ธปท.สมาคมธนาคารไทย ,ปปง.กำหนดวิธียืนยันตัวตนของผู้ฝากเงินผ่านตู้ CDM เพื่อให้ตรวจสอบได้ทั้งต้นทาง ปลายทาง ป้องกันการหลอกลวง สกัดการฟอกเงิน เริ่มใช้ตั้งแต่ 11 พฤศจิกายนนี้
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ,ธนาคารแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย รายงานความคืบหน้ามาตรการยกระดับความปลอดภัยทางการเงิน หลังพบว่า มีการฝากเงินสดผ่านตู้อัตโนมัติ หรือ ตู้ซีดีเอ็ม (CDM) เป็นช่องทางฟอกเงิน ที่ได้จากการก่ออาชญากรรม ,ยาเสพติด ,การพนัน ,การหลอกลวง และสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เพื่อส่งผ่านไปยังผู้กระทำผิด โดยไม่สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินและไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดที่แท้จริงมาลงโทษได้ ทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติจำนวนมาก
ทั้ง 3 หน่วยงาน จึงร่วมกันพิจารณาวิธีการแสดงตนของผู้ฝากเงินสดผ่านตู้ CDM โดยคำนึงถึงความสะดวกของผู้ใช้บริการ และไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น ซึ่งการแสดงตนของผู้ฝากเงินสดผ่านตู้ CDM ทำได้ 2 รูปแบบ คือ
1. ผู้ฝากเงินใส่หมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของตน หมายเลขโทรศัพท์มือถือและรหัส OTP (One-Time Password) ที่ได้รับ โดยมีวงเงินฝากสูงสุด 30,000 บาทต่อครั้ง รวมค่าธรรมเนียม
2. ผู้ฝากเงินใช้บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตของตน ร่วมกับรหัสส่วนตัว (PIN) โดยมีวงเงินฝากสูงสุด 100,000 บาทต่อครั้ง รวมค่าธรรมเนียม
การแสดงตนที่ตู้ CDM ด้วยวิธีการดังกล่าว เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป หลังจากนั้นจะประเมินผล เพื่อพัฒนาทางเลือกอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความมั่นใจให้กับประชาชนในการทำธุรกรรม รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบการเงิน