รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “ป้าจู” ผู้รับเลี้ยงหลานพิการกำพร้าตั้งแต่เด็ก ทำทุกทางเพื่อฝึกพัฒนาการ-ศักยภาพ ถึงขั้นเปิดร้านกาแฟให้หลานได้ประกอบอาชีพ ได้แสดงฝีมือที่สามารถทำได้แทบทุกอย่าง ทั้งชงกาแฟ ทำเบเกอรี่ ทำบัญชี
“เซี้ยง” จักรกฤษณ์ ลีลานุนารถ กับวัย 27 ปีในวันนี้ แม้จะเกิดมาพิการ จากภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้และการได้ยิน แต่เซี้ยงยังโชคดีที่มี “ป้าจู” สมพร เนาว์มันน์ ที่รักและดูแลมาตั้งแต่เด็ก และพยายามพัฒนาศักยภาพของหลาน เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพ และอยู่ร่วมกับสังคมได้
กำพร้าแม่ตั้งแต่เด็ก!
“แม่เขาเสียตอน 2 ขวบ และเขาไปอยู่พังงา อยู่กับอาม๊า เรารับเขามาเลี้ยงตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ ช่วงแรกเราไม่รู้เลยว่าเขาบกพร่องทางการเรียนรู้ด้วย เราก็ส่งเขาไปเรียนภาษา การอ่านปาก พยายามให้เขาอ่าน มาเอะใจตอนที่เขาจบ ม.1 เริ่มรู้สึกว่า ทำไมเขาไม่เข้าใจความหมาย ไปเรียนเป็นปีๆ ไปเสียตังค์เป็นปีๆ อ่านได้ แต่ไม่เข้าใจความหมาย”
“ป้าก็เลยบอก เอาไปภูเก็ต จะสอนเอง ไปซื้อหนังสืออนุบาล ก ไก่ ให้เขาเขียนใหม่หมดเลย (ถาม-14-15 ยังต้องเขียน กไก่?) ไม่ คือให้เขาเขียนคำ เหมือนลอกคำ จะได้สอนคำเขาด้วย คำนี้แปลว่าอะไร ดูจากรูป และให้เขาจำ ถ้าเขาลอกเรื่อยๆ จะจำได้ดีกว่า (ถาม-ได้ปรึกษาหมอไหม?) ไม่ได้ปรึกษาใครเลย เพราะไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ความที่ป้าชอบอ่านหนังสือด้วย เคยเรียนรู้ เคยอ่านเจอเหมือนกัน เขาเรียก Learning Disability การบกพร่องทางการเรียนรู้”
ทำทุกทางส่งเสริมศักยภาพหลาน!
“ตอนนั้นก็เริ่มเรียนภาษามือ ที่ภูเก็ตเขามีโรงเรียนปัญญานุกูล (ถาม-ตอนนั้นเราวางแผนไว้ยังไง?) ใช้เทคโนโลยีช่วย ตอนนั้นเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมาเยอะ และซื้อคอมพิวเตอร์ให้เขาเครื่องหนึ่ง เขาเป็นคนเสิร์ชเก่ง เขาอยากจะเรียนรู้อะไร เขาต้องสื่อให้เรารู้ และให้เขาเปลี่ยนกิจกรรม เรียนปกติ ถึงเวลาเลิกเรียน เราอยากให้เขาเรียนวาดรูป อยากให้เขาสื่อ ไม่สื่อทางอักษร ก็สื่อทางภาพ เขาชอบเล่นกีฬา ก็เลยไปหากีฬาเทควันโดให้เขา”
ห่วงอนาคตหลาน ควรมีอาชีพ เพื่ออยู่ได้!
“(ถาม-เขาไม่ปกติ เราวางแผนสำหรับอนาคตเขายังไงบ้าง?) สิ่งหนึ่งรู้แน่นอนว่า เขาต้องทำอาชีพตัวเอง พยายามหาอะไรที่เขาสามารถทำได้ด้วยตัวเอง และทำซ้ำๆ ด้วย ก็เลยคิดว่า ร้านกาแฟเขาน่าจะทำได้ เบเกอรี่ เพราะตอนที่เขาเรียนอยู่เศรษฐเสถียร ตอน ม.4-6 เขามีการเรียนเบเกอรี่ รู้สึกเขาชอบการทำอาหาร เบเกอรี่ก็ทำอาหาร น่าจะแนวนี้ ให้เขาทำ ความที่ตึกเราเป็นบ้านอยู่อาศัยเอง เป็นตึกแถว ก็เลยใช้ศักยภาพที่เรามี ทุนที่เรามี เปิดร้านกาแฟที่นี่ ให้เขาลองทำดู”
“ร้านชื่อ Mute Mute Café คือ เงียบๆ ชื่อของร้านตั้งเอง ก็คิดว่าจะใช้ชื่ออะไรที่จะสื่อถึงคนพิการทางการได้ยิน ก็เลยใช้ Mute ซึ่งล้อกับคำว่า milk นม(ถาม-เปิดร้านกาแฟตั้งแต่เมื่อไหร่?) ช่วงโควิดพอดี โควิดมาปุ๊บ เขาเรียนจบปีโควิด ก็นั่งกันอยู่ว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไร ก็เปิดร้าน คนมาไม่มาไม่เป็นไร”
แม้บกพร่องทางการเรียนรู้และการได้ยิน แต่ “เซี้ยง” สามารถดูแลจัดการหลายอย่างในร้าน
“ตอนนี้พูดถึงที่ร้าน เขาทำหมดเลย ทำความสะอาดร้าน เช็ดถู ผสมส่วนผสม เช่น ไซรัป นมผสม กรอกน้ำทุกอย่าง เซ็ตร้าน เตรียมวัตถุดิบ อบขนม เขาก็ทำได้ ตอนนี้ก็ชงกาแฟ ทำกาแฟได้หมด”
“(ถาม-ในแง่ของการจ่ายเงินทอนเงิน?) เขาทำได้ การคีย์ทำได้ แต่ถ้าโดนลูกค้าโกง ก็ไม่รู้ และเขาทำบัญชีเองด้วย บัญชีแบบง่ายๆ วันนี้ขายอะไร เขาจะดูทุกบิลเลย เขาจะจำได้ว่า ลูกค้าคนนี้สั่งอันนี้ ไม่ได้คิดตังค์อันไหน ถ้าลูกค้ารู้จักก็จะ ช่วยกรุณามาจ่ายหน่อย ผู้จัดการบอกยังไม่จ่าย ลืมคิดอันนี้นะ เขาจะจำได้”
“(ถาม-ในช่วงที่เปิดร้าน เวลาลูกค้ามา เราเคยเจออุปสรรคในการสื่อสารไหม?) ก็มีบ้าง ตอนแรกๆ ลูกค้าไม่รู้ว่าเด็กพิการ เขาก็จะสั่งเลย โดยที่เขาไม่ได้มองว่าเด็กหูหนวก แต่ก่อนเราก็ไม่ได้ติดป้าย พอเขารู้ปุ๊บ เขาจะเขียน ซึ่งเด็กพวกนี้อ่านได้ แต่ต้องเขียนสั่งตามเมนูเท่านั้น ถ้ามีการเขียนสลับคำ เด็กจะสับสน ที่ร้านเลยต้องมีคนปกติด้วยคนหนึ่ง คอยแก้ปัญหาตรงนั้น”
แม้พิการ แต่ใส่ใจทุกรายละเอียด!
“(ถาม-เคยมีเหตุการณ์ไหนที่รู้สึกเซอร์ไพรส์กับความสามารถหรือทักษะของเขาไหม?) มีเรื่องรายละเอียดของงานมากกว่า เช่น บัญชี เขาไปนั่งเขียนนั่งดูแต่ละใบ ไปจดสถิติว่าสั่งน้ำอะไรบ้าง อะไรขายดี ความตั้งใจ อะไรลูกค้าสั่งเยอะ ลูกค้าดื่มไม่หมดเพราะอะไร ตอนช่วงแรกๆ มีลูกค้าที่มาประจำ เราจะคุยกัน เขาจะถามว่า ทำไมกินไม่หมด เพราะอะไร ไม่อร่อยหรือ นี่คือสิ่งที่เซอร์ไพรส์ เขาตั้งใจ ใส่ใจ เขาอยากรู้ทำไมไม่กิน กินไม่หมดเพราะอะไร”
แม้ร้านกาแฟขาดทุน ขอแค่เห็นหลานมีความสุขกับสิ่งที่ทำก็พอแล้ว
“บางทีถ้ารถติด ไม่มีลูกค้า เขาจะถาม ทำไมวันนี้ไม่มีลูกค้ามาเลย ทางด้านธุรกิจมันอยู่ไม่ได้อยู่แล้ว ทุกวันนี้อยู่ได้เพราะลูกค้าบางคนขี่จักรยานมา ขี่มอเตอร์ไซค์มา (ถาม-ทุกวันนี้ขาดทุนทุกเดือนใช่ไหม?) ตั้งแต่เปิดร้านเลย บอกว่านี่คือค่าเทอมของหลาน เพราะแต่ก่อนนี้เรียนฟรีไง คนพิการเรียนฟรี ตั้งแต่เปิดร้านนี่คือค่าเทอมหลาน (ถาม-เคยแอบฝันไหม ในวันที่เราไม่มีแรงแล้ว อยากให้เขาเป็นหรือทำไปถึงจุดไหน?) คิดว่านี่คือศักยภาพเขา เขาได้ตรงนี้ ถือว่าเขาสุดแล้วนะ ฝัน ก็ให้เขาทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ และให้เขามีความสุขกับสิ่งที่เขาทำ ทุกวันนี้ก็ดูรู้ว่าเขามีความสุขกับสิ่งที่เขาทำ (ถาม-แล้วมีท้อบ้างไหม?) มีท้อแน่นอน เหนื่อย ก็ต้องหาวิธีการออกไป (ถาม-แล้วน้องเขารู้ไหมในสิ่งที่เราพยายามผลักดัน?) เขารู้ รู้ว่าเรารักเขา เขาพยายามมาก”
แม้ไม่ใช่พ่อแม่ แต่พร้อมให้โอกาสหลาน เพราะทุกคนควรได้รับโอกาส
“(ถาม-ในฐานะที่น้องก็ไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไข การดูแล ถ้าเทียบกับหลานคนอื่น อาจจะไม่ต้องทุ่มเทขนาดนี้ก็ได้ ทำไมเราต้องช่วยเขาเยอะขนาดนี้?) เขามีโอกาสน้อยกว่าหลานคนอื่น เขาพิการ โอกาสเขาน้อยกว่า เลยต้องให้เขามากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่า รักเขามากกว่าหลานคนอื่น รักหลานทุกคนเท่ากัน แต่การแสดงออกไม่เหมือนกัน ใครมีโอกาสตรงไหน เราก็สนับสนุนตรงนั้น คนอาจจะไปยึดติดว่าต้องเป็นพ่อแม่ เรามองว่า มนุษย์ทุกคนต้องมีสิทธิ์ได้รับโอกาส แม้เขาไม่ใช่หลานเรา ถ้าเราสามารถทำให้เขาขึ้นมาได้ เราเป็นมนุษย์ เราต้องให้ นั่นคือสิ่งที่มนุษย์ต้องให้กับมนุษย์ด้วยกัน สัตว์ยังให้เลย มนุษย์ก็ต้องให้มนุษย์ด้วยกัน ถ้าเรามีโอกาส เราเห็น เราต้องให้”
“(ถาม-เราได้อะไรจากการดูแลน้องมาถึงทุกวันนี้?) ได้ความรู้สึกสุขทางใจที่เราสามารถทำให้คนพิการคนหนึ่งซึ่งไม่รู้เลยว่าจะเกิดมาเป็นอะไร ได้มาถึงขนาดนี้ นั่นคือรางวัล นั่นคือโทรฟี่ นั่นคือรางวัลชีวิต”
“(ถาม-คาดหวังกับอนาคตของน้องไหม?) ก็อยากให้เขาสามารถทำอย่างนี้ไปได้ ให้เขาอยู่ร่วมกับสังคม และเปิดร้านกาแฟให้บริการคนปกติต่อไปได้”
หากท่านใดต้องการอุดหนุนหรือให้กำลังใจป้าจูและเซี้ยงสามารถแวะไปได้ที่ Mute Mute Café ซอยเจริญนคร 4 กรุงเทพมหานคร ในวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-20.00 หรือ โทร.065-612-8980
คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “รางวัลชีวิต”
https://www.youtube.com/watch?v=LPZ4YSnoL8o
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )
หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos