รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “พระอาจารย์แสนปราชญ์” เจ้าอาวาสวัดดังที่โคราช ผู้ก่อตั้งศูนย์พุทธวิธีดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะท้าย ใช้ธรรมะช่วยเยียวยาให้ผู้ป่วยสุขสงบ ไม่ทุกข์ทรมาน และพร้อมต่อการจากไปหากจิตสุดท้ายดับลง
พระอาจารย์แสนปราชญ์ ปัญญาคโม เจ้าอาวาสวัดป่ากรรมฐาน หรือวัดป่าโนนสะอาด จ.นครราชสีมา ไม่เพียงใช้ธรรมะในการดำรงตนในเพศบรรพชิต แต่ยังใช้ธรรมะในการช่วยเหลือพระสงฆ์ที่อาพาธ รวมทั้งผู้ป่วยระยะสุดท้าย ให้มีความสุขสงบในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต
“เราเห็นนักการเมืองที่เคยยิ่งใหญ่ที่เราเคยเห็นว่าเขาเก่ง เขาดี เราเห็นนายกรัฐมนตรี เราเห็นประธานาธิบดี... สุดท้ายความจริงสุดท้ายก็คือการตาย เพราะฉะนั้นมันต้องเกิดขึ้นกับเรา และเราก็ยังมีความรู้เรื่องธรรมะ ทำไมเราไม่เอาตรงนี้ไปช่วยคน”
เมื่อทุกชีวิตไม่สามารถหลีกหนีภาวะเกิดแก่เจ็บตายได้ ทำอย่างไรจะให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่หมอรักษาไม่ได้แล้ว ยังสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ไม่ทุกข์ ไม่ห่วงกังวลหากต้องจากโลกนี้ไป พระอาจารย์แสนปราชญ์ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องสติปัฏฐาน จึงตั้งศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายขึ้นภายในวัด
“ที่นี่ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยตับ ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตระยะท้าย เป็นต้น ดูแลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย”
“ศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ถ้าเริ่มต้นจริงๆ ก็เริ่มต้นตั้งแต่การได้ศึกษาเรื่องสติปัฏฐาน เป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าบอกว่า เป็นทางเดียวที่ทำให้พ้นทุกข์ คำว่า พ้นทุกข์หมายถึง หายป่วยได้ โดยไม่ต้องใช้ยา สติปัฏฐานจะอยู่ในตอนที่พระพุทธเจ้าประชวร จวนเจียรจะปรินิพพาน และไม่ได้บอกลาพระอานนท์ ไม่ได้บอกลาพระภิกษุสงฆ์ ก็บอกว่าไม่สมควรที่จะปรินิพพานตอนนี้ ปรินิพพานก็คือตาย พระองค์ก็ใช้สติปัฏฐานนี่แหละขับไล่อาพาธ หายป่วย ในพระไตรปิฎกมี เพราะฉะนั้นก็เริ่มต้นตรงนี้ว่า โรคที่รักษาไม่หาย โรคมะเร็ง ระยะที่ 4 รักษาไม่หาย โรคไต โรคตับ แล้วถ้าปฏิบัติสติปัฏฐาน ถ้าหายได้ มันน่าสนใจ มันเริ่มต้นจากแนวคิดความท้าทายตรงนี้เหมือนกัน”
“เริ่มจากได้มีโอกาสไปประชุมกับ รพ.มหาราช นครราชสีมา เขาประชุมคณะกรรมการพัฒนา รพ.มหาราช พอไป ตอนนั้นปี 2553 ก็เริ่มมีผู้ป่วยเยอะขึ้น ผู้ป่วยมะเร็งที่หมอรักษาไม่ได้แล้วเยอะขึ้น เมื่อประชุม เขาเสนอตรงนี้ขึ้นมา หลวงพ่อเลยบอกว่า ลองไหม ในเมื่อรักษาไม่หายแล้ว ก็เอาธรรมะ ก็คือ สติปัฏฐานแหละเอาไปใช้ดู ทุกวันพุธ หลวงพ่อจะไปเจอผู้ป่วย และไปเรียนรู้ผู้ป่วย ตั้งแต่เขาป่วย เขามารอฉายคีโม จนกระทั่งเสียชีวิต ตั้งแต่ปีนั้นมา เราก็ได้เรียนรู้ของจริงเลย และมาถึงตอนผู้ป่วย เราเห็นผู้ป่วยเสียชีวิต อย่างเคสหนึ่งคือ พอไปที่เตียง ก็บรรยายให้ฟัง พาสวดมนต์ แล้วก็หลับไปเลย เลยเป็นความรู้สึกว่า ได้ผล แต่อันนี้หมายถึง เราเห็นสภาพของการตายดี”
สร้าง “วิมาน” ให้ผู้ป่วยระยะสุดท้าย สวยงามดุจดังสวรรค์!
“ตอนนั้นหลวงพ่อเป็นพระธรรมดา ก็ไม่มีอะไร ก็ต้องหาที่ดิน เราไม่มีเงินซื้อที่ดิน แต่โชคดีมีลูกศิษย์เขาศรัทธา เขาเลยถวายที่ดินเมื่อปี 2558 แต่เราพอมีปัจจัยพอที่จะมาก่อสร้างได้ เรามาก่อสร้างได้ปี 2560 (ถาม-พื้นที่ของวัดมีขนาดไหน และจัดแบ่งพื้นที่อย่างไร?) ทั้งหมดมี 15 ไร่ แบ่งเป็นโซนของวัดครึ่งหนึ่ง และโซนของผู้ป่วย ซึ่งเป็นศูนย์พุทธวิธีดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและมูลนิธิพุทธวิธีดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยยากไร้ระยะท้าย แบ่งกันคนละครึ่ง แบ่งออกเป็นส่วนอีก ส่วนของพระสงฆ์ที่ปฏิบัติกรรมฐาน ก็จะเป็นกุฏิ พระสงฆ์อาพาธก็ส่วนหนึ่ง ส่วนของโยม ก็แบ่งเป็นผู้หญิงกับผู้ชาย และส่วนของผู้ป่วย จะแบ่งเป็นผู้ป่วยระยะท้าย เรียกว่า วิมานการตายดี (ถาม-สภาพเหมือนอยู่สรวงสวรรค์เลย อันนี้แนวคิดมาจากไหน?) ในทางพระพุทธศาสนา เราเชื่อว่า การตายดี คือการไปอยู่บนสวรรค์”
ดูแลผู้ป่วยด้วยธรรมะ-เสริมสร้างคุณค่าในตัวผู้ป่วย!
“เอาธรรมะเป็นหลักเลย เราไม่ได้มีความชำนาญเหมือน รพ. เราไมได้มีหลักทฤษฎีบริหารเหมือนเขา เพราะฉะนั้นเราเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าเลย ประชุมทุกวัน สวดมนต์นั่งปฏิบัติธรรม มีอะไรก็สอนกันในสมาธิ เขานั่งสมาธิ เราก็พูดไป เขาก็จำได้ง่าย และมาคุยปรึกษากันทุกวัน”
“ให้เขามีคุณค่า ถ้าเขามีคุณค่า เขาจะไม่ทุกข์ จากเหนื่อยก็ไม่เหนื่อย ให้นึกถึงตัวเรา เวลาเรามีสิ่งที่ทำแล้วชีวิตมีค่า มันไม่เหนื่อย ถึงเกิดโครงการอาจารย์ใหญ่ทางจิตวิญญาณขึ้นมา ของที่นี่อาจารย์ใหญ่ยังมีชีวิตอยู่ ศึกษาธรรมะ ฟังธรรมะ และพูดคุยกับคนมาเยี่ยม แสดงธรรมะให้กับพระสงฆ์ แพทย์ พยาบาล หรือออกรายการวิทยุ เพราะหลวงพ่อมีรายการวิทยุอยู่ และเราต้องให้เขาเห็นว่าเขามีค่าจริงๆ ไม่ใช่ไปหลอกเขา (ถาม-เอาอะไรไปถ่ายทอดให้เขา?) ประสบการณ์ชีวิต เป็นธรรมะหมด คนที่เคยกินเหล้าหัวราน้ำ ก็เป็นธรรมะ นี่ดูตัวอย่าง ฉันกินเหล้า ฉันเป็นโรคตับแข็ง ฉันเคยมีเงินมากมาย ฉันเสียเงินหมดทุกอย่าง เพราะฉันประมาทในชีวิต ฉันจึงเป็นมะเร็ง”
ปัจจุบัน ศูนย์พุทธวิธีให้การดูแลดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะท้ายอยู่ประมาณ 60 คน ซึ่งทุกคนจะได้รับการดูแลทั้งที่อยู่อาศัย ความเป็นอยู่ ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน
ผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายคนที่พักรักษาตัวอยู่ที่ศูนย์นี้ ต่างมีสภาพจิตใจดีขึ้น
อุบล นาคเฟือง ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ใช้ชีวิตอยู่ที่ศูนย์นี้ 3 ปีแล้ว“(ทุกวันนี้ยังมีอาการเจ็บป่วยอยู่ไหม?) ก็ปวดอยู่ ปวดทุกวัน มีไข้ด้วย (ถาม-มาอยู่ที่นี่ หลวงพ่อได้ให้แนวทางพุทธวิธีบำบัดยังไงบ้าง?) ใช้ธรรมะ อาจารย์บอกว่า ปวด ก็กำหนดรู้ พอเรากำหนดจิตได้ ความปวดก็เป็นรองเราแล้ว จิตเราไม่ยึดกับมัน (ถาม-ตั้งเป้าหมายยังไงต่อไป?) ก็อยู่กับธรรมะ ปฏิบัติไปเรื่อย จนกว่าจิตสุดท้ายจะดับไป (ถาม-ยังมีความกลัวอยู่ไหม?) ไม่มีความกลัว พร้อมที่จะเผชิญ”
ดวงพร มีโชคเสมอ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเช่นกัน“หนูป่วยเป็นเบาหวานตั้งแต่กำเนิด เจอตอนอายุ 6 ขวบ หนูเป็นเบาหวานในเด็ก ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ จึงเกิดโรคแทรกซ้อน 8 ขวบก็เป็นไทรอยด์ อายุ 25 ก็ตาบอดและความดันสูง พออายุ 27 หนูก็เป็นโรคไตและหูเสื่อม (ถาม-แล้วพอมาอยู่ที่นี่ เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจยังไงบ้าง?) มีสติปล่อยวางและยอมรับความจริงได้ ยอมรับสภาพตัวเองได้”
ขณะที่แม่ชีสมจิตร ไพกระโทก ผู้ป่วยระยะสุดท้ายอีกคน เผยเหตุผลที่ตัดสินใจมาอยู่ที่ศูนย์นี้ว่า“เหตุผลความทุกข์จากร่างกายที่ป่วยและหมอบอกว่า อาจจะหลับไปเลย จะไม่ตื่น อย่างลูกสาวน้ำตาลต่ำ ก็จะต้องเสียชีวิต ด้วยความยากจนของแม่ชีก็อยู่กันสองคนแม่ลูก อาชีพแม่ค้าขายของเล็กๆ น้อยๆ (ถาม-ตอนนี้ยังห่วงหรือกังวลอะไรไหม?) ตอนนี้หายกังวล เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันแล้วแต่เป็นวิบากกรรม สุขทุกข์เราทำมาเอง”
นอกจากใช้ธรรมะช่วยเยียวยาความทุกข์ให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายแล้ว พระอาจารย์แสนปราชญ์ยังจัดงานศพให้ผู้ป่วยยากไร้ที่เสียชีวิตอีกด้วย
“ที่ชัดที่สุดคือการเสียเงินทอง ที่เยอะมาก โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด เวลาตายทีหนึ่ง จะเสียเงินเยอะ บางทีที่เราใช้คำว่า คนตายเผาคนเป็น ตรงนี้จะเป็นปัญหาหนึ่งสำหรับคนตายไม่ดี เพราะถ้าไม่มีเงิน ลูกหลานจะเอาเงินที่ไหนเผาศพฉัน เพราะฉะนั้นเมรุนี้ออกแบบมาเพื่อ 1.ฌาปนกิจฟรี 2.ประโยชน์ที่จะได้จากการฌาปนกิจ เราก็ใช้ระเบียบวัฒนธรรมความเชื่อที่ว่า การส่งวิญญาณให้กับญาติ แต่เรารู้ว่า เราจะต้องให้ความรู้คนเป็น วิธีการคือ คุณมาเสร็จปั๊บ มาขอขมาลาโทษคนตาย และให้เขาได้พูด ได้เล่าถึงความรู้สึกเกี่ยวกับคนตาย นั่นคือเขาได้พูดธรรมะ ตรงนี้คนเป็นจะได้ปัญญา ส่วนการทอดผ้าพิธีต่างๆ เรามี และให้ทอดทีเดียวเลย”
16 ปีที่พระอาจารย์แสนปราชญ์ ได้ช่วยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีความสุขสงบในจิตใจ และมีความพร้อมกับการจากไปหากจิตสุดท้ายดับลง หากถามว่า สิ่งที่ได้ทำมาทั้งหมดบรรลุเป้าหมายหรือยัง? พระอาจารย์ บอกว่า“บรรลุเป้าหมายแล้ว เพราะเป้าหมายของเราคือต้องการนำคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ปรากฏเป็นรูปธรรม และสิ่งที่จะทำต่อไปในเมื่อเราบรรลุเป้าหมายแล้ว คือ จะทำใน 3 มิติ 1.มิติของการตายดีในพระพุทธศาสนา คือของศูนย์พุทธวิธีนี่แหละ ที่เราค้นพบมีอะไรบ้าง 2.มิติเรื่องของการแพทย์ มันบูรณาการเข้ากันยังไง 3.มิติเรื่องกฎหมาย มาตรา 12 ทุกคนมีสิทธิที่จะวางแผนล่วงหน้า ทำหนังสือแสดงล่วงหน้าว่า ฉันไม่ต้องการตายแบบทรมาน การตายดีที่ฉันต้องการคือ จิตไม่เศร้าหมอง”
“ชีวิตก่อนตาย ชีวิตใกล้ตาย ชีวิตกำลังจะตาย มันจะส่งผลถึงชีวิตหลังตาย เพราะฉะนั้นชีวิตก่อนตาย เราควรที่จะไม่มีทุกข์ อะไรที่เป็นทุกข์ให้วางซะ หลวงพ่อกำลังบอกว่า การที่เราจะวางแผนชีวิตก่อนตาย ใกล้ตาย กำลังจะตาย มันก็มีวิธีเดียวคือ ให้เริ่มฝึกสติให้ได้ก่อน”
หากท่านใดต้องการบริจาคเงินให้กับศูนย์พุทธวิธีดูแลพระสงฆ์อาพาธและผู้ป่วยระยะสุดท้าย โอนไปได้ที่ ธนาคารกสิกรไทย ชื่อบัญ วัดป่าโนนสะอาด เลขที่บัญชี 0-668-64089-3
คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “แสงสุดท้ายของชีวิต”
https://www.youtube.com/watch?v=QUWt3VgW3OQ
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )
หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อhttps://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อhttps://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos