัด มัดเป็นกำ เพื่อสะดวกต่อการขาย โดยผักบุ้งขายกำละ 5 บาท สะเดา 3 กำ 20 บาท
น้องบีม แม้สมาธิสั้น แต่หัวใจกตัญญู อาสาช่วยยายตระเวนขายผัก!
“(ถาม-น้องบีมตอนนี้อายุ 11 เป็นยังไงบ้าง?) แกก็ช่วยงาน แต่เราต้องบอกแก เหมือนสมองแกช้า เป็นเด็กสมาธิสั้น แต่พูดคุยปกติ (ถาม-อันนี้ไปตรวจมาแล้วใช่ไหม?) ยังไม่ได้ตรวจ แกเป็นตั้งแต่เล็ก ตอนแรกยายชวดเขาเลี้ยง เขาให้ดูแต่โทรศัพท์ เด็กก็จะสนใจแต่โทรศัพท์ ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง (ถาม-เรียกว่าบกพร่องทางการเรียนรู้?) ใช่ (ถาม-แล้วเรียนหนังสือรู้เรื่องไหม อยู่ชั้นไหนแล้ว?) จบ ป.6 แล้ว เปิดเทอมจะขึ้น ม.1”
“แกชอบไปขายของ (ถาม-น้องอาสาเองเลยเหรอ?) ใช่ เขาอาสาเอง (ถาม-น้องบีมไปช่วยขายของตั้งแต่เมื่อไหร่?) ตอนนั้นอยู่ ป.5 แล้ว ยายชวดเสีย ตอนแรกยังไม่ให้แกไป ก็ไม่กล้าเหมือนกัน เพราะแกเป็นเด็กอย่างนี้ด้วย ...แกก็ว่า แม่หาผักมาดิแม่ แล้วแกก็ขี่จักรยานไปขายตามบ้าน พอขายปุ๊บ คนโน้นซื้อคนนี้ซื้อ แล้วได้ตังค์ แกก็ติดใจ ชอบไง พอเย็นกลับมาจากโรงเรียน เขาจะถาม แม่ วันนี้มีอะไรให้ไปขายบ้าง แกก็จะขี่จักรยานไปขาย”
น้องบีมสุดขยัน ปั่นจักรยานไปขายผักทุกวัน บางวันกลับดึก!
“ผมอยากขายของ เพราะยายเขาไม่ค่อยมีเงินเท่าไหร่ บางทียายไปเก็บของเก่า ก็ไม่มีเวลา ก็เลยคิดว่า ขายของช่วยยายดีกว่า (ถาม-บีมคิดเองเลยหรือ?) ครับ (ถาม-ไปขายที่ไหน) เมื่อก่อนก็แถวบ้าน เดี๋ยวนี้ไปตลาด (ถาม- ออกจากบ้านไปขายตั้งแต่กี่โมง?) ถ้าแม่กำผักเสร็จเร็ว ก็ประมาณบ่ายๆ (ถาม-แล้วช่วงที่บีมต้องไปโรงเรียนทำยังไง?) ผมกลับมาจากโรงเรียน ผมก็จะขายตอนเย็น (ถาม-วันไหนหมดเร็ว ก็กลับเร็ว วันไหนหมดช้า กลับดึก ดึกสุดนี่กี่โมง?) ก็แค่ 4 ทุ่ม (ถาม-แค่ 4 ทุ่ม โห ขยันจริงๆ เลย)
ความขยันและกตัญญูของน้องบีม ไม่เพียงส่งผลให้หลายคนที่พบเห็นช่วยกันอุดหนุนผักที่น้องขาย แต่บางคนยังเอื้อเฟื้ออาหารและน้ำให้น้องได้คลายหิวอีกด้วย
แม่ค้าส้มตำร้านหนึ่ง ซึ่งช่วยอุดหนุนผักที่น้องบีมมาขายทุกวัน ยอมรับว่า เห็นน้องปั่นจักรยานมาขายผักแล้ว อดสงสารไม่ได้
“สงสารเขาอะ เลยให้เขากินไก่ย่างข้าวเหนียวทุกวัน บางครั้งก็ซื้อเสื้อผ้าให้ (ถาม-ดูน้องบุคลิกนิสัยเป็นคนยังไง?) เขานิสัยดีนะ”
ขณะที่น้องบีมยอมรับว่า ลูกค้าบางคน แม้ไม่ซื้อผัก แต่ให้ตังค์น้อง 20 บาท แทนการซื้อผักก็มี
“(ถาม-บีมรู้ไหมว่าทำไมเขาถึงให้บีม?) รู้ ก็เป็นเด็กขยัน (ถาม-แล้วบีมขยันจริงไหม?) ครับ (ถาม-ทำไมบีมถึงขยันล่ะ?) ก็กลัวว่าจะไม่มีตังค์กิน (ถาม-กลัวไม่มีอะไรกิน แสดงว่า อยู่ที่บ้าน เคยขาดแคลนหรือไม่มีกินด้วยหรือ?) ยายเขาไม่ค่อยมีตังค์ซื้ออะไรให้น้องกิน (ถาม-แล้ววันหนึ่งเราขายผักได้ตังค์เยอะไหม?) ก็ 200-300 (ถาม-แล้วเงินได้มาทำอะไร?) ให้ยายหมด (ถาม-แล้วบีมไม่เก็บไว้กินขนมเลยหรือ?) ผมเอาแค่ 20 บาทพอ (ถาม-แล้วบอกยายว่ายังไง?) ยายเขาก็จะให้เอง (ถาม-แล้วบีมใช้หมดไหม?) ก็ซื้อน้ำ (ถาม-เวลาเราหาเงินมาได้ แล้วรู้สึกยังไงบ้าง?) ก็ดี (ถาม-ภูมิใจไหม?) ครับ)”
“(ถาม-ตอนนี้บีมอยู่กับยายมาก็หลายปีแล้ว รักยายไหม?) รักมากครับ (ถาม-ถ้าวันนั้นยายรุ่งไม่ได้รับมาเลี้ยง จะไปอยู่ไหนนะ?) ไม่รู้เหมือนกัน (ถาม-เวลาเห็นยายทำงานหนักๆ ตากแดด เคยเห็นเขาป่วยบ้างไหม?) มี เขาก็ปวดหัว เป็นโรคความดัน (ถาม-แล้วบีมบอกยายว่ายังไง?) ก็บอกให้เข้าบ้านก่อน (ถาม-ห่วงยายใช่ไหม?) ครับ”
ขณะที่ป้ารุ่งยอมรับว่า น้องบีมห่วงแม่กับน้องมาก“แกห่วง ถ้าเราเป็นอะไรปุ๊บ แกจะถาม แม่ไม่ไหวปะเนี่ย เดี๋ยววันนี้หนูไปแวะซื้อยามาให้ เราก็บอก ไม่ต้องลูก เดี๋ยวแม่ไปอนามัย ไปเอามาเอง ก็ไม่ให้แกซื้อมา พูดถึงเวลาแกไปขายของ มีใครเขาให้อะไร หรือแกซื้ออะไรมา แกนึกถึงน้อง ซื้อมาให้น้องกินให้แม่กิน แม่ นี่เขาให้ก๋วยเตี๋ยวมา หนูเอามาให้แม่ อันนี้ให้น้องนะ แกจะแยกมาเลย (ถาม-น้องมีความห่วงครอบครัว?) ใช่ แกห่วง”
แม้ไม่มีพ่อแม่อยู่เคียงข้าง มีเพียงยายที่น้องบีมรักเหมือนแม่ ความคาดหวังสูงสุดของน้องจึงอยากเห็นยายสบายและมีความสุข ซึ่งน้องบีมพร้อมจะสู้เพื่อยายต่อไปให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
หากท่านใดได้ผ่านไปแถวตลาดเทศบาลสิงห์บุรี แล้วเห็นน้องบีมปั่นจักรยานขายผัก ช่วยอุดหนุนน้องได้นะคะ
คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “บีม...กตัญญูสู้ชีวิต”
https://www.youtube.com/watch?v=Q27kMeSSFug&t=19s
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )
หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อhttps://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อhttps://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos