xs
xsm
sm
md
lg

ลึกทันใจ : เด้ง พล.ต.อ.รอย 4 ข้อที่นายกฯ ต้องรู้ สมช.ไม่ใช่ที่พักคนอกหัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ "ลึกทันใจ"เผยแพร่ทางแฟนเพจ NEWS1 และ Tiktok newsonetiktok วันที่ 12 กันยายน 2566 ตอน เด้ง พล.ต.อ.รอย 4 ข้อที่นายกฯ ต้องรู้ สมช.ไม่ใช่ที่พักคนอกหัก





จากกรณีมีข่าวว่า พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่มีอาวุโสอันดับ1 จะถูกโยกไปรับตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นการตอบแทนที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผบ.ตร. เพื่อแก้ปัญหาด้านคุณธรรม คืนความเป็นธรรมและเยียวยาความรู้สึกผิดหวังให้พล.ต.อ.รอย

หลายยุคหลายสมัย สมช.หรือสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตกเป็นหน่วยงานที่รองรับนายทหารและตำรวจที่ผิดหวังข้ามห้วยมาเอาตำแหน่งปลอบใจก่อนเกษียณ ทั้งที่ไม่เคยเรียนรู้งานที่สมช.ที่เป็นหน่วยงานนโยบายความมั่นคงของชาติมาก่อน

จึงควรมาพิจารณาเหตุผลที่ไม่ควร ใช้วิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการโอนย้ายทหารตำรวจที่ผิดหวังจากการปรับย้ายมาเป็น เลขาธิการ สมช.มีเหตุไม่สมควรหลักๆอยู่4ข้อคือ

เหตุไม่สมควร ข้อที่1. สมช. รับผิดชอบงานนโยบายยุทธศาสตร์ความมั่นคงหลายมิติ อาทิ งานความมั่นคงระหว่างประเทศ การทหาร กิจการชายแดน ความมั่นคงภายในประเทศ การป้องกันและต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย และยังรวมถึงมิติด้านผู้ลี้ภัยและสิทธิมนุษยชน

จึงจำเป็นที่จะต้องมีผู้บริหารที่เห็นถึงภาพรวมของมิติความมั่นคงสมัยใหม่ ในการเสนอแนะนำนโยบายต่อรัฐบาลที่ครอบคลุม ซึ่งตำรวจอาจมีหน้างานเฉพาะมิติความมั่นคงภายในเท่านั้น

ข้อที่ 2.บทบาทเลขาธิการ สมช. ยังเป็นผู้ประสานและบูรณาการภารกิจความมั่นคงกับฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง รวมถึงภาคประชาสังคมและองค์การระหว่างประเทศ

ซึ่งหากให้คนในองค์กรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และมีความเป็นพลเรือน ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพและผลลัพธ์เชิงบวกในการขับเคลื่อนนโยบายความมั่นคงของรัฐบาลได้

ข้อที่3. การโอนย้ายตำรวจมายัง สมช. จะกระทบภาพลักษณ์ที่ดีของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีพลเรือน และยังมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นพลเรือน ซึ่งได้สร้างความคาดหวังต่อสังคมไทยและสังคมโลกว่า

ทิศทางความมั่นคงของไทยยุคใหม่จะก้าวหน้า ทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น หากมีเลขาธิการ สมช เป็นพลเรือนเช่นกัน จะเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และสนองนโยบายความมั่นคงของรัฐบาลให้เป็นทิศทางเดียวกัน

แต่หากมีการให้ตำรวจขึ้นเป็นผู้นำ ย่อมสร้างความกังขาต่อสังคม และมองว่าเป็นการจัดสรรอำนาจไม่ลงตัวเท่านั้น ขณะเดียวกันหากในปี 2566 ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการ สมช เป็นพลเรือนล้วน ย่อมถือเป็นการเปลี่ยนโฉมการพัฒนางานความมั่นคงอย่างแน่นอน

ข้อที่ 4.การโอนย้ายข้าราชการข้ามหน่วยงานมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. จะกระทบขวัญกำลังใจของข้าราชการประจำใน สมช. ที่ไม่มีโอกาสเติบโตเป็นผู้บริหารสูงสุด และจะทำให้ข้าราชการรุ่นใหม่ขาดแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ที่จะขับเคลื่อนองค์กรต่อไป

นายกฯเศรษฐา ควรพิจารณาแก้ไขการแต่งตั้งเลขาธิการสมช. ด้วยความตระหนักถึงสมช.เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเป็นแกนกลางด้านความมั่นคงทุกด้าน หากเลิกวิธีคิดแบบเก่าที่เอาสมช.เป็นศาลาที่พักใจทหารตำรวจอกหักได้ ก็จะเป็นการคืนรากฐานสมช.ที่ถูกต้องกลับมา สมช.ก็จะกลับมาทำงานตามวัตถุประสงค์ที่ผลลัพธ์จะเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น