รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2566 พาคุณผู้ชมไปที่ จ.สุรินทร์ เพื่อรู้จัก “ป้าจิ๋วหลิว” หัวใจแกร่ง สู้เป็นเสาหลักทำงานหลายอย่างหารายได้เลี้ยงลูกพิการและหลานวัยเรียนอีก 2 คน แม้สุขภาพเริ่มถดถอย พร้อมสู้เพื่อลูกหลาน
“ป้าจิ๋วหลิว” หรือป้านาง ฑีฆะวัฒน์ กับวัย 65 ยึดอาชีพแม่ค้าขายกาแฟโบราณเลี้ยงดูครอบครัวมาหลายสิบปีแล้ว แม้สังขารเริ่มร่วงโรย แต่ยังต้องทำงานหลายอย่าง เพราะมีหลายชีวิตให้ดูแล ทั้งลูกที่พิการติดเตียง และหลานวัยเรียนอีก 2 คน
“(ถาม-ป้าอยู่กับใครบ้าง?) มีลูกชาย 2 คน คนหนึ่งชื่อป๋อง อายุ 40 พิการติดเตียง วิ่งวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ส่งคนโดยสาร เกิดอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนเมื่อ 4 ปีก่อน ลูกคนเล็กชื่อปุ๊ก 39 ก็เลี้ยงลูก 2 คน ลูกกำพร้า เมียเสีย 2-3 ปีแล้ว หลาน 2 คน ชื่อ ข้าวปั้น กับปังปอนด์ ปังปอนด์อยู่ ป.6 ข้าวปั้นอายุ 16 แล้ว เรียน ปวช.ปีแรก (ถาม-แล้วสามีป้า?) เสียได้ 10 ปีแล้ว”
เป็นเสาหลักหารายได้เลี้ยงครอบครัว!
“(ถาม-ลูกชายที่ทำงานได้ทำงานอะไร?) เปิดร้านซ่อมรถอยู่กับบ้าน แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีงาน ถ้าว่างจากซ่อมรถ เขาก็ไปตกปลา ก็ได้มาตัวหนึ่ง เมื่อวานต้มไว้ก่อน บางทีฆ่าเสร็จก็เอาเข้าตู้เย็นไว้ ทอดให้หลานกิน ตั้งแต่เมียเขาเสียมา ก็ไม่ได้ทำงานประจำ (ถาม-ไม่คุยกับลูกหรือใครจะเลี้ยงหลาน?) คุย ก็บอกพี่ ถ้าไม่มีแม่จ๋าคนหนึ่ง ใครจะดูลูกเอ็ง เอ็งทำไมไม่ไปหางาน หาอยู่ แต่มันไม่ค่อยมีงาน (ถาม-จบด้านไหน?) ช่างยนต์ (ถาม-ช่างยนต์ด้วย แต่ตกงาน?) เลยเปิดร้อนซ่อมรถอยู่บ้าน แต่ไม่มีคนมา”
“(ถาม-ป้าขายของตั้งแต่กี่โมง?) แล้วแต่ป้อนข้าวลูกเสร็จ ก็ออกไปแล้ว (ถาม-รายได้ดีไหมที่เราทำ?) บางวันก็ได้ 500 กว่า ประมาณ 500-600 (ถาม-หักต้นทุนแล้วเหลือเท่าไหร่?) มันไม่เหลือหรอก ป้าเอารายวันด้วย เป็นหนี้ เอาเขามาหมื่นหนึ่งและพันหนึ่ง เอามาพอได้ซื้อของ และให้ค่างวดรถหลาน (ถาม-ค่าใช้จ่าย หมดไปกับเรื่องอะไรมากที่สุด?) ส่วนใหญ่ซื้อแพมเพิสกับข้าวสาร กับข้าว หลานไปโรงเรียนแค่นี้ อย่างยายก็ไม่กินข้าวเท่าไหร่ ห่อเอาข้าวเปล่าไป บางทีก็ทอดไข่ บางทีก็ต้มไข่ ให้หลานกินอิ่มก่อน”
แม้วันฝนตก ก็ไม่หยุดขายของ!
“ฝนตกก็อยู่บนซาเล้ง ไม่มีที่หลบ (ถาม-กลับมาบ้านไหม?) ไม่กลับ ออกไปชุดนี้ก็ชุดนี้เลย ค่ำถึงเข้าบ้านทีเดียว ถ้ามัวแต่เปลี่ยน จากบ้านไปโน่นก็ไกล ก็เหนื่อย น้ำมันรถเราอีกล่ะ ก็ต้องอดทนไง"
“ไปขายก็เข้าโรงเรียนเทศบาล บ่ายก็โรงเรียนเทศบาล ก็ไปขายน้ำ แก้วละ 5 บาทให้เด็กน้อย (ถาม-การขี่รถไปขายกาแฟ บางอย่างต้องใช้กำลัง มีอะไรที่รู้สึกว่าเกินกำลังไหม?) แต่ก่อนขาย ก็ไม่ได้จ้างเขานะ เรายกได้ พอแม่ล้มมาปุ๊บ จ้างเขาวันละ 100 ช่วยขาย)
สุขภาพถดถอย หลังเลือดออกในสมอง!
“ตั้งแต่ใส่ขดลวดสมอง มันก็เหนื่อยอยู่ (ถาม-ใส่ขดลวดทำไม?) วูบในห้องน้ำ เลือดออกในสมอง เส้นเลือดใหญ่สมองโป่งพอง หมอบอกว่า มีเลือดออกในสมอง เขาก็ส่งไปสุรินทร์ สุรินทร์ก็ส่งไปขอนแก่น (ถาม-แล้วอาการเป็นยังไงบ้างตอนนี้?) มันก็เหนื่อยง่าย และชอบปวดแต่หัว ความจำไม่ค่อยดีเหมือนเก่า จะจำอะไรก็ไม่ค่อยได้ เราเครียด หมอบอกยายอย่าเครียดเด้อ ถ้ายายเครียดปุ๊บ ถ้ายายเป็นความดัน ขดลวดที่สมองยายก็จะหลุดมาที่หัวใจยาย หรือไม่ยายก็จะพิการ ถ้าปวดหัวมาก ยายก็ไป รพ. ไม่มีอะไร พาราฯ กิน”
ไม่อยากเป็นอะไร กลัวไม่มีใครดูแลลูกพิการ!
“(ถาม-ตอนนี้ป้าเป็นกำลังหลักคนเดียวที่หาเงินได้ คิดว่าทำงานแบบนี้ได้อีกนานแค่ไหน?) ยังไม่รู้ อย่าให้ยายล้ม อย่าเพิ่งให้ยายเป็นอะไร ถ้าเป็น ก็ให้เขาจบ หากินเลี้ยงตัวเองได้ก่อน ยายกลัวแค่นี้แหละ กลัวตัวเองจะล้มไปเลย ถ้าไม่ไปเลย ถ้าพิการ แล้วใครจะดู ไม่ใช่มองตาลูกกับแม่มองกัน ใครจะมาป้อนข้าว ก็คิดมากอยู่ แต่คิดมากก็ปวดหัว ออกไปข้างนอก คนนั้นก็คุยหยอกล้อ ก็โอเคนะ ไม่เครียดมาก ก็พออยู่”
“(ถาม-แล้วเวลาไปหาหมอ ไปที่ไหน?) ไปขอนแก่น เอาเงินรายวัน 2,000 ค่ารถ 2,500 (ถาม-ทำไมต้องนั่งรถแพงขนาดนั้น?) เหมารถปิคอัพ ยายจะออกจากบ้านเรา 6 ทุ่ม ถึงขอนแก่น 6 โมงเช้า กว่าจะกลับ 4-5 โมง”
“ลูกตะแคงได้ข้างเดียวข้างซ้าย เพราะผ่าข้างขวา (ถาม-กินอยู่ยังไง?) แม่ป้อนหมดเลย ป้อนข้าวตอนเช้า เย็นเข้ามา ก็เอาน้ำกับนมให้กินก่อน (ถาม-แต่ก่อนเขาเป็นแรงช่วยหาเงิน แต่วันนี้เขาทำไม่ได้แล้ว?) เราก็ต้องเลี้ยง (ถาม-เขารู้ไหมว่าเราต้องเหนื่อยกว่าเดิม?) รู้”
“หมอไม่ได้บอกว่าเขาจะอยู่นานหรือไม่นาน แต่คิดว่า ต้องอยู่ ยายต้องคิดว่าลูกต้องอยู่ ถ้าเราขาดลูกกับหลานไปปุ๊บ เราก็เหงา (ถาม-เคยบอกเขาไหมว่า ห่วงและรักเขามากแค่ไหน?) บอก เขาก็กอดจะร้องไห้ (ถาม-บอกเขาว่ายังไง?) แม่รักหนูเด้อ ห่วงหนูเด้อ ห่วงแม่ไหม อย่าให้แม่เป็นอะไรนะ”
“(ถาม-ด้วยความเป็นอยู่ค่อนข้างยากลำบาก สุขภาพก็ไม่มีแรง มีท้อไหม?) ท้อ ร้องไห้เลย (ถาม-ร้องกับใคร?) ร้องคนเดียว บางทีนั่งบนรถ น้ำตามันก็ออกเอง จะเอาเงินที่ไหนให้หลานไปโรงเรียน จะขายได้ไหมนะวันนี้ เงินจะเหลือไหมนะ ยังไงก็ช่าง ห้ามป่วย ห้ามล้มนะ คิดเอาเองว่าอย่าป่วย อย่าล้ม (ถาม-ห่วงอะไร?) ห่วง 2 คน กับห่วงคนพิการ”
แม้ทำงานขายของมาทั้งวันแล้ว แต่ป้าจิ๋วหลิวยังพักผ่อนไม่ได้ เพราะมีงานต้องทำช่วงดึกอีก คือออกไปเก็บกล่องกระดาษและขวดพลาสติกไว้ขาย เพื่อเพิ่มรายได้อีกทาง
“6 ทุ่มครึ่งออกมาจากบ้าน ถ้าตี 1 เขาก็จะยกกล่องกระดาษและขวดพลาสติกมาวางที่นี่ บางที 6 ทุ่มครึ่งเขายกมาวางก่อนก็มี (ถาม-เก็บกล่องกระดาษขายทีได้เยอะไหม?) ได้ 500-600 เมื่อวานขายได้ 600 (ถาม-นานแค่ไหนถึงเอาไปขาย?) เดือนหนึ่ง”
เตือนตัวเอง ห้ามป่วยห้ามเจ็บ ต้องสู้เพื่อลูก-หลาน!
“(ถาม-ป้าอายุมากขึ้นทุกวัน จะทำงานแบบนี้อีกนานแค่ไหน?) ยังไม่รู้ อย่าล้มก็พอ อย่าป่วยอย่าล้ม คิดว่าต้องทำ ไม่ทำไม่ได้ (ถาม-หลายคนอายุ 60 65?) เขาสบาย เพื่อนรุ่นยายเขาอยู่บ้านเฉยๆ นั่งกินหมากบ้าง เลี้ยงหลานบ้าง ขี่รถไปโน่นนี่ แต่ยายไม่ได้ เขาบอก ลำบากตั้งแต่สาวยันแก่นะ ก็ทำยังไง ชีวิตเราเกิดมาเลือกไม่ได้ (ถาม-จากชีวิตที่ลำบากมาตลอด ป้ามีข้อคิดหรือคติเตือนใจตัวเองไหมว่า แต่ละวันอะไรทำให้เราต้องสู้ต่อไปเรื่อยๆ?) เราต้องสู้นะยายจิ๋ว อย่าป่วยอย่าเจ็บ ห้ามป่วยห้ามเจ็บ ท่องไว้ ถ้าเราเป็นอะไร หลานเรา ลูกเราจะอยู่ยังไง ใครจะหาให้กิน ก็ต้องคิดไว้ตลอด มันก็อยู่ได้”
หากท่านต้องการช่วยเหลือครอบครัวป้าจิ๋วหลิว โอนเงินไปได้ที่ ธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี นาง นาง ฑีฆะวัฒน์ เลขที่บัญ 6-790-834-575
คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “คัมภีร์ชีวิต...ของป้าจิ๋วหลิว"
https://www.youtube.com/watch?v=kLbJGbRg5l4
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )
หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos