กมธ. ICT วุฒิสภา หนุน ใช้เบอร์โทรแจ้งเหตุฉุกเฉิน เพียงเบอร์เดียว ผ่านศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อยกระดับการบริหารเหตุ
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เป็นประธานประชุม กมธ. ไอซีที พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับความคืบหน้าการ จัดให้มีบริการเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ (National Single Emergency Number) โดยเชิญ ผู้แทนคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภาผู้แทนของสำนักงาน กสทช. ผู้แทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมชี้แจง เพื่อผลักดันให้จัดทำ เลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการแจ้งเหตุเรื่องต่าง ๆ ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินการที่ผ่านมา
ที่ประชุมพิจารณาว่า มีเหตุการณ์ความไม่สงบ ภัยธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ จึงควรพัฒนา ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน (Call Center) ใช้รับแจ้งเหตุเพียงอย่างเดียว ไปสู่ศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉิน (Command Center) เพื่อยกระดับการให้บริการและบริหารเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ยกตัวอย่าง สหรัฐอเมริกา (เลขหมาย 911 ) สหภาพยุโรป (เลขหมาย 112 ) ประเทศอังกฤษ (เลขหมาย 999) เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีบริการเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินเลขหมายเดียว แต่มีหน่วยงานรับผิดชอบ เหตุฉุกเฉินอยู่หลายหน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ 199 ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่างมีเลขหมายสายด่วนเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน ทำให้เกิดความสับสนแก่ประชาชน เมื่อต้องการแจ้งเหตุเร่งด่วน และยากต่อการจดจำเลขหมายฉุกเฉินต่าง ๆ รวมถึงความล่าช้าในการให้บริการจากการขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ดังนั้น เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์เหตุฉุกเฉิน ประเทศไทย ควรมีศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉิน (Command Center) ที่เรียกว่า “ศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ (Thailand Emergency Command Center: TECC)” เพื่อแก้ปัญหาเหตุฉุกเฉินหรือเกิดเหตุภัยพิบัติ อย่างทันท่วงทีต่อยอดจาก ศูนย์เหตุด่วนเหตุร้าย 191 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยมีข้อเสนอให้แบ่งแผนงานออกเป็น 2 เฟส คือ 1. ติดตั้งศูนย์ Emergency Command Center 11 แห่ง ที่เป็นศูนย์บัญชาการภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะแรกก่อน เพื่อเป็นการนำร่อง ทดสอบการทำงาน
2. ติดตั้งศูนย์ Emergency Command Center ระดับจังหวัด 66 แห่ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เหลือทั้งหมด จากนั้นให้ออกแบบระบบ การให้บริการเลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติเลขหมายเดียว เหมือนกับต่างประเทศพัฒนาแล้ว