รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปที่ย่านตลิ่งชัน กทม.เพื่อรู้จัก “ทองเอก” หนุ่มที่ถูกโรคคุกคามจนเดินไม่ได้ แต่หัวใจไม่ยอมแพ้ สู้หาอาชีพเลี้ยงตัวและแบ่งเบาภาระครอบครัวด้วยการทำขนมขายผ่านออนไลน์และมีร้านเบเกอรี่ของตัวเอง
ทองเอก ศรีวัชรินทร์ หนุ่มวัย 26 ผู้เคราะห์ร้ายป่วยด้วยโรคที่น้อยคนนักจะเป็นกัน จนมีภาวะอัมพฤกษ์อัมพาตป่วยติดเตียงเป็นเวลานาน แต่สุดท้ายก็ลุกขึ้นสู้ เพื่อให้ตนเองมีชีวิตที่ดีขึ้น
ช่วยครอบครัวทำงานตั้งแต่เด็ก!
“พื้นฐานครอบครัวไม่ได้มีเงินมาก ฐานะค่อนข้างกลางๆ ลงไป ตอนเด็กก็จะทำงานตลอด พอโตขึ้นมาหน่อยก็จะเริ่มฝึกทำสิ่งที่ทำได้ พวกทองหยิบ กองไข่ คือ แยกไข่ขาวกับไข่แดงออกจากกัน และทำพวกทองหยอด และเม็ดขนุน เม็ดขนุนจะพื้นฐานเลย เพราะต้องใช้แรง เด็กคือให้กวนเม็ดขนุน เหมือนคลุกคลีอยู่กับขนมพวกนี้ เลยมีความรู้ขึ้นมาบ้าง (ถาม-แล้วเรามีความคิดความฝันไหมว่า เราเติบโตมา เราอยากทำงานอะไร?) ผมอยากเป็นครู เป็นครูสอนภาษาไทย จะเรียนต่อนะ แต่เกิดเหตุก่อน”
ถูกโรคร้ายคุกคามอย่างฉับพลัน!
“เป็นโรคที่หมอก็หาสาเหตุไม่ได้ และน้อยคนที่จะเป็น 1 ใน 2 แสนคนที่จะเป็นโรคแบบผม โรค Guillain-Barre Syndrome (โรคที่เกิดจากการอักเสบเฉียบพลันที่เส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน จนเป็นอัมพาตได้) เริ่มเป็นโรคนี้ตอนอายุ 17 ขึ้น ม.6 ได้ 2 วัน คือไปเรียนกับเพื่อนๆ แต่ตอนนั้นหน้าจะเบี้ยว จะชาไปหมดแล้ว ชาปลายเท้าก่อน และค่อยๆ ลามขึ้นมาที่ต้นแขนและปลายมือ คือมันกินหมดเลย พลิกตัวเองไม่ได้ หันคอได้อย่างเดียว และมันก็กินมาเรื่อยๆ จนถึงระบบหายใจ ตอนนั้นหายใจยากมาก หายใจทิ้ง หายใจทิ้ง และต้องพยายามสูดเข้าไปให้ได้”
“คือนอนติดเตียงเลย ติดเตียงประมาณ 6 เดือน จะต้องมีคนพลิกตัวตลอด ต้องเปลี่ยนแพมเพิส คือช่วยเหลือตัวเองไมได้เลย นอกจากหายใจอย่างเดียว และต้องมีการป้อนข้าว พอหลังจากนั้นหมอเริ่มให้ฟอกเลือด ก็จะดีขึ้น แขนข้างซ้ายข้างขวาจะเริ่มขยับ ข้อศอกจะเริ่มกระดิกได้นิดหนึ่ง อันนี้คือความหวังเลยว่า มันเริ่มดีขึ้นแล้วนะ เราน่าจะดีขึ้น ยังไม่หวังถึงขั้นจะหายนะ เพราะหมอบอกว่า หายแต่อาจจะไม่ 100%”
ทองเอกยอมรับว่า ช่วงที่ป่วยติดเตียง ทุกข์ทรมานใจมาก แต่เมื่ออาการเริ่มดีขึ้น จึงมีกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อครอบครัว
“บอกเลยว่า ทรมานจิตใจมาก เพราะจากคนปกติต้องให้คน เป็นคนที่ต้องคอยดูแลคนอื่น กลับต้องให้คนอื่นมาดูแล มันก็รู้สึก มันพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ก็รู้สึกไม่อยากเป็นภาระคนอื่น มันเริ่มดีขึ้น ก็ยังนึกอยู่ว่า เราก็ยังมีแม่อยู่ ยังมีครอบครัวอยู่ ก็เลยอยากมีชีวิตอยู่ต่อ”
ใช้คำว่า “พิการ” เป็นแรงผลักดันให้สู้ชีวิต!
“(ถาม-ตอนนี้ทางการแพทย์เขาระบุว่าเราเป็นผู้พิการได้ไหม?) คือคำนี้ทำให้ผมมีทุกวันนี้ คำว่าพิการ เพราะว่าพิการ ถ้าพูดคำว่า พิการบ่อยๆ คนอื่นอาจจะฟังว่า ด้อยค่าตัวเอง ผมเลยเอาคำนี้มาเป็นแรงกระตุ้น แรงบันดาลใจเพื่อจะทำให้ชีวิตมันปกติ และจะทำให้ดีกว่าคนปกติ”
“จุดเปลี่ยนที่ทำให้ผมลุกขึ้นมานั่งเก้าอี้ได้ และใช้เก้าอี้ตัวนี้คือ จะไปอยู่กับบ้านป้า คือผมจะย้ายไปอยู่กับบ้านป้า และครอบครัวทางป้า จะไม่ให้ผมดูเหมือนคนที่นอนติดเตียง คือให้ผมนั่ง และให้ผมพยายามลุกขึ้น ลุกคุกเข่าให้ได้ หรือทำยังไงก็ได้ให้ขยับได้ ให้ยืน จนมองเห็นเก้าอี้ จะมีเก้าอี้ล้อเลื่อน เก้าอี้ออฟฟิศตัวหนึ่ง เขาก็ให้ผมขึ้นไปนั่งตัวนั้น อันนั้นคือสิ่งเปลี่ยนแปลงในชีวิตเลยว่า ชีวิตต้องใช้ตัวนี้เป็นขาหลักเคลื่อนที่ไปโน่นไปนี่”
ทองเอก พยายามใช้คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ขวนขวายหาความรู้ในโลกออนไลน์และพัฒนาฝีมือ เพื่อต่อยอดเป็นอาชีพ
“คือผมโชคดีอย่างหนึ่งที่มีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ซึ่งมีก่อนที่จะเดินไม่ได้แล้ว ก่อนที่จะพิการติดเตียง คือผมจะโฟกัสไปเลยว่า เกี่ยวกับออนไลน์ ทุกอย่างจะต้องผ่านออนไลน์ทั้งหมด ไม่ว่าจะการหาเงินหรือการใช้ชีวิต เราต้องออนไลน์ทั้งหมด เพราะโลกเดี๋ยวนี้อยู่ในออนไลน์หมดแล้ว มองไปที่การวาดภาพออนไลน์ คือใช้คอมฯ กราฟิก จะดูจากยูทูบหมดเลย จากคลิป จากวีดิโอหมดเลยว่าฝึก ฝึกทำจากตรงนั้นหมดเลย ตัดต่อวีดิโอ ตัดต่อเสียง และจะมีวาดภาพ ตัดต่อรูปภาพ และออกแบบโลโก้ ผมจะศึกษาจากยูทูบทั้งหมดเลย”
“(ถาม-แล้วเป็นยังไงสำหรับเส้นทางหรือทางเลือก ใช้ผลิตสื่อหรือศิลปะมาทางด้านออนไลน์) อันนี้ไม่เวิร์ค งานพวกนี้ต้องใช้ความชำนาญ มือโปรจริงๆ ถึงจะทำได้ แต่ผมในระดับพื้นฐาน อาจจะรับออกแบบ พอได้อยู่ แต่ช่องทางมันก็ไม่มี ก็ต้องยกเลิกไป คือเราคิดว่า ถ้าเราทำไม่ได้ ก็มองข้อดีของสิ่งที่เราทำไป อย่างน้อยเรามีความรู้นะ เรื่องเกี่ยวกับกราฟิก ถ้าวันหนึ่งเราจำเป็นต้องใช้ความรู้พวกนี้ เราสามารถหยิบดึงออกมาใช้ได้”
เมื่อยังไม่พบอาชีพที่ใช่ ทองเอกจึงตัดสินใจทำขนมไทย ที่ครอบครัวมีพื้นฐานอยู่
“ตอนนั้นผมจะทำ 1.พวกวุ้น วุ้นกะทิ และจะมีขนมหม้อแกง ถั่วกวน ถั่วกวนซึ่งมีพื้นฐานที่บ้านอยู่แล้ว เราแค่มาปรับสูตรที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา และเริ่มมาทำเป็นพวกขนมชั้น ขนมถ้วย ตะโก้ จะเริ่มฝึกทำ ดูจากคลิป (ถาม-จริงๆ ขนมพวกนี้ที่บ้านไม่ได้ทำ?) ไม่ได้ทำ แต่จะมีพื้นฐานอยู่แล้ว อุปกรณ์การทำ มีอยู่แล้ว เราก็เลยมองในเมื่อมีอุปกรณ์มีของอยู่แล้ว เราก็ทำตรงนี้ดีกว่า (ถาม-แล้วขายเป็นยังไงตอนนั้น?) ทำเสร็จก็จะฝากพ่อไปขาย ฝากพี่ไปขายตามตลาด”
“(ถาม-แล้วมันนำมาสู่การทำเบเกอรี่ได้ยังไง?) ขนมกะทิตอนนั้นมันเสียหาย ผมก็เลยมองแล้วว่า ถ้าขายตลาดแบบนี้มันก็ได้แค่วันต่อวัน บางทีก็ขาดทุน บางทีก็ได้กำไรเยอะ 100-200 ถามว่าอยู่ได้ไหม ถ้าวันหนึ่งพ่อเขาขายไม่ได้แล้ว แล้วจะทำยังไง เราก็ไปขายไม่ได้ ก็เลยมองว่า ต้องเจาะทางออนไลน์เหมือนเดิม ออนไลน์เราจะทำยังไงถึงจะขายของออนไลน์ได้ ซึ่งผมมองว่า เสื้อผ้าก็ไม่เวิร์ค เพราะต้นทุนสูงและคนๆ หนึ่งซื้อเสื้อผ้าวันหนึ่งก็เต็มที่ 2-3 ตัว และก็เว้นไปอีก แต่ขนม ผมมองว่า เอาอะไรก็ได้ที่มันเป็นสินค้าหมุนเวียน คือใช้หมดแล้ว จะต้องกลับมาซื้อเราใหม่ ผมเลยมองว่า เราทำขนม เราลองเปลี่ยนรูปแบบเลย จากขนมไทยมาเป็นคุ้กกี้บ้าง เพราะคุ้กกี้เก็บได้นาน บราวนี่กรอบเก็บได้นาน”
"(ถาม-ตอนนั้นพอทำคุ้กกี้ เราขายออนไลน์แล้ว?) ยัง ผมทำแล้วจะมีไปขายตลาด ตอนนั้นมีเค้กด้วย ฝึกทำทุกอย่างเลย จะมัดรวมความรู้เกี่ยวกับเบเกอรี่ทั้งหมด และมาทำทุกอย่าง มีเค้ก คุ้กกี้ และบราวนี่ (ถาม-ขายที่ไหน?) ตลาด ไปเอง (ถาม-ขายตลาดเป็นยังไงบ้างตอนนั้น?) แรกๆ ก็โอเค ส่วนใหญ่เขาจะซื้อด้วยความเห็นว่าเราสู้ชีวิต เห็นเรานั่งวีลแชร์ขาย เขาเลยช่วยซื้อไป และบอกว่า อร่อยนะ อร่อยเขาก็กลับมาซื้อ แต่บางคนเขาก็ไม่ชอบ เขาก็ซื้อครั้งเดียว และบวกกับช่วงนั้นโควิดด้วย ขายของแย่มาก ตอนนั้นเลยเลิกขายตลาดเลย”
“พอโควิดเริ่มซา เราจะมามองในส่วนของขายออนไลน์ คุ้กกี้เราทำอยู่ บราวนี่กรอบเราทำอยู่ แต่ขายแค่ 2 อย่าง มันดูน้อยไป เลยเพิ่มตัวอื่นขึ้นมา”
หลังขายผ่านออนไลน์ได้รับการตอบรับจากลูกค้า ทำให้ทองเอกเริ่มมีทุนที่จะทำตามฝัน คือการเปิดร้านเบเกอรี่ของตัวเอง ร้านทองเอก เบเกอรี่ ตั้งอยู่ที่ริมซอยสวนผัก เขตตลิ่นชัน กทม.
“ตอนนี้ถือว่าไปได้ดี เพราะไลฟ์ขายด้วย เดี๋ยวเปิดหน้าร้านด้วย ผมว่าน่าจะโอเค น่าจะเวิร์ค เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะชมนะว่า ขนมผมมันก็อร่อยในระดับหนึ่ง ไม่บอกว่าอร่อยมากดีกว่า แต่อร่อยในระดับหนึ่ง ผมไม่อยากให้มองว่า ช่วยซื้อเพราะสู้ชีวิตหรือพิการหรือช่วยเหลืออะไรแบบนี้ ผมไม่อยากให้มองแบบนั้น ผมอยากให้โฟกัสคุณภาพอาหารมากกว่า คุณภาพสินค้ามากกว่า แต่ถ้าใครที่จะมองแนวนั้นก็ อันนี้ต้องขอบคุณเพราะอย่างน้อยก็เป็นหนึ่งกำลังใจได้ คือผมอยากทำขนมที่มันอร่อยที่สุดให้กับลูกค้า เพราะอย่างเราถ้าไปซื้อไม่อร่อยมา กินแล้วมันก็เฟลเหมือนกันใช่ไหม แต่ผมจะเป็นคนที่ทำขนมแล้ว ใส่ใจจริงๆ ทำแบบจินตนาการเราเป็นคนทำกิน คืออยู่บ้านทั่วไป ซื้อวัตถุดิบมาทำกินเองเลย ถ้าเราทำกินเอง เราจะต้องทำให้มันเพอร์เฟ็กท์ที่สุด”
“(ถาม-ถ้ามองจากวันที่ล้มป่วย ต้องนอนติดเตียง แม่ต้องป้อนข้าวป้อนน้ำ วันนี้ทองเอกมีร้านเป็นของตัวเอง สามารถมีกิจการขายของหารายได้ด้วยตัวเอง เดินผ่านจุดนั้นมา รู้สึกยังไงบ้าง?) ภูมิใจกับตัวเองมาก เราไม่คิดเลยว่า วันหนึ่ง คือคิดเหมือนกัน ความฝันว่าอยากมีแบบนี้เหมือนกัน แต่ไม่คิดว่าจะทำได้ แต่พอลงมือทำ มันก็ลื่นไหลตามสถานการณ์ และสุดท้ายก็มีวันนี้ได้”
“ความฝันเป็นจริงใน 1 ก้าวแล้ว ก้าวต่อไปคือ เปิดโรงงานโปรโมตสินค้าให้คนรู้จัก อยากโปรโมตให้คนรู้จักมาก เพราะถ้าโปรโมตให้คนรู้จัก อย่างน้อยสินค้าเราก็ผ่านหูผ่านตา แล้วขนมเราก็มีคุณภาพในระดับหนึ่ง”
หากท่านใดต้องการอุดหนุนขนมของทองเอก เบเกอรี่ แวะไปได้ที่ริมซอยสวนผัก เขตตลิ่งชัน กทม. หรือโทรไปได้ที่ 080-014-1160
คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “ทองเอก...หัวใจไม่แพ้”
https://www.youtube.com/watch?v=2eB032vvGr4
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )
หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos