รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 5 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “หลวงพ่อสงวน” แห่งวัดบ้านอ้อ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่เปี่ยมด้วยเมตตา ดูแลส่งเสียเด็กยากไร้ให้ได้ศึกษาเล่าเรียน จนจบปริญญาตรี หวังให้เด็กมีอนาคต และมีกำลังในสร้างชาติบ้านเมือง
วัดบ้านอ้อ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ให้การดูแลสงเคราะห์เด็กด้อยโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน จนมีอนาคตที่สดใสมาแล้วนับพันชีวิตในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ครั้งพระครูประดิษฐ์ศีลาคุณ หรือหลวงพ่อเติม เป็นเจ้าอาวาส เมื่อท่านมรณภาพลง พระครูวิบูลประชากิจ หรือหลวงพ่อสงวน เจ้าอาวาสองค์ใหม่ จึงได้รับภาระดูแลเด็กๆ ต่อเนื่องมาตามที่เจ้าอาวาสองค์เดิมฝากฝังไว้
“เด็กที่นี่เป็นเด็กภูเขา ม้ง ส่วนใหญ่มาจากอุ้มผาง (จ.ตาก) (ถาม-ทำไมหลวงพ่อรับเขามาอยู่ในความดูแลหรือส่งเสริมเขา?) พ่อแม่เด็กบอกว่า อยู่กับหลวงพ่อได้เรียนหนังสือ อยู่กับพ่อแม่ไม่ได้เรียนหนังสือ”
ฐิติ ศิริกุลบัณฑิต เด็กด้อยโอกาสในความดูแลของวัดบ้านอ้อ เล่าว่า“มาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ ป.1 ตอนนี้เรียน ปวส.1 แล้ว (ถาม-ทำไมถึงมาอยู่ที่นี่?) ทางบ้านเขาส่งมา ที่โน่นไม่ค่อยมีการศึกษาด้วย รายได้ไม่คงที่ตลอดปี”
ขณะที่ โชคชัย เหล่าภักดี เด็กด้อยโอกาสอีกคน ยืนยันว่า การมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ได้รับทั้งความรักและความสุข”ได้รับความอบอุ่นทุกด้าน ทั้งเพื่อน ทั้งหลวงพี่ และหลวงพ่อ ไม่ขาดความอบอุ่นเลย รู้สึกมีความสุข”
ด้าน ชัยสิทธิ์ แซ่เจ้า เด็กด้อยโอกาสเช่นกัน เผยว่า แม้หลวงพ่อสงวนจะดูเหมือนดุ แต่หลวงพ่อรักเด็กๆ มาก“(ถาม-เราอยู่ที่นี่ เราได้ใกล้ชิดหรือพูดคุยกับหลวงพ่อบ้างไหม?) แทบทุกวันเลย (ถาม-หลวงพ่อเป็นคนยังไง?) ดุๆ หน่อย แต่จริงๆ แล้วหลวงพ่อรักพวกผมมาก เป็นห่วงมาก (ถาม-มีครั้งไหนที่เรานึกถึงหลวงพ่อแล้วมีความสุข ประทับใจในตัวท่าน?) ตอนที่ผมป่วย ผมไม่รู้จะหาใคร ผมไปหาหลวงพ่ออย่างเดียวเลย หลวงพ่อช่วยผมตลอด”
หลวงพ่อสงวนเริ่มบวชตามประเพณีเมื่ออายุ 20 ปี โดยบวชที่วัดบ้านอ้อแห่งนี้ นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 56 พรรษาแล้ว หลวงพ่อให้การดูแลและส่งเสียเด็กด้อยโอกาสได้เรียนสูงที่สุดถึงปริญญาตรี และรับเฉพาะเด็กผู้ชาย เนื่องจากไม่มีที่พักสำหรับผู้หญิง
“(ถาม-เกณฑ์ในการรับเด็กมาดูแล มีกฎกติกาหรือเงื่อนไขไหมว่าเด็กนั้นต้องเป็นใคร ครอบครัวเป็นแบบไหน หลวงพ่อถึงรับมา?) ถ้ามาอยู่กับหลวงพ่อ ถ้ามาเรียน เอา ถ้าไม่เรียน ไม่เอา ต้องฐานะยากจน คนภูเขาไม่รวยอยู่แล้ว คนเมืองก็ได้ ถ้ารักเรียนนะ”
“(ถาม-หลวงพ่อรับเด็กตั้งแต่อายุเท่าไหร่ถึงเท่าไหร่?) 3-10 ขวบ เพราะสอนง่าย พูดรู้เรื่องง่าย ไม่แข็งไม่กระด้าง แต่มาต้องเรียนหนังสือ ถ้าไม่เรียน ส่งกลับ (ถาม-แล้วดูแลเขาไปนานแค่ไหน?) เขาเลิกเรียนก็จบกัน (ถาม-จบนี่คือ?) ป.ตรี”
“(ถาม-เด็กๆ บางทีดื้อ หรือทำผิดกฎกติกา หลวงพ่อมีวิธีการลงโทษเขาไหม?) มี ให้ทำความสะอาด เช่น ถูวัด ล้างห้องน้ำ (ถาม-หลวงพ่อปลูกฝังอะไรให้เขา?) ไม่เล่น ไม่เหล้า ไม่เมา ไม่ยา ไม่เล่นคือ ไม่เล่นการพนัน ไม่เมาพวกกัญชา ยา ก็ยาเสพติด (ถาม-หลวงพ่อคาดหวังอะไรกับเด็กที่ดูแลมา?) ขอดีอย่างเดียว สร้างคน สร้างบ้าน สร้างเมือง มันมีตังค์ ก็ซื้อบ้าน ถ้าสร้างบ้านได้ก็ ประเทศชาติได้”
หลวงพ่อสงวน ยอมรับว่า การดูแลเด็กนับร้อยชีวิต มีความยากลำบาก อัตคัตขัดสนเรื่องอาหารการกินไม่เพียงพอ
“(ถาม-การที่รับเด็กพวกนี้เข้ามาดูแล หลวงพ่อต้องดูแลเขาด้านไหนบ้าง?) เรื่องสุขภาพ อาหารการกิน ความเป็นอยู่ การกินการนอน การศึกษา ไม่ให้เป็นปมด้อย วัดนี้อัตคัตขัดสน กับข้าวไม่พอกิน (ถาม-กับข้าวไม่พอกินในส่วนของพระหรือ?) เด็ก พระบิณฑบาต พออยู่แล้ว (ถาม-เด็กกำลังเจริญเติบโต อาหารเขาครบหมู่หรือขาดแคลนบ้างไหม?) ขาดแคลนก็ซื้อ ฟักทอง หมู เนื้อ ซี่โครงไก่ (ถาม-ปกติเราบิณฑบาต อาหารพอเพียงไหม?) ไม่พอหรอก พอเฉพาะพระ (ถาม-เท่ากับทุกวันต้องมีทุนปัจจัยซื้ออาหารให้เด็กทานกัน?) ใช่ เช้า กลางวัน เย็น (ถาม-และมีทุนปัจจัยค่าขนมไปโรงเรียนอีก?)ใช่”
“(ถาม-ครอบครัวของเด็กๆ เป็นอย่างไรบ้าง เวลาหลวงพ่อไปบ้านเขา เจออะไรบ้าง?) บ้านเขาปลูกแบบ ใช้เตาฟืน หุงข้าวกลางบ้าน อยู่บนป่าเขา ไฟฟ้าไม่มี น้ำใช้น้ำภูเขา อาหารก็อาหารป่า ห้องน้ำมี ความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบากมาก”
นอกจากอุปถัมภ์ค้ำชูเด็กด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาแล้ว หลวงพ่อสงวนยังสนับสนุนทุนปัจจัยในการพัฒนาโรงเรียนวัดบ้านอ้อ ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วัดบ้านอ้อ เนื่องจากทางโรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐในจำนวนที่จำกัด ทำให้การพัฒนาการศึกษาค่อนข้างยากลำบาก
มณฑา มงคลแพร ผอ.โรงเรียนวัดบ้านอ้อ (บ้านอ้อพิทยาคาร) เผยว่า“ตอนนี้ที่โรงเรียนเรามีนักเรียนทั้งหมด 155 คน เป็นเด็กภูเขา 75 คน และเป็นเด็กบ้านครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด (ถาม-ในส่วนของหลวงพ่อ ให้การสนับสนุนหรือส่งเสริมเด็กในด้านไหนบ้าง?) ต้องบอกว่าหลวงพ่อเป็นส่วนที่ช่วยโรงเรียนเต็มที่ ไม่ได้ช่วยแค่เด็กนักเรียนอย่างเดียว ช่วยในเรื่องทุนการศึกษา อาหารกลางวัน ข้าวสารอาหารแห้ง หลวงพ่อส่งให้โรงเรียนทุกอย่าง”
ขณะที่หลวงพ่อสงวน พยายามรับกิจนิมนต์ เพื่อให้มีปัจจัยมาดูแลเด็กๆ“ทำยังไงให้เด็กมีกินมีใช้ เช้า กลางวัน เย็น 3 มื้อ (ถาม-ให้อาหาร ที่อยู่ การศึกษา ให้ทุนปัจจัยด้วย แต่สิ่งเหล่านี้ต้องมีงบประมาณเงินทองมาสนับสนุนตรงนี้ หลวงพ่อไปหามาจากไหน?) เงินกิจนิมนต์ ไม่ได้ใช้เงินวัด ไม่ได้ใช้งบราชการ ใช้เงินที่ภาษาพระเรียกว่า ไปเทศน์บ้าง ไปบวชเขาก็ถวายตังค์มา”
แม้ปัจจุบัน หลวงพ่อจะอาพาธหนัก จนเดินไม่ได้ แต่ยังคงสู้ดูแลเด็กด้อยโอกาสต่อไป
“(ถาม-ตอนนี้เห็นหลวงพ่ออาพาธ ต้องใช้รถเข็น ไม่ทราบว่าเป็นอะไร?) หลอดเลือดสมอง ข้างซ้ายตายไปแถบหนึ่งเลย (ถาม-อัมพาตครึ่งซีก เป็นนานหรือยัง?) 2 เดือนกว่า 1 พ.ค.66 (ถาม-แนวทางการรักษา หมอทำอย่างไร?) กายภาพ หัดเดิน (ถาม-แล้วตอนนี้หลวงพ่อยังมีปัญหาโรคภัยอื่นไหม?) ไม่มี ปกติเป็นคนแข็งแรงไม่มีอะไรเลย (ถาม-นี่เส้นเลือดในสมองแตกใช่ไหม มีเบาหวาน ความดันไหม?) มีนิดหน่อย ไม่มาก”
ลัดดาวัลย์ มั่นน้อย คือหนึ่งในผู้มีจิตศรัทธา ที่แวะเวียนมาทำบุญและนำสิ่งของมาช่วยเหลือเด็กๆ ที่วัดบ้านอ้อเสมอ
“พี่เรียนที่นี่ (โรงเรียนวัดบ้านอ้อ) มาตลอด ตอนที่พี่เป็นเด็ก และหลวงพ่อท่านสอนวิชาศีลธรรม ตอนนั้นเราเรียนอยู่ที่นี่ และท่านเข้าไปสอนที่โรงเรียนด้วย และหลังจากนั้นเราก็เห็นปณิธานของท่านมาตลอด ที่ท่านช่วยเหลือคน ช่วยเหลือมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องเด็กชาวเขา ซึ่งเรารู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะทำตรงนี้ แต่สิ่งที่เราเห็นคือ ท่านไม่เคยท้อ และเราคือลูกศิษย์เหมือนกัน เมื่อเราเห็นท่านทำ โอกาสที่เราจะช่วยเหลือได้ เป็นการตอบแทนและกตัญญูด้วย เราก็กลับมาช่วยกัน และยิ่งเห็นว่า ท่านป่วย ท่านอาพาธ ยิ่งทำให้เรารู้ว่า เราต้องช่วยเพิ่มขึ้นอีก ขาดไม่ได้”
“สิ่งที่จำเป็นที่สุดที่เห็นว่าที่นี่ยังขาดแคลนคือ อาหาร ซึ่งแน่นอนเด็กๆ จะต้องทานทุกวัน การช่วยเหลืออาจจะไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่หลวงพ่ออาพาธ คนอาจจะเข้ามาบ้าง ไม่เข้ามาบ้าง พี่อยากให้ทุกคนมองเห็นในจุดนี้ และช่วยเหลือกันคนละไม้คนละมือ คนละเล็กคนละน้อย ถ้าเราช่วยกันอย่างสม่ำเสมอ จะได้ลดความกังวลของท่านลงไปได้”
อดถามหลวงพ่อสงวนไม่ได้ว่า หลังจากอาพาธเดินไม่ได้ หลวงพ่อตั้งเป้าหมายในการใช้ชีวิตในสมณเพศนี้ต่อไปอย่างไร?“สู้แค่ตาย ตายก็หมดภารกิจ (ถาม-หลวงพ่อมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นภาระผูกพันหรือเป็นความทุกข์ที่เราแบกไหม?) ภาระก็ภาระ ทุกข์ก็ทุกข์ แต่ใจเราสู้”
ขณะที่เด็กๆ ในความอุปถัมภ์ของหลวงพ่อ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากให้หลวงพ่อหายไวๆ รักหลวงพ่อเหมือนพ่อคนหนึ่ง ขอบคุณที่หลวงพ่อเลี้ยงมา และยังมีทุนให้ได้เรียนต่อในระดับ ปวส. และปริญญาตรี
“(ถาม-หลวงพ่อคาดหวังกับอนาคตของเด็กๆ ที่หลวงพ่อดูแลแค่ไหน?) ให้เขาเรียนจบปริญญาตรี ทำมาหากินได้ แค่นั้น (ถาม-หลวงพ่ออยากฝากอะไรกับสังคมบ้างไหม? อยากให้คนที่พอมีกำลัง ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส เด็กคอยรับความเมตตาอยู่ (ถาม-ทำไมเด็กเหล่านี้ถึงต้องได้รับโอกาส?) คนเราถ้าไม่มีการศึกษา ทุกอย่างจบหมดเลยนะ คนไม่มีความรู้ จะไปไหนล่ะ”
หากท่านใดต้องการร่วมบริจาคทำบุญสามารถโอนเงินไปได้ที่ ธนาคารกรุงไทย สาขาผักไห่ ชื่อบัญชี พระครูวิบูลประชากิจ เลขบัญชี 102-1-11545-2 หรือโทร 081-913-8383
คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “นักบุญผู้สร้างคน”
https://www.youtube.com/watch?v=Ob6XhO7wP8I
ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )
หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos