xs
xsm
sm
md
lg

“ช่างนัท” แม้ร่างกายพิการ แต่หัวใจกตัญญู ลุกขึ้นสู้ทำงานทุกอย่างเพื่อครอบครัว ก้าวข้ามทุกขีดจำกัด พลิกชีวิตจากเด็กยากจน สู่เจ้าของห้างทอง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผมโตมาในครอบครัวที่บ้านแม้แต่สังกะสีข้างฝาบ้านก็ยังไม่ครบด้าน ...มีอยู่วันหนึ่ง พ่อผมกินข้าว แกเอาพริกป่นกับน้ำปลาขยำข้าวกิน ..กับข้าวมีแค่ไข่เจียวใบเดียว ผมก็ถามพ่อ อร่อยไหม พ่อบอก โห อร่อย ชอบกิน ผมน้ำตาร่วงเลย ..เวลาผมอดหรือเราหิว เราไม่รู้สึกเสียใจ ..แต่เวลาเราเห็นคนที่เรารักหิวหรืออด เราจะรู้สึกเสียใจทันทีว่า เอ๊ะ ทำไมเราดูแลเขาไม่ได้”



สิวนัส แสงสำราญ หรือช่างนัท ย้อนภาพความจนของครอบครัว ที่พ่อแม่ต้องทำงานหาเลี้ยงลูกชาย 3 คน ซึ่งช่างนัท ลูกคนกลาง โชคร้ายที่เกิดมาพิการ ร่างกายมือเท้าและกระดูกสันหลังผิดรูปตั้งแต่เกิด โชคยังดีที่พ่อไม่ยอมให้หมอตัดขาลูก ทำให้วันนี้ลูกยังคงเดินด้วยขาของตัวเองได้ แม้เวลาเดินจะโยกเยก และอาจเสี่ยงต่อการล้มได้ก็ตาม


เมื่อลูกพิการ พ่อแม่จึงตัดสินใจไม่ส่งช่างนัทเรียนเหมือนลูกอีก 2 คน เพราะคิดว่า ถึงเรียนไป ก็คงไม่มีใครรับคนพิการเข้าทำงานแน่ พ่อแม่พร้อมสู้ดูแลลูกเอง โชคดีที่พี่น้องบ้านนี้รักใคร่กลมเกลียวกันตามที่พ่อแม่สอน “แมน” พี่ชายจึงช่วยสอนหนังสือให้น้องทุกวันที่กลับจากโรงเรียน ทำให้ช่างนัทสามารถอ่านออกเขียนได้ทุกอย่าง


“ผมสอนน้องตั้งแต่ผมเรียนประถมเลย อยากให้น้องอ่านออกเขียนได้เหมือนเรา ไม่ว่าเราทำอะไรได้ อยากให้น้องทำได้เหมือนกัน”

แม้ในยามที่พี่ชายเริ่มเรียนวิศวะแล้ว ก็ยังนำวิชาความรู้มาถ่ายทอดให้น้องชายเสมอเท่าที่โอกาสจะอำนวย ขณะที่ “มอส” น้องชายช่างนัท ก็เรียนดีไม่แพ้พี่ชาย เพราะสอบติดวิศวะเช่นกัน


ภาพความลำบากของพ่อแม่กับอาชีพรับจ้างเจียระไนพลอย ที่ต้องทำงานอย่างหนัก ตั้งแต่เช้ามืดยันดึกดื่น เพื่อแลกกับเงิน 300 บาท และกินอยู่อย่างขัดสน เพื่อส่งลูกเรียน 2 คน ทำให้ช่างนัทตัดสินใจทำทุกทาง เพื่อให้พ่อแม่ครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้น


“ตอนนั้นมีงานอะไร ผมทำหมด อะไรที่ทำแล้วได้เงิน ทำแล้วช่วยเหลือครอบครัวได้ ผมทำ ตอนแรกช่วยพ่อรับจ้างเจียระไนพลอยอยู่พักหนึ่ง รู้สึกว่าไม่เวิร์ค เพราะถ้าเราแก่ตัวอีกนิดเดียว สายตาเริ่มไม่ดี ทำไม่ได้เลยนะ เจ๊งเลย ผมก็เปลี่ยนมาขายของชำเล็กๆ น้อยๆ ก็เจ๊ง ก็ไปบ้านน้าที่กรุงเทพฯ เขาซื้อของเก่า ก็ไปช่วยเขาซ่อมพัดลมขาย เพราะชอบประดิษฐ์อยู่แล้ว เขาก็ให้เงินวันละ 100 วันละ 50”


ช่างนัทผ่านงานมาหลายอาชีพมาก เมื่อรู้สึกว่าไม่ใช่อาชีพที่จะทำให้ครอบครัวสบาย เขาจะมองหางานใหม่ กระทั่งวันหนึ่ง เขาสนใจอาชีพช่างตัดผม และมีญาติที่พร้อมจะสอนให้ เขาจึงตัดสินใจจะนำเงินคนพิการ 3,000 บาทที่ได้จากรัฐในปีนั้น ไปซื้ออุปกรณ์สำหรับตัดผม แต่แล้ว เหตุการณ์กลับพลิกผัน จนนำมาสู่จุดเปลี่ยนในชีวิต


“ผมไปกับน้าเพื่อหาซื้อปัตตาเลียน จังหวะที่จอดรถ แล้วเดินผ่านร้านเลี่ยมพระนั่นแหละ แว่บนั้นเลย คือจุดเปลี่ยนชีวิตของแท้เลย ผมรู้เลยว่า ถ้าผมตัดผม ฝีมือยังไง ผมก็เก็บหัวลูกค้าไว้ตัดพรุ่งนี้ไม่ได้ ตัดได้แค่วันบายวัน แต่ถ้าผมเลี่ยมพระ ผมรับงานได้เยอะ ผมเก็บไว้เลี่ยมพรุ่งนี้ได้ เก็บไว้เลี่ยมมะรืนได้ อันนี้คือความมั่นคง ถ้าผมรับงานไว้ 30 องค์ ผมเลี่ยมองค์ละ 1 วัน ผมมีงานทำแล้ว 30 วัน ช่างตัดผมทำไม่ได้ เปิดร้านมีงาน ปิดร้านไม่มี เปิดอีกที มีเปล่าไม่รู้ แต่พรุ่งนี้ผมมีงานแน่ ถ้าผมเลี่ยมพระ”


แม้จะคิดว่า การเลี่ยมพระเป็นอาชีพที่ใช่ แต่เมื่อความรู้ด้านนี้ไม่มี แถมร่างกายบกพร่อง การจะประกอบอาชีพนี้จึงไม่ง่าย

“ผมเดินเข้าไปถามร้านเลี่ยมพระเลย (ถาม-ไม่รู้จักเขามาก่อน?) ไม่รู้จัก (ถาม-ด้วยภาวะที่ร่างกายบกพร่อง?) ใช่ แบบนี้เลย ผมก็ถามเขา พี่ ซื้อพลาสติก (สำหรับเลี่ยมกรอบพระ) ที่ไหน ทำยังไง เขาตอบคำเดียวเลย ไม่รู้ ๆ (ถาม-ปฏิเสธเรา เรารู้สึกยังไง โกรธไหม?) เสียใจนะ ผมเคยคิดในใจว่า ถ้าผมเจอคนทุพพลภาพมาขออาชีพทำกิน ผมจะช่วยเขา ผมโดนปฏิเสธมาตลอด จนกระทั่ง ผมเดินหาจนเจอเองว่า มันมีร้านๆ หนึ่งที่ขายอุปกรณ์เลี่ยมพระ”


ช่างนัทต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ หลายด่าน กว่าจะสามารถเลี่ยมพระกรอบพลาสติกได้จนมีความชำนาญและมีลูกค้า ซึ่งรายได้จากการเลี่ยมพระของเขา ไม่เพียงช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัว แต่ยังช่วยส่งพี่และน้องชายเรียนอีกด้วย


หลังจากนั้นช่างนัทได้พัฒนาต่อยอดจากการเลี่ยมพระกรอบพลาสติก เป็นการเลี่ยมกรอบเงิน และหัดแกะลายจนมีความเชี่ยวชาญ กระทั่งสุดท้ายได้ยกระดับขึ้นมาเป็นการเลี่ยมด้วยกรอบทองคำ ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ ช่างนัทเริ่มเห็นแววความสำเร็จในอาชีพ แต่เขาต้องการตัวช่วย ซึ่งก็คือ พี่ชายและน้องชายนั่นเอง


“ผมเริ่มมองเห็นแล้วว่า ผมน่าจะหาเงินล้านได้ ตัดสินใจอย่างร้ายแรงวันนั้นคือ มอสลาออกเถอะ ไม่ต้องเรียน มาอยู่กับพี่ เดี๋ยวพี่จะทำให้น้องมีเงินล้านก่อนที่น้องจะเรียนจบด้วย แล้วผมก็โทรหาพี่ชายผม พี่แมน ลาออกเลย มาทำด้วยกัน ถ้าเจ๊งมาเจ๊งด้วยกัน พี่แมนยังมีความรู้อยู่ ไปทำใหม่ได้ วัดใจไหม ไม่มีเงินเดือนให้ แต่มาแบ่งรายได้กัน”


“(ถาม-กล้าพูดกับน้องชาย เดี๋ยวมีเงินล้านก่อนเรียนจบ?) ใช่ ทั้งที่ตัวเองก็ยังไม่มีเงินล้านนะ แต่ผมคูณจากค่าแรงผมและงานแต่ละวันที่ได้ และคิวที่รอเป็นเดือนๆ นี่คืองานทองคำแล้วนะ แต่สิ่งที่เราต้องการตอนนี้ คือทีมเวิร์ค คือ 1.แผนกไอทีเราไม่มี มอสเก่งเรื่องไอที ต้องมาช่วยพี่ทำ อย่างพี่ชายผมเปรียบเสมือนเป็นแขนขาแทนผม ผมวิ่งขึ้นล่องยาก ผมมีแค่หัวด้านช่างอย่างเดียว เรื่องตลาด มาร์เก็ตติ้งเป็นเรื่องน้องชายกับพี่ชายผม มาประสานมือกัน พี่ชายผมตัดสินใจเซ็นลาออกจากงานกับเงินเดือน 45,000 ของวิศวะ ส่วนน้องชายผม ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยปี 1 ย่างเข้าปี 2 ด้วยวิศวะเครื่องกล เขามีความรู้แล้ว แต่ไม่ได้มีใบรับรอง ผมรวมตัวกันทำร้านทอง ทำไม่ถึง 4 ปี ผมมีบ้านคนละหลัง มีเงินเก็บตามที่คิดไว้เป๊ะๆ”


ปัจจุบันร้านทองซึ่งช่วยกันดูแลโดย 3 พี่น้อง ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และยกระดับเป็นห้างทองเมืองสุพรรณ ซึ่งช่างนัทมีเป้าหมายจะขยายร้านให้ใหญ่ขึ้นและอาจมีสาขาเพิ่มขึ้น สำหรับจุดเด่นของสินค้าที่นี่ คือ งานวิจิตรศิลป์ และเรื่องเพชร รวมทั้งการออกแบบต่างๆ ที่คนอื่นคิดว่าไม่น่าจะทำได้ แต่ก็ทำได้ ซึ่งช่างนัทสามารถทำทุกขั้นตอนได้ด้วยตัวคนเดียว นอกจากนี้ที่ร้านยังมีลูกจ้างประจำหลายคนซึ่งช่างนัทถ่ายทอดวิชาให้แบบไม่กั๊ก ทั้งยังรักและดูแลแบบพี่น้อง


จากเด็กพิการยากจน มุมานะสู้ทำงานเพื่อครอบครัวมาจนถึงวันนี้ที่สามารถเป็นเจ้าของห้างทองได้ หากถามว่า ความสุขของช่างนัทตอนนี้คืออะไร?“สุขที่สุดตอนนี้ไม่ใช่ท้องเราอิ่ม แต่คือเห็นพ่อแม่เราสบาย”


หากท่านใดต้องการอุดหนุนหรือสั่งทำ งานทองคำและเพชรแท้ของช่างนัท แวะไปได้ที่ห้างทองเมืองสุพรรณ หรือติดต่อได้ที่เฟซบุ๊ก “ร้านช่างนัทสุพรรณ” หรือโทรไปได้ที่ 089-445-9384


คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “นักสู้...หัวใจกตัญญู”
https://www.youtube.com/watch?v=6iQMQLfjSYw&t=1029s


ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos






กำลังโหลดความคิดเห็น