xs
xsm
sm
md
lg

“ครูอ๋อง” แม้พิการทางสายตา มานะศึกษาจนเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ทั้งยังใช้ดนตรีเป็นสื่อการสอน ช่วยเด็กเก่งระดับชาติ!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “ครูอ๋อง” ที่แม้สายตามองไม่เห็น แต่สามารถฝึกทักษะและร่ำเรียน จนสอบเป็นข้าราชการครูได้ ไม่เท่านั้น ยังใช้ความสามารถพิเศษด้านดนตรีมาเป็นสื่อการสอนภาษาอังกฤษ ไม่เพียงดึงความสนใจเด็กได้เป็นอย่างดี แต่ยังเพิ่มสัมฤทธิ์ผลในการเรียนให้กับเด็กๆ และโรงเรียนอีกด้วย



“ครูอ๋อง” อภิราม เงาศรี ครูผู้พิการทางสายตา แห่งโรงเรียนบ้านมาบมะค่า อ.เมือง จ.นครราชสีมา โชคร้ายต้องอยู่ในโลกมืดมาตั้งแต่เกิด“ตาบอดมาตั้งแต่กำเนิด เพราะเซลล์ประสาทตาเสื่อม เป็นโรคที่รักษาไม่หาย”


“พ่อ” ทำทุกทาง เพื่อให้ลูกได้ฝึกทักษะการใช้ชีวิต

“จริงๆ บ้านเกิดผมอยู่ศรีสะเกษ ช่วง 6 ขวบ พ่อก็ส่งให้ไปเตรียมความพร้อมที่โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดขอนแก่น อยู่ที่นั่นประมาณ 2 ปี โรงเรียนก็ให้กลับมาอยู่ที่บ้าน เพราะเขาอยากส่งเสริมให้อยู่กับครอบครัว เพื่อให้ได้รับความอบอุ่นจากครอบครัว ก็มาอยู่จนถึง ม.3 ก็พ่ออีกเช่นเคย อยากให้ไปอยู่ในที่ที่พร้อมและเอื้อต่อการเรียนรู้ของเรามากที่สุด เพราะที่บ้าน ต้องยอมรับว่าเป็นบ้านนอก สื่อเทคโนโลยีอะไรอาจจะไม่ค่อยพร้อมเท่าไหร่ พ่อเลยให้ไปเรียนต่อที่โคราช ที่นี่ พักอยู่ในโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดนครราชสีมา และเอาไปเรียนรวมข้างนอกที่โรงเรียนบุญวัฒนา ม.ปลาย”


โรงเรียนสอนคนตาบอด ช่วยเสริมทักษะให้ช่วยเหลือตัวเองได้

“ทักษะชีวิตต้องให้เครดิตกับโรงเรียนที่สอนคนตาบอด ที่เป็นโรงเรียนเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นขอนแก่นหรือโคราช ที่ผมเคยไปเรียน เขาจะฝึกตั้งแต่การช่วยเหลือตัวเอง กินข้าว อาบน้ำ นี่ตอนเด็กนะ เดินทาง สังเกต ฝึกใช้ไม้เท้า นี่คือทักษะชีวิตประจำวันที่เราต้องมี ซักผ้าทำยังไง ก็ฝึก รวมถึงทักษะที่สำคัญกว่านั้น ที่อาจจะต้องสูงขึ้น เช่น ทักษะการเรียน การใช้อักษรเบรลล์ การใช้เทคโนโลยี ซึ่งเราจะเห็นผลตอนที่เรามาทำงาน อย่างผมเวลาจะใช้คอมฯ ก็ต้องฝึก ฝึกสัมผัส ฝึกใช้คอมฯ ซึ่งมันเป็นประโยชน์ ทำให้ผมสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปได้อย่างไม่ติดขัด”


สนใจดนตรี...อยากเป็นนักดนตรีอาชีพ!

“(ถาม-แล้วดนตรี ครูมาสนใจเล่นกีตาร์หรือเครื่องดนตรีได้ยังไง?) พี่ชายคนหนึ่งชอบเล่นดนตรี ผมก็ชอบด้วย เพราะเห็นพี่เล่นแล้วมันเพราะ ก็ถามเขาว่าเล่นยังไง พี่เขาก็สอนคอร์ด สอนกีต้าร์ด้วย สอนเล่นคีย์บอร์ดด้วย แต่ตอนนั้นยังไม่เก่งนะ แต่เราเห็นพี่เล่น เราก็อยากเล่นได้ (ถาม-จุดเริ่มต้น เล่นเพื่อสันทนาการหรือเพื่อ) สนุกก่อน ตอนแรก แต่พอได้เล่นแล้ว ได้ลองขึ้นเวทีแล้ว เริ่มชอบ ถึงขั้นเริ่มอยากเป็นมืออาชีพ (ถาม-อยากเป็นนักดนตรีอาชีพ?) ใช่”


ไม่เคยคิดฝันว่าจะเป็นครู คิดว่าตนเองไม่เหมาะกับอาชีพนี้

“จริงๆ เริ่มแรกเลย ไม่ได้มีความต้องการอยากเป็นครู เพราะภาพในหัว ครูที่เรารู้จัก เขาจะวางตัวดูดีเป็นที่น่าเคารพ แล้วความเป็นตัวตนของเราก็อาจจะอยู่ในกรอบแบบนั้นยาก ในตอนนั้น เราก็คิดแบบนั้น จนกระทั่งเราไปเข้าค่ายของโรงเรียนเฉพาะทางที่เขาจัดค่าย เป็นช่วงปิดเทอม และรุ่นพี่ที่ตาบอดเหมือนกันกับเรา เหมือนเป็นพี่อาสา มาช่วยครูจัดค่าย และเราเห็นเขาพาทำกิจกรรม สนุกสนาน เรียนรู้ ได้ความรู้ด้วย เราก็รู้สึกว่า เออ มันก็ไม่ได้แย่นะ เป็นครูแบบนี้ ภาพแบบนี้ ก็เป็นได้ พอเราอยู่มัธยมปลาย ได้ลองแนะนำการบ้านเพื่อน พอเห็นเพื่อนเข้าใจในสิ่งที่เราแนะนำ เราก็รู้สึกว่า มันก็ดี มีความสุข เราก็รู้สึกอิ่มที่เขาเข้าใจในสิ่งที่เราสอนไป”


หลังจบการศึกษาคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ครูอ๋องได้มีโอกาสเป็นครู จึงเริ่มรู้ว่าชอบ!

“หลังเรียนจบ มีผู้ใหญ่ที่อยู่โรงเรียนเฉพาะทาง โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดนครราชสีมา ท่านก็ชวนไปทำงาน เพราะที่นั่นช่วงนั้นขาดครูสอนคอมฯ สอนดนตรี ผมก็ไป ตอนแรกไปเพราะพูดตรงๆ ตอนนั้นยังไม่มีงานทำ ว่างงาน ท่านก็มีพระคุณกับเรา ก็ไป ทีนี้ได้ลองสอนจริงๆ มันเหมือนกับตอนที่ผมสอนการบ้านเพื่อน เห็นเขาเข้าใจในสิ่งที่เราสอน เราก็รู้สึกสนุก มีความสุข เลยเริ่มชอบ”


แม้จะเริ่มชอบการเป็นครู แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ครูอ๋องก็ชอบเช่นกัน นั่นคือ กีฬา ซึ่งทำให้ครูอ๋องตัดสินใจลาออกจากครูไประยะหนึ่ง

“ผมมาเป็นครูครั้งแรก แล้วผมก็มีอุบัติเหตุชีวิตนิดหน่อย และไปเล่นกีฬา ก็ลาออกตอนที่เป็นครูอยู่โรงเรียนคนตาบอด พอดีเราชอบเตะบอล และตอนนั้นมีการแข่งขันฟุตบอลคนตาบอดชิงแชมป์ประเทศไทย ก็ลองไปซ้อมกับทีม ไปสมัครเข้าทีมเขาดู และไปซ้อมแข่ง และโค้ชทีมชาติตอนนั้นเขาก็เห็น เขาก็ลองเอาเราไปเล่นดู ก็เลยได้เล่น ได้มีโอกาสติดทีมชาติ ไปอยู่ในนั้นมาประมาณปีหนึ่ง”


“(ถาม-สุดท้ายก็ได้มาสอบเป็นข้าราชการครู รู้สึกยังไงบ้างวันแรกที่สวมชุดข้าราชการครู?) น่าจะเป็นความรู้สึก น่าจะเปลี่ยนจากการสอนคนตาบอดมาสอนคนทั่วไปมากกว่า ผมรู้สึกว่าต้องเรียนรู้อะไรเยอะ”

ด้าน “นิรันธ์ หงษาวรรณ” ผู้อำนวยโรงเรียนบ้านมาบมะค่า จ.นครราชสีมา อดรู้สึกทึ่งในความสามารถของครูอ๋องไม่ได้


“ตอนที่ครูอ๋องเข้ามาก็หวั่นใจนิดๆ ในเรื่องอุปสรรคที่เราจะพัฒนาผลสัมฤทธิ์ เนื่องจากครูอ๋องสอนวิชาภาษาอังกฤษ ดังนั้นความเชื่อมั่น เพราะเรามองถึงว่า เขามีความบกพร่องในเรื่องการมองเห็น ซึ่งมันไม่ใช่แค่เราที่หวั่นใจหรือไม่ให้ความเชื่อมั่น แต่กับผู้ปกครองเองก็ดี นักเรียนเองก็ดี แต่พอเราได้มาสัมผัสจริงๆ เขากลับมีสิ่งที่พิเศษ มีความสามารถที่สูงมาก มากกว่าคนปกติทั่วไปด้วยซ้ำ”


บททดสอบแรกที่ครูอ๋องต้องเจอและต้องพิสูจน์ตนเองให้ได้ว่า เหมาะต่อการเป็นครู

“ตอนแรกเลยที่มานี่ งานแรกที่ต้องทำ ผมว่าเป็นงานที่คลายความสงสัยให้ทั้งเพื่อนร่วมงาน ทั้งครู ทั้งนักเรียนก่อน คำถามมันมีมาก เช่น จะประเมินเด็กยังไง จะสอนเด็กได้ไหม จะคุมเด็กอยู่หรือ ทางเดียวที่เราจะตอบคำถามเขาได้คือ ต้องพิสูจน์ให้เขาดู น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีที่สุด”


“พอทำแผนการสอนเสร็จ พอเขาให้ผมไปสอน ผมก็สอนให้เขาดู โดยใช้คอมฯ ฉายเพาเวอร์พ้อยท์ผ่านจอทีวี ให้ดู เพราะผมเขียนกระดานไม่ได้ ผมก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์แทน และให้เด็กอ่านจากจอคอมฯ เราก็สอนแบบนี้ ใช้วิธีแบบนี้มาเลย”


ใช้ “ดนตรี” เป็นสื่อการสอน ดึงความสนใจของเด็กๆ

“ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากอยู่ เข้ามาใหม่ๆ ก็ต้องปรับตัวพอสมควร เพราะเด็กที่สอน จะเป็นเด็กประถม ซึ่งอยู่นิ่งไม่ได้ เด็กวัยนี้ ถ้าเราเรียนรู้เขาเป็นรายบุคคลว่าคนนี้ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เราก็หาสิ่งที่เขาชอบ ซึ่งเท่าที่ผมสังเกต ส่วนใหญ่เด็กจะชอบ ไม่เพลง ก็เล่นเกม ผมก็เลยพาเขาเล่นเกมและร้องเพลง โดยเอาเนื้อหาไปสอดแทรกในนั้น”


เปลี่ยนทัศนคติของเด็กๆ ต่อวิชาภาษาอังกฤษ!

“ตอนแรกผมได้ยินจากนักเรียนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ภาษาอังกฤษมันยากครู มันยากและมันไม่สนุก เราก็เลยต้องทำให้เขาสนุก และมีทัศนคติที่ดี กำแพงพวกนั้นมันก็หายไป”


“กิตติพงษ์ หลวงพิมาย” ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1 พูดถึงเทคนิคการสอนของครูอ๋องว่า“ครูอภิรามแกจัดการเรียนการสอนที่เป็นหลัก รูปแบบคือ Active Learning ใช้วิธีการแบบเรียนปนเล่น กิจกรรมของแกจะมีเครื่องดนตรีหลายชิ้นมาก ตั้งแต่กีตาร์เป็นสื่อในการเรียนการสอน แม้กระทั่งเปียโน อิเลคโทน หรือแม้กระทั่งแคน ครูอภิรามก็ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน”


“เพชรเม็ดงาม” แห่งโรงเรียนบ้านมาบมะค่า!

“นิรันธ์ หงษาวรรณ” ผู้อำนวยโรงเรียนบ้านมาบมะค่า จ.นครราชสีมา ยอมรับว่า เทคนิคการสอนของครูอ๋อง ช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ให้เด็กๆ พัฒนาแบบก้าวกระโดดจนสูงกว่าระดับชาติ

“จริงๆ เราได้เพชรเม็ดงามเม็ดหนึ่งเข้ามาในโรงเรียน อ๋องได้ใช้ความรู้ความสามารถของตัวเอง ใช้เทคนิคในการสอน ใช้กีตาร์ ทำให้เด็กเรามีผลสัมฤทธิ์ที่เพิ่มขึ้นในวิชาภาษาอังกฤษ พัฒนาจนปี 65 สูงกว่าระดับชาติ ซึ่งบางโรงเรียนยังทำไม่ได้ เด็กของเราที่ต้องสอบเข้าห้องเรียนพิเศษ จะต้องสอบในรายวิชาภาษาอังกฤษ 1 ในนั้น ซึ่งทำได้คะแนนสูง แสดงว่าเด็กคนนี้ สามารถเรียนรู้จากครูอ๋อง ครูสามารถถ่ายทอดความรู้ได้เป็นอย่างดี เด็กถึงสามารถสอบเข้าได้”


“(ถาม-ทราบมาว่า ผลลัพธ์ของการทำงานของครูทุกคนที่นี่ รวมทั้งครูอ๋องเป็นส่วนในการพลิกหรือทำให้โรงเรียนมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในความรู้สึกของครูเป็นฟันเฟืองคนหนึ่ง รู้สึกยังไงบ้าง?) เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ก็ต้องบอกว่า รู้สึกภูมิใจ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่สาเหตุทั้งหมด แต่โดยหลักแล้ว เวลาที่เราจะส่งลูกมาโรงเรียน เราก็ต้องดูว่า คุณภาพของโรงเรียนนั้นมันควรจะให้ลูกเรามาเรียนไหม ซึ่งตอนแรกผมมา นักเรียนก็ยังไม่ถึงร้อย แต่ตอนนี้พัฒนาขึ้นเยอะ ตอนนี้รู้สึกจะ 148 ก็ก้าวกระโดดขึ้นมาเยอะ ต้องชื่นชมเพื่อนร่วมงานทุกคนที่เขาสอนได้เต็มที่ รวมถึงการบริหารงานของ ผอ.ด้วย ทำให้เราได้ทำงานได้อย่างเต็มที่จริงๆ”


ชอบเรียนรู้ แสวงหาความรู้อยู่เสมอ!

“(ถาม-ครูอ๋องมีคติพจน์หรือคำเตือนใจของตัวเองที่ยึดถือในการดำรงชีวิตไหม?) ก็จริงๆ ผมชอบเรื่องการเรียนรู้ ผมชอบไปเรียนรู้ทำอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเล่นกีฬา เล่นดนตรี หรือทำอย่างอื่น เลยได้ปรับปรุงมาจากโสเครติส ตอนเรียนปรัชญาว่า ยิ่งเรียนรู้ ก็ยิ่งรู้ว่าไม่รู้ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าไม่เรียนรู้ ยิ่งไม่รู้ว่าไม่รู้ ซึ่งของโสเครติสเขาบอกว่า I know that l know nothing ฉันรู้ว่าไม่รู้อะไรเลย แต่เราก็เอามาปรับปรุงในการใช้ชีวิตของเราว่า ถ้าเราเรียนรู้ ยิ่งเรียน เราก็ยิ่งรู้ว่า มีอะไรที่เราไม่รู้อีกเยอะ แต่ใช่ว่าเราจะไม่เรียนรู้ต่อไปเลย เพราะถ้าเรายิ่งไม่เรียนรู้ เราก็ยิ่งจะไม่รู้เลยว่า เราเป็นคนที่ไม่รู้อะไร”

6 ปีแล้วที่ครูอ๋อง มาเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนบ้านมาบมะค่า และใช้ความสามารถพิเศษด้านดนตรีที่ตนเองรัก มาเป็นสื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ช่วยให้เรื่องยากในสายตาเด็กๆ กลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และสนุก ไม่เพียงดึงความสนใจของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ยังช่วยเพิ่มสัมฤทธิ์ผลในการเรียนของเด็กและโรงเรียนให้สูงขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย


อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โรงเรียนบ้านมาบมะค่า กำลังมีโครงการต่อเติมห้องน้ำสำหรับเด็กๆ ชั้นอนุบาล แต่ยังขาดแคลนงบประมาณในการก่อสร้าง หากท่านใดต้องการบริจาคสมทบทุน สามารถโอนเงินไปได้ที่ ธนาคารออมสิน ชื่อบัญชี เงินรายได้สถานศึกษา โรงเรียนบ้านมาบมะค่า เลขที่บัญชี 020-111-138-259

คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “กว่าจะเป็น...ครูอ๋อง”
https://www.youtube.com/watch?v=vwPQHlyOVRU


ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อhttps://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อhttps://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos


กำลังโหลดความคิดเห็น