สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เดินหน้ายุทธศาสตร์ระยะที่ 4 ปี 2566 – 2570 ย้ำเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินของประเทศแข็งแกร่ง พร้อมรายงานสถิติเงินฝาก ณ สิ้น ส.ค. 66 พบจำนวนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครอง 93.46 ล้านราย โต 3.37% ขณะที่จำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 15.96 ล้านล้านบาท ลดลง 1.32% วางเป้าหมายการดำเนินงานปี 2567 ครอบคลุมความพร้อมทั้งการจ่ายเงินคุ้มครองที่รวดเร็ว ความต่อเนื่องของการให้ความรู้พื้นฐานเรื่องการคุ้มครองเงินฝาก เสริมสร้างสุขภาวะทางการเงินที่ดี ท่ามกลางความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงินในระดับบุคคล
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ Deposit Protection Agency (DPA) กล่าวว่า จากสถิติเงินฝากตั้งแต่ปี 2562 – ส.ค. 2566 พบว่า ถึงแม้จำนวนผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาทจะมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยในเดือน ส.ค. 2566 มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 4.45% แต่จำนวนเงินฝากกลับเริ่มมีการหดตัวตั้งแต่ปี 2565 -0.63% และในเดือนส.ค. 2566 -3.61% ในขณะที่ผู้ที่มีเงินฝากมากกว่า 50,000 บาทแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท มีการปรับตัวลงทั้งจำนวนเงินฝากและจำนวนผู้ฝากตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เป็นผลสืบเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบกับผู้ฝากที่มีเงินฝากไม่มากนัก จึงต้องนำเงินออมมาใช้จ่าย จนอาจทำให้สุขภาวะที่ดีทางการเงินอ่อนแอลงได้ หรือ แม้แต่ในกลุ่มผู้ฝากรายใหญ่ที่เริ่มมีตัวเลขเงินฝากลดลงในปีนี้ ซึ่งเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แรงกดดันจากภาวะสงคราม ราคาพลังงานปรับตัวสูง และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ของโลก ต่างกำหนดนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูง ส่งผลโดยตรงต่อการบริโภคและการลงทุน
จากรายงานข้อมูลสถิติเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 พบว่ามีจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง 15.96 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2565 จำนวน 212,688 ล้านบาท หรือลดลง 1.32 % สืบเนื่องมาจากปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ประกอบกับผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทนสูง โดยคาดว่าในปีนี้จะมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาพรวมสินเชื่อที่ยังเติบโตในกรอบต่ำ ขณะที่จำนวนผู้ฝากที่ได้รับการคุ้มครองมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 93.46 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 3.05 ล้านราย คิดเป็นการเติบโต 3.37 %โดยปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามที่กฎหมายกำหนด 1 ล้านบาท ยังคงสามารถคุ้มครองผู้ฝากเงินได้เต็มจำนวน ครอบคลุมผู้ฝากเงินรายย่อยส่วนใหญ่ของประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 98.09 %ของผู้ฝากเงินที่ได้รับความคุ้มครองทั้งระบบ
จากการติดตามสถิติเงินฝากและปัจจัยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ทำให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากต้องเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2566 – 2570) ในหลายเรื่อง รวมถึงการถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาให้เกิดความเข้าใจถึงการบริหารจัดการและแนวทางในการกอบกู้สถานการณ์เหตุการณ์วิกฤตสถาบันการเงิน
นอกจากนี้ สคฝ. ยังตอกย้ำวิสัยทัศน์การเป็นองค์กรคุ้มครองเงินฝากที่น่าเชื่อถือและทันสมัย พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและผู้ฝากเงิน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการจ่ายเงินคุ้มครองและชำระบัญชี รวมถึงสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาวะทางการเงินที่ดีให้กับประชาชน ด้วยความรู้ทางการเงินเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝาก โดยวางเป้าหมายการดำเนินงานปี พ.ศ. 2567 ที่สำคัญ อาทิ การประมวลผลข้อมูลผู้ฝากจากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากให้มีความถี่ขึ้นและความร่วมมือกับธนาคารเฉพาะกิจในการเป็น Paying Agent, การเตรียมกระบวนการด้านชำระบัญชีและบริหารสินทรัพย์ รวมถึงการพัฒนาสัญลักษณ์คุ้มครองเงินฝากให้ครอบคลุมการแสดงบนช่องทางบริการทางการเงินดิจิทัล และรองรับการจัดตั้งสถาบันการเงินในรูปแบบธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ฝากและประชาชนมั่นใจในสถาบันการเงินที่ผู้ฝากใช้บริการและเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงินของประเทศ
นายทรงพล กล่าวด้วยว่า การสื่อสารประชาสัมพันธ์ยังมุ่งเน้นเรื่องการเสริมสร้างทักษะทางการเงินให้กับผู้ฝากและประชาชนผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายนักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และหน่วยงานพันธมิตรในอุตสาหกรรมการเงินอื่นๆ อีกหลายแห่ง อาทิ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นต้น รวมถึงการผลิตบอร์ดเกม “Cash Up” สื่อการเรียนรู้ที่ให้ทั้งสาระและความบันเทิง ซึ่งจะช่วยนำพาความรู้ทางการเงินและการคุ้มครองเงินฝากให้สามารถเข้าถึงผู้ฝากและประชาชนได้ง่ายขึ้น โดยกลุ่มเป้าหมายหลักในเฟสที่ 1 นั้น เน้นที่ภาคการศึกษา ระดับมัธยมปลาย – อุดมศึกษา โดยสถานศึกษาที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรับบอร์ดเกมฟรี ผ่านช่องทาง Facebook ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก