xs
xsm
sm
md
lg

“เอิร์ธ” แม้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ สู้รำเปิดหมวก หารายได้ดูแลแม่ป่วยและส่งตัวเองเรียน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปที่ จ.ชลบุรี เพื่อรู้จัก “เอิร์ธ” หนุ่มที่กายเป็นชายแต่ใจเป็นหญิง ไม่เพียงฐานะยากจน แต่ยังป่วยไทรอยด์เป็นพิษ สู้เรียนด้วยทำงานด้วย เพื่อหารายได้ดูแลแม่ป่วยและส่งตัวเองเรียน



ณัฐพงษ์ ทองนาค “เอิร์ธ” กับวัย 20 อาศัยอยู่กับแม่ที่ไม่เพียงฐานะยากจน แต่แม่ “วรรณวิษา สุขขจร” วัย 46 ยังมีปัญหาสุขภาพ ไม่ได้ทำงานมาหลายปีแล้ว


“ป่วยมา 5-6 ปีแล้ว เป็นไทรอยด์มีพิษ เป็นความดันสูง และเราไม่ได้รักษา พอเป็นพวกนี้ ก็เริ่มหัวใจเต้นผิดจังหวะ ลงหัวใจ เราไม่ได้รักษา ไม่ได้กินยา เรามารักษา มันช้าไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้ เหนื่อย นอนกลางคืนนอนราบไม่ได้ ต้องนอนพิงข้างฝา บางทีก็ไม่ได้หลับ กลางคืนก็นั่งพิง (แล้วช่วยเหลือตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน?) ถ้าเข้าห้องน้ำไม่ไหว ก็จะมีกระป๋องฉี่ลูกนึง กลางวันไปนั่งฉี่ และลูกจะเป็นคนเท”


“(ถาม-เมื่อก่อนทำงานอะไร?) ทำงานรับจ้างทั่วไป ใครจ้าง เราก็ทำ ตอนนี้ก็บอก เอิร์ธ แม่ไปสมัครงานตามโทรศัพท์ เขาเห็นสภาพแล้วเขาก็ไม่เอา วันนั้นไปทำมาวันหนึ่ง เขาบอก แม่ พรุ่งนี้ไม่ต้องมาแล้วนะ”


เมื่อก่อนพ่อเคยเป็นเสาหลักทำงานหาเลี้ยงครอบครัว แต่หลังจากพ่อเสียชีวิตเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เอิร์ธจึงต้องรับหน้าที่เสาหลัก ทั้งดูแลแม่และหาเงินส่งตัวเองเรียน ด้วยการรำเปิดหมวก


“คุณพ่อเสียไปแล้ว 2 ปีแล้ว คือเหมือนขาดเสาหลักไป เราไม่รู้จะตั้งต้นยังไง ไม่รู้จะทำยังไง แม่ก็ทำงานไม่ได้ ลูกก็ยังเรียนอยู่ ก็ขาดเสาหลักไป ตอนนั้นก็ยังทำใจไม่ค่อยได้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของงานรำ (ถาม-ไปฝึกที่ไหน?) ยูทูบ อย่างครูที่โรงเรียน มีคนรำเป็นบ้าง เขาก็สอนบ้าง”


“(ถาม-วันนั้นทำไมถึงมั่นใจว่าจะเอางานรำมาเป็นอาชีพในการเลี้ยงตัว?) ตอนแรกหนูไม่มีความมั่นใจเลย เราเป็นเพศสภาพที่เราเป็นผู้ชาย ความคิดตอนนั้นคิดว่าจะมีคนดูไหม ในเมื่อเราเป็นกระเทย หรือเป็นเพศที่สาม มันเหมือนตัวตลกของเขา ความมั่นใจเมื่อก่อนไม่มีเลย พอทำไปทำมา ก็มีคนบอกว่า ไม่ต้องอายหรอก งานนี้เป็นงานสุจริต เมื่อก่อนหนูอาย ตอนนี้คำว่าอายมันไม่มีแล้ว เราเอาความสามารถเราแลกเพื่อหาเงินเลี้ยงแม่เราดีกว่า”


“ตอนนี้หนูเรียนวิทยาลัย ตอนนี้อยู่ ปวช.2 สาขาการตลาด ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย อีก 1 ปีจะจบแล้ว (ถาม-จริงๆ น่าจะจบตั้ง 2 ปีแล้ว ทำไมเรียนช้า?) ตอนแรกหนูเรียนอยู่ที่หนึ่ง พ่อเป็นคนส่ง แล้วไม่ได้กู้เรียน พอพ่อเสียไป ตอนนั้นหนูอยู่ปี 2 จะปี 3 จริงๆ ตอนนี้หนูต้องอยู่ปี 3 แล้ว หนูจบแล้ว พ่อเสีย ไม่มีคนส่ง ตอนนั้นเลยต้องออกจากการเรียนชั่วคราว”


ไม่ใช่แค่แม่ที่ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษ แต่ “เอิร์ธ” ก็ป่วยเช่นกัน!

“เป็นไทรอยด์เหมือนกัน กรรมพันธุ์จากแม่ เป็นพิษเหมือนกัน ไม่สบายตัว มันเหนื่อย จะเหนื่อยก็เหนื่อยไปเอง (ถาม-ที่คอดูบวมๆ) เป็นไทรอยด์ หนูเป็นมา รู้ตัวตอนอายุประมาณ 17 (ถาม-3 ปี แล้วพบแพทย์หรือยัง?) พบทุกเดือน”


แม้จะได้สิทธิการรักษาจากภาครัฐ แต่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปหาหมอ ก็เป็นอุปสรรคสำหรับเอิร์ธและแม่เช่นกัน

“ตอนแรกหนูรักษา แม่หนูรักษาอยู่ รพ.ใกล้ๆ บ้าน แล้ว รพ.ใกล้บ้านเขาบอกว่า เครื่องมือเขาไม่พร้อม เขาเลยส่งไปในตัวเมืองชลฯ การเดินทางครั้งหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 400 บาท เพราะจะมีค่ารถ 120 บาท ไปกลับก็ 200 กว่า ค่ากินค่ายา รักษามานานแล้ว แต่รักษาไม่ต่อเนื่อง เมื่อก่อนพ่ออยู่ พ่อเป็นคนส่งหาหมอ ตั้งแต่พ่อเสีย หนูไปก็ไปไม่ได้ เพราะหนูยึดอาชีพรำ เพราะเงินแบบนี้ มันมีรายได้ไม่มั่นคง ถ้าวันไหนคนเยอะ ก็ได้เยอะ วันไหนคนน้อย ก็ได้น้อย (ถาม-ของเราไปหาหมอบ่อยแค่ไหน?) ของหนูเดือนละครั้ง (ถาม-จะไม่ตรงกับแม่?) ไม่ตรง”


ที่อยู่อาศัยทรุดโทรม หลังคาแตกรั่ว!

“(ถาม-นี่คืออะไรน้องเอิร์ธ?) ผ้าอุดรอยรั่วที่หลังคา เพราะฝนเวลาลง จะไม่ลงมาทีเดียว เมื่อก่อนพ่อยังขึ้นหลังคาพอซ่อมได้เปลี่ยนได้ ตอนนี้คานมันเก่า คานเป็นไม้มะพร้าว มันสร้างมานานแล้ว ฤดูร้อนกับฤดูหนาวจะไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่จะหนักฤดูฝน ที่นอนผมเปิดมา เหมือนฝนมันลง มันเป็นผ้า มันขึ้นแล้วขึ้นอีก ตอนนี้ขึ้นตะไคร่แล้ว หลังคาในห้องน้ำก็แตกเหมือนกัน เวลาปวดฉี่กลางคืน ถ้าฝนตก ก็นั่งไม่ได้”


อาชีพนางรำ ทำให้เอิร์ธค้นพบตัวเอง!

(ถาม-เครื่องแต่งกายสำหรับรำของเอิร์ธไปหามาจากไหน?) มีซื้อมาเองบ้าง และมีคนบริจาคบ้าง (ถาม-เวลาแต่งกายชุดไทยเป็นหญิงรู้สึกยังไงบ้าง?) รู้สึกดี รู้สึกมั่นใจในตัวเอง ภูมิใจตัวเองที่เป็นแบบนี้ เมื่อก่อนหนูมีแฟนเป็นผู้หญิงนะ เมื่อก่อนหนูเป็นชายแท้ ก่อนพ่อเสียประมาณ 1 ปี ก็เลยค้นพบตัวเอง (ถาม-เคยแต่งกายแบบอื่นไหมที่ไปรำ?) มีเป็นชุดจีนก็มี กี่เพ้าไปรำ รำไทเก๊ก งานสำคัญอย่างตรุษจีน หนูก็จะแต่งธีมจีนไป”


สมพร กิจดึง แม่ค้าตลาด 700 ไร่ ที่เอิร์ธไปรำเปิดหมวกหารายได้ คือหนึ่งในผู้มีพระคุณที่ช่วยให้เอิร์ธมีที่รำ

“เขามารำข้างๆ ร้านพี่ (ถาม-เห็นตอนแรกเป็นยังไงบ้าง?) ก็มีความรู้สึกว่า น้องคนนี้แปลกๆ แต่พี่ไม่รู้ว่าเขาลำบากขนาดนี้ไง แล้วพอตอนหลัง น้องไม่มีที่รำ พี่ก็หาล็อค จองล็อคให้เขา แต่คนจัดตลาดนัดเขาใจดี เขาไม่เก็บค่าที่น้องเขา น้องเลยมีที่รำ น้องไม่เคยขอความช่วยเหลืออะไรเลย คุยสนุกสนานตามประสาของเขาที่เขามารำ น้องก็ไล่ทักทายคนโน้นคนนี้ น้องเหมือนไม่มีความทุกข์เลยนะ อารมณ์ดี ไม่มีปัญหาอะไร การแสดงของเขาเหมือนปกติทุกอย่าง”


“ผลตอบรับถามว่าดีไหม ก็ดี ขึ้นอยู่กับวันมากกว่า วันไหนคนเยอะ วันไหนคนหยุดเสาร์อาทิตย์ อย่างเทศกาล คนก็จะเยอะหน่อย เราก็ยังพอมีรายได้ ยังมีคนมาคุยว่า รำอย่างนี้สวยนะ เขาไม่ได้รู้ชีวิตเราเป็นอย่างนี้ (ถาม-แล้วเวลาไปรำ เราต้องมีป้ายบอกหรือเขียนข้อความอะไรให้คนดูรับรู้ไหมว่า เรารำหาเลี้ยงครอบครัวนะ หรือเอารายด้ไปใช้ประโยชน์ทางไหน เช่น ทุนการศึกษา หรือดูแลครอบครัว?) ไม่ได้เขียน พอดีว่า ไม่ได้เอาครอบครัวหรือปัญหาครอบครัวมาเป็นจุดขาย แต่หนูใช้ความสามารถของหนูเป็นจุดขาย”


อยากทำงานตรงสาย เมื่อเรียนจบ!

“(ถาม-ถ้าไปเปิดหมวก 3 ชม.ได้เท่าไหร่?) มันขึ้นอยู่กับคนมากกว่า ถ้าเอาตายตัวเลยคือ วันละ 200 ได้น้อยสุด คือประมาณ 150 (ถาม-เงินที่ได้มา ส่วนใหญ่เราใช้จ่ายอะไรบ้าง?) ซื้อกับข้าวหมดเลย ซื้อข้าว ฝนตกบางทีไปรำไม่ได้ (ถาม-แล้วทำยังไง?) ร้านค้า ถ้าเราติดได้ อย่างวันนี้ฝนตก หนูก็ไปติดเขา เดี๋ยวพรุ่งนี้หนูรำ รำเสร็จ เอาตังค์มาให้ (ถาม-กรณีที่เขาจ้างไปงานแต่งงานศพ ครั้งหนึ่งได้รายได้เท่าไหร่?) กำหนดไม่ได้เหมือนกัน อย่างเจ้าภาพ หนูเคยรำ รำฟรีก็มี ไม่ค่อยมีตังค์ก็ยังให้ 300-400 ก็มี ถ้าคนมีตังค์หน่อย ก็ได้ซองเยอะหน่อย 500-600 บ้าง (ถาม-คิดจะปรับไปทำงานประเภทอื่นดูบ้างไหม?) หนูคิดอยู่ ถ้าหนูเรียนจบ หนูก็อาจจะไปทำงานที่ตรงกับสาขาหนู ถ้าจบแล้ว เขารับ ก็ทำ”


“(ถาม-พูดถึงอาการป่วยของเอิร์ธ หมอแนะนำไหมว่า อย่างเอิร์ธ กิจกรรมอะไรที่พอจะทำได้หรือทำไม่ได้) ปรึกษาคุณหมอ หมอก็บอกว่า จริงๆ รำก็ไม่อยากให้ทำ คือมันทำตลอด เหมือนกับว่า ถ้าเรายิ่งทำมาก มันจะเหนื่อย มันจะเสี่ยงหัวใจวายได้เหมือนกัน คือถ้ารำเพลงหนึ่ง หยุดเพลงหนึ่ง ค่อยๆ รำ ก็คือ จะทำได้ (ถาม-ต้องคอยระวังสุขภาพตัวเองตลอดเวลา?) ใช่ อย่างจะเดิน เดินมากก็ไม่ได้”


จะรำเปิดหมวก จนกว่าจะหางานที่มั่นคงได้!

“(ถาม-ในส่วนตัวเอิร์ธคิดว่าจะใช้วิชาชีพนาฏศิลป์ไปอีกนานแค่ไหน?) หนูจะทำจนกว่าหนูจะหางานที่มั่นคง สามารถหาเลี้ยงแม่ได้ (ถาม-สิ่งที่เราทำทุกวันนี้คิดว่าเราชอบไหม?) มีความสุขกับสิ่งที่ทำ (ถาม-ไม่คิดจะไปเรียนนาฏศิลป์หรือ?) เคยคิดว่าถ้าเราเรียนนาฏศิลป์ เราก็ยังต่อยอดเป็นครูได้ อยากเป็นครูนาฏศิลป์ที่เอาความสามารถไปสอนเด็กได้ ถ้าคุณแม่ยังสามารถเลี้ยงตัวเองได้ บ้านไม่พัง หรือตัวเองไม่มีภาระอะไร หนูก็จะเรียนนาฏศิลป์โดยตรง”


หากท่านใดต้องการมอบทุนการศึกษาและปัจจัยในการดำรงชีวิตให้กับเอิร์ธ สามารถโอนไปได้ที่ ธนาคารกรุงเทพ ชื่อบัญชี ณัฐพงษ์ ทองนาค เลขที่บัญชี 341-4-28339-4


คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “นางรำกตัญญู”
https://www.youtube.com/watch?v=YSKiVauxP9Y



ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos


กำลังโหลดความคิดเห็น