xs
xsm
sm
md
lg

ครูโรงเรียนเล็ก แต่หัวใจใหญ่! แม้โรงเรียนยังขาดแคลน แต่ครูทำทุกทางเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 20 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปที่ จ.นครราชสีมา เพื่อรู้จัก “โรงเรียนวัดพะโค” ซึ่งแม้จะเป็นโรงเรียนเล็กๆ ที่ยังขาดแคลนสิ่งจำเป็นบางอย่าง แต่ครูที่นี่มีหัวใจที่พร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้เด็กๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขกับการเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้



โรงเรียนวัดพะโค เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ที่ ต.กระโทก อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ถึง ป.6 มีครู 4 คน ดูแลและสอนนักเรียน 44 คน สมัยก่อนโรงเรียนนี้มีนักเรียนเกือบร้อยคน ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทำให้เด็กที่นี่ลดลงเรื่อยๆ เช่น อัตราการเกิดของเด็กน้อยลง รวมทั้งมีโรงเรียนขนาดใหญ่ในพื้นที่ใกล้เคียง ผู้ปกครองที่มีความพร้อม จึงเลือกพาบุตรหลานไปเรียนที่นั่นแทน


พัชรากร ภิญโญ (ครูปุ้ย) รักษาการ ผอ.โรงเรียนวัดพะโค เผยเหตุผลที่ผู้ปกครองบางส่วนยังตัดสินใจพาลูกหลานมาเรียนที่โรงเรียนวัดพะโคว่า“สะดวกต่อการเดินทางมาส่ง คือ อยู่ในหมู่บ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่เขาก็จะมาส่งหรือบางคนเขาก็จะปั่นจักรยานมาเอง โดยไม่ต้องออกไปถนนไกลๆ”


เมื่อเด็กนักเรียนลดลง โรงเรียนจึงถูกจำกัดทรัพยากรต่างๆ ลงเช่นกัน ส่งผลให้คณะกรรมการศึกษาของโรงเรียนต้องบริหารจัดการเพื่อให้ครูที่มีอยู่ สามารถดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง

“ทางโรงเรียนเราก็ต้องสอนควบชั้น ครู 1 ท่านต่อ 2 ชั้นเรียน ครู 4 ท่าน คือ อนุบาล 2-3 ครู ป.1-2 และครู ป.3-4 และอีกท่านคือ ควบชั้น ป.5-6”


“(ถาม-ในแง่การบริหารจัดการปัจจุบัน ประสบปัญหาขาดแคลนอะไรบ้างไหม?) ถ้าถามว่าขาดแคลน เราก็ได้งบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการตามรายหัว ของเด็กนักเรียนจำนวน 44 คนนี้ ในการบริหารจัดการก็ขับเคลื่อนได้ แต่ไม่เยอะเท่าที่ควร ถ้าเราเปรียบเทียบกับโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ได้รับงบประมาณตามรายหัวเด็ก ถามว่าทำโครงการได้ เราก็ทำโครงการในงบประมาณที่เรามี อย่างโครงการที่เราจัดสรรให้แต่ละปีงบประมาณจะเป็นโครงการละ 1,000 บาท โครงการละ 500 บาท และทำได้ตามบริบทที่เรามี และขาดแคลนในส่วนนี้จะเป็นนักการภารโรงที่เกษียณอายุราชการไปเมื่อปี 2563 เราไม่มีนักการภารโรงมา 3 ปีแล้ว ในการดูแลบริเวณภูมิทัศน์โรงเรียน เราก็ได้ผู้นำชุมชนของหมู่บ้านพะโค ทั้ง 2 หมู่บ้าน มาช่วยเหลือ เกณฑ์ชาวบ้านมาดูแลและพระอาจารย์จะช่วยดูแลเดือนละครั้งในการตัดหญ้า ส่วนการทำความสะอาดทั่วไป จะเป็นในส่วนของครูกับนักเรียนที่ช่วยเหลือกัน ไม่ว่าจะเป็นการตัดแต่งกิ่งเล็กๆ น้อยๆ และการทำความสะอาดบริเวณ”


“(ถาม-ในแง่ของครูและความเป็นอยู่ของเด็กที่นี่ ความขาดแคลนมันสร้างปัญหาหรือส่งผลให้เราต้องพยายามแก้ปัญหาอะไรบ้าง?) เด็กโดยส่วนมากที่นี่ก็ขาดแคลนเยอะนะ เราก็หาทุนการศึกษาข้างนอก คอยซัพพอร์ตนักเรียน ก็มีหลายหน่วยงานเอกชนที่ช่วยเหลือในส่วนนี้ โดยเราจะส่งผลการเรียนของนักเรียนที่มีผลการเรียนดีแต่ยากจน และมีความประพฤติดีไปให้บริษัท บริษัทก็จะให้ทุนการศึกษามา”


แม้ครูโรงเรียนวัดพะโคจะมีน้อย แต่เมื่อทราบว่า เด็กบางคนฐานะครอบครัวยากจนลำบาก ครูก็พร้อมหาทางช่วยเหลือ ทั้งในแง่อาหารและทุนการศึกษา

ภัศราพร ประติสัตย์ (ครูเหม่ย) ครูผู้รับผิดชอบโครงการผักไฮโดรโปนิกส์ ของโรงเรียนวัดพะโค เล่าถึงเด็กยากจนที่ทางโรงเรียนให้การช่วยเหลืออยู่ว่า“จากการออกเยี่ยมบ้านของครู เป็นระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ครูก็ช่วยเรื่องของอาหารกลางวัน ส่วนอาหารที่เหลือจากเด็กๆ ที่เขาทานอิ่มแล้ว ครูจะห่อข้าวให้น้องกลับมาทานที่บ้านด้วย และเรื่องทุนการศึกษา ครูก็พยายามดูแล น้องได้ทุนของ กสศ.ด้วย”


เมื่องบที่ได้รับจากภาครัฐมีจำนวนจำกัด ครูที่นี่จึงพยายามทำโครงการ เพื่อให้นักเรียนมีอาหารเสริมเพิ่มเติม เช่น โครงการผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบจากบริษัทเอกชน

“ถามว่าเงินจากรัฐสำหรับอาหารกลางวันเด็กเพียงพอไหม ก็เพียงพอ วันละพันกว่าบาท เราก็ต้องบริหารจัดการให้เพียงพอให้ได้ เราก็ไปจ้างเหมาบุคคลข้างนอก คือรับทำอาหารไปเลย และทำมาให้เราเป็นหม้อไป และส่วนไหนที่เราอยากจะเสริมให้ เราก็ได้มาฟรี เราก็เสริมให้เด็ก อย่างเรามีโครงการผักไฮโดรฯ เราก็ทำ บางวันเช้ามา เราก็ได้เงินจากการขายผักในแต่ละรอบ 45 วัน ขายได้ กำไรก็ได้ไม่มาก ได้ประมาณพันกว่าบาท เราก็ไปซื้อขนมปัง แยม มัสตาร์ด และทำแซนด์วิชให้เด็กตอนเช้า และหลังจากที่เคารพธงชาติกัน เราก็ทำมาแล้วแจกเด็ก เพราะงบอาหารกลางวันจะเป็นอาหารกลางวันตอนเที่ยง ตอนเช้าบางทีนักเรียนบางคนเขาก็ไม่ได้ทานข้าวมาจากบ้าน”


ภัศราพร ประติสัตย์ (ครูเหม่ย) ครูผู้รับผิดชอบโครงการผักไฮโดรโปนิกส์ ของโรงเรียนวัดพะโค เล่าที่มาของโครงการนี้“เริ่มตั้งแต่ปี 62 โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชน เพื่อให้โครงการอาหารมีความยั่งยืนสำหรับเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่ขาดแคลน (ถาม-ทำไมถึงเลือกปลูกผักไฮโดรโปนิกส์?) เพราะ 1.ดูแลรักษาง่าย ที่สำคัญเด็กจะได้มีผักปลอดสารพิษทานในโครงการอาหารกลางวันด้วย (ถาม-เรื่องวิธีการการเพาะปลูก ใครเป็นคนคอยสอนหรือแนะนำเด็ก?) เริ่มแรกจะมีวิทยากรจาก มทส.(มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี) เข้ามาให้ความรู้ก่อน ทั้งครูและเด็กเลย ตอนแรกก็ไม่มีความรู้เลย พออบรมก็ได้ความรู้ และนำความรู้ที่ได้มาใช้ในโครงการนี้ได้ผล เด็กๆ สามารถปฏิบัติได้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกถึงขั้นตอนสุดท้ายของการเก็บผลผลิตเลย”


“(ถาม-ผักที่เราปลูกจะเป็นชนิดไหนบ้าง?) จะมีทั้งผักไทย ผักสลัด ที่เขาเรียกว่าผักนอก แต่ผักไทย เราไม่ทราบว่า โรงเรือนของเราเป็นยังไง เวลาปลูกผักไทยแล้วเพลี้ยจะลง เราเลยต้องสลับปลูกทั้งผักไทยและผักนอก เพื่อไม่ให้แมลง เหมือนมันเคย มันจะเข้ามาเรื่อยๆ เลยต้องสลับปลูกทั้งผักไทยและผักนอก”


“(ถาม-นอกจากบริโภคเอง การจัดจำหน่ายเราทำยังไง?) วิธีจำหน่าย เวลาผักจะตัด เราจะโพสต์ในเพจของโรงเรียนก่อน และจะมีผู้ปกครอง ชุมชน เข้ามาสั่ง และตัดให้ตามออร์เดอร์ที่เขาสั่งมา”


โครงการผักไฮโดรโปนิกส์ ไม่เพียงช่วยให้เด็กๆ ได้มีผักปลอดสารพิษรับประทาน แต่ความรู้ในการปลูกผักยังสามารถต่อยอดเป็นอาชีพให้เด็กได้ด้วย

“อย่างแรกเลยคือ ทั้งโรงเรียนเลยได้ทานผักปลอดสาร และเด็กที่มีความรับผิดชอบสูง ที่ดูแลโครงการนี้จริงๆ เขาจะได้มีรายได้จากการขายผัก ซึ่งครูจะแบ่งเงินตัวนี้เล็กๆ น้อยๆ ให้เขาเพื่อเป็นกำลังใจ ที่จะมาช่วยครูดูแลรับผิดชอบ และเด็กได้ความรู้จากกิจกรรม สามารถต่อยอดประกอบอาชีพที่บ้านได้เลย”


แม้โรงเรียนวัดพะโคจะเป็นโรงเรียนเล็กๆ แต่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ ถึงกับเคยได้รับรางวัล อย.น้อยดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข มาแล้ว

“เราได้รับรางวัลเมื่อปี 2562 ในช่วงที่ยังมี ผอ.และครูท่านที่ย้ายไป ท่านได้ทำคุณภาพ ดูแลเรื่องสุขลักษณะของนักเรียน อาหารการกินของนักเรียน ครูทุกท่านช่วยเหลือกัน จนได้รับป้ายนี้มา เป็นความภาคภูมิใจของนักเรียนจนถึงปัจจุบันนี้”


เครื่องกรองน้ำดื่มเก่าทรุดโทรม-ขาดแคลนอุปกรณ์กีฬา!

พัชรากร ภิญโญ (ครูปุ้ย) รักษาการ ผอ.โรงเรียนวัดพะโค เผยปัญหาใหญ่ของโรงเรียนในขณะนี้ว่า“น้ำดื่มที่นี่ เราได้รับบริจาคจากผู้ใจบุญมาตั้งแต่ 2561 เราก็ใช้เรื่อยมา และมีการเปลี่ยนตัวกรองเปลี่ยนอะไรบ้าง จนปัจจุบันนี้ มันเริ่มไม่ไหวแล้ว มันก็ทรุดโทรมไปเรื่อย เราก็อยากจะได้ส่วนนี้มาทดแทน ส่วนอุปกรณ์กีฬา ตอนนี้มีโกลฟุตบอลอยู่ 1 อันที่พัง รอซ่อม ตอนนี้ก็ยกไปที่โรงขยะด้านหลัง ซึ่งมันผุพัง ซ่อมๆ ได้ แต่ซ่อมแล้ว มันกลัวจะใช้ได้ไม่นาน เพราะตรงขา เหล็กผุหมดแล้ว”


แม้ครูแต่ละคนต้องทำหน้าที่หลายอย่าง แต่ครูภัศราพร ประติสัตย์ (ครูเหม่ย) ยืนยันว่า อยู่ที่นี่มีความสุข และครูก็เชื่อว่า นักเรียนที่นี่ก็มีความสุขเช่นกัน


“ถึงแม้ว่าเราปฏิบัติหน้าที่หลายอย่าง ก็เหน็ดเหนื่อยแค่ร่างกาย แต่ถ้าใจเราพร้อม มันก็มีความสุขได้ สำหรับเด็กที่นี่ เชื่อว่า เด็กอยู่ที่นี่มีความสุขแน่นอน เพราะสังเกตจากการมาเรียนของเขา บางคนป่วย ยังอยากมาโรงเรียน จนบางครั้งครูต้อง ไม่ไหว โทรตามผู้ปกครองให้มารับกลับบ้าน ข้อคิดในการทำงานของครูคือ ปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ว่ามันจะยากหรือเหน็ดเหนื่อยเท่าไหร่ ถ้าใจเราพร้อม เราก็สามารถทำทุกสิ่งให้มันผ่านไปได้ด้วยดี”


หากท่านใดต้องการช่วยเหลือ สามารถโอนเงินไปได้ที่ ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี เงินผ้าป่าเพื่อการศึกษาโรงเรียนวัดพะโค เลขที่บัญชี 344-0-80163-2


คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “ครูโรงเรียนเล็ก...แต่หัวใจใหญ่”
https://www.youtube.com/watch?v=teG4wekVz4I


ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos




กำลังโหลดความคิดเห็น