xs
xsm
sm
md
lg

ครูผู้เป็นทุกอย่าง! “ครูกฤศ” อุทิศตนสอนเด็กโรงเรียนในชนบท แม้วันที่เหลือครูอยู่คนเดียว ยังสู้ดูแลเด็ก จนได้ครูเพิ่ม!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา พาคุณผู้ชมไปรู้จัก “ครูกฤศ” ผู้เป็นทุกอย่างให้เด็กๆ ไม่ทอดทิ้ง แม้ในวันที่โรงเรียนเคยเหลือครูอยู่คนเดียว สู้อยู่ดูแล จนได้ครูเพิ่ม รักเด็กดั่งลูก จะอยู่ดูแลอย่างสุดกำลังจนกว่าครบวาระ



ครูกฤศ หรือ กฤศ จอมพระ ครูโรงเรียนบ้านหนองเหียง ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ก่อนจะมาเป็นครูที่นี่ มีแรงบันดาลใจที่อยากเป็นครูตั้งแต่สมัยเรียน เพราะฐานะทางบ้านยากจน จึงรู้ซึ้งถึงความไม่มี เมื่อเคยได้รับโอกาส จึงอยากมอบโอกาสให้เด็กๆ ที่ด้อยโอกาสบ้าง


“คือฐานะบ้านผมมันยากจน จนแบบ สมัยก่อนจะมุงจาก จนขนาดนั้น ไฟก็ใช้ตะเกียง ก็มีท่านอาจารย์คนนี้เป็นที่ปรึกษา ดูแลผมมาจนจบ ม.6 มาเยี่ยมบ้าน มอบทุนการศึกษา ดูแลช่วยเหลือหลายสิ่งหลายอย่าง ทำให้เรามีแรงบันดาลใจว่า เราอยากเป็นครูเหมือนอาจารย์คนนี้ จะได้ช่วยเหลือลูกศิษย์ที่เขาไม่มี เขายากจน เขาด้อยโอกาส เหมือนผมตอนเป็นเด็ก”


“จบ เม.ย.54 ช่วงฝึกสอนได้ฝึกสอนอยู่โรงเรียนหนึ่ง เขาก็ติดต่อว่า ถ้าเกิดเรียนจบแล้ว สนใจเป็นอัตราจ้างต่อไหม โดยท่าน ผอ.โรงเรียนนั้น พอจบแล้ว โทรไปหาตอนเดือน พ.ค. ถามว่า ท่าน ผอ.ครับ ท่าน ผอ.รับครูอัตราจ้างไหม ซึ่งผมจะสมัคร เขาก็รับ ซึ่งตอนนั้นเงินเดือน 6,000 ย้อนไปตั้งแต่ 54 ก็ 12 ปีแล้วนะ เงินเดือนทำตั้งแต่ 6,000 ทำมาจน 7 ปี ปีที่ 7 ก็ได้เงินเดือน 12,000 เขาก็ขึ้นให้เรามาเรื่อยๆ เงินเดือน 12,000 ก็สอบติด ธ.ค. 62 มีหนังสือมาว่า ให้ไปรายงานตัว ก็ได้เรียก ธ.ค.62”


ด้าน “ชะเอม มะลิซ้อน” ประธานกรรมการศึกษา โรงเรียนบ้านหนองเหียง เผยว่า“โรงเรียนนี้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2523 สมัยนั้นยังเป็นโรงเรียนสาขา สมัยผมมาอยู่ นักเรียนก็ยังไม่ถึง 100 คน เพราะชุมชนที่นี่เป็นชุมชนคนกลุ่มน้อย หมู่บ้านก็ ประชาชนมาอยู่น้อย เพราะเป็นบ้านนอก การเดินทางสมัยนั้นต้องเดินด้วยเท้า ยานพาหนะไม่มี”


แม้โรงเรียนบ้านหนองเหียง จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท มีครูรวม ผอ.แค่ 4 คน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า วันหนึ่งจะเหลือครูแค่คนเดียวคือ ครูกฤศ

“ลงมาวันแรกคือ ทางโรงเรียนที่เป็นธุรการเขาก็มาส่ง พอเปิดประตูรถลงมาปั๊บ โห แบบว่า มันเหมือนโรงเรียนร้าง เหมือนอาคารเก่า พื้นที่โดยรอบมีหญ้าขึ้น และครูที่อยู่ก็ครูผู้หญิงหมดเลย เข้าใจบริบทดีว่า เขาจะกระฉับกระเฉงเหมือนผู้ชายก็ไม่ได้ ก็ลงมา ก็อยู่ไป ก็มีผม ผอ. และครูอีก 2 รวมเป็น 4 คน”


“ต่อมาครูธุรการก็ลาออก พอลาออกไป ทางเบื้องบนบอกว่า ธุรการลาออก จะไม่ได้ธุรการ ก็อยู่กันไปแบบนี้ จนถึงวันที่สิ้นเดือน ต.ค.65 ผอ.เกษียณ ก็สอนกันมา ก็เหลือ 2 คน สักประมาณ 19 พ.ค.66 ครูอีกคนเอาคำสั่งมาวางให้ว่า ได้ย้ายนะพี่”

ขณะนั้น แม้โรงเรียนบ้านหนองเหียงจะเหลือครูกฤศแค่คนเดียว แต่ครูก็สู้อยู่ดูแลเด็กๆ ต่อไป โดยทำทุกอย่าง ทั้งสอนหนังสือ ทำอาหาร ทำความสะอาดและดูแลโรงเรียน


“(ถาม-ชีวิตแต่ละวันของครูต้องทำอะไรบ้าง?) เริ่มตั้งแต่ช่วงเย็นดีกว่า เพราะเย็นจะเป็นจุดเริ่มต้นของทุกวัน กลับบ้านไปประมาณ 1 ทุ่ม ก็จะมีอาคนหนึ่ง เป็นร้านขายของ ไลน์ไปเลย เฟซเลย สั่งของ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เรา แล้วเราก็ตรวจสอบว่า มันครบตามจำนวนที่เราสั่งไปไหม แล้วเราก็เอาขึ้นรถ ขับรถมา ประมาณ 1 ชม. จากบ้าน บ้านอยู่ อ.บางคล้า มาโรงเรียนที่ อ.พนมสารคาม ประมาณ 45 กม. เดินทาง 1 ชม.”


“มาถึงโรงเรียนก็ประมาณ 8.15 น. (ถาม-แต่วันที่ครูอยู่คนเดียว?) คนเดียวผมก็ขอชาวบ้านมาช่วยดูเด็ก ในช่วงที่ผมมาไม่ทัน เพราะปล่อยให้เด็กอยู่ไม่ได้ ให้ช่วยมาดูเด็กให้ผมหน่อยก่อนที่ผมจะมา มาถึงก็เตรียมวัตถุดิบทุกอย่างล้าง และให้เด็กหุงข้าว ทุกอย่างเราจะให้เด็กทำก่อน อะไรที่เด็กทำไม่ได้ เราก็เป็นคนลงไปทำ”


“12.45 ทำอะไรเสร็จทุกอย่าง แล้วก็เรียนอีก 2 วิชา ก็กลับบ้าน 15.30 น. นักเรียนที่สามารถกลับเองได้ หรือมีผู้ปกครองมารับ ก็ให้กลับบ้าน ส่วนคนไหนที่ไม่สะดวก คือไม่มีผู้ปกครองมารับ อยากให้ครูไปส่งบ้าน ก็ไปส่ง”


เด็กและผู้ปกครองส่วนใหญ่ในพื้นที่มีฐานะยากจน ผู้ปกครองนักเรียนคนหนึ่ง อดรู้สึกชื่นชมครูกฤศไม่ได้ที่ช่วยมาส่งลูกหลานถึงบ้าน

“ดีใจมากเลย ครูกฤศดีมาก ขอบคุณครูมากๆ ยายไม่รู้จะตอบแทนยังไง ยายก็ไม่ค่อยมี เขาดีมากเลยนะครูกฤศ ยอมรับเลย ดีมากๆ”


รัก-ดูแลเด็กเหมือนลูก!

“เด็กพวกนี้ใส ซื่อ ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม คิดยังไงก็แสดงออกอย่างนั้น เป็นเด็กที่เราสอนง่าย แม้เขาจะซน ก็ตามวัย และอีกอย่าง เราสอนเขาก็เหมือนสอนลูกที่บ้าน ลูกที่บ้านผมก็ดื้อก็ซนเหมือนกัน”


หลังโรงเรียนบ้านหนองเหียง เหลือครูแค่คนเดียวคือ ครูกฤศ ปรากฏว่า เรื่องราวของครูและโรงเรียนได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์อย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดผลดีตามมา 2 ทาง คือ มีความช่วยเหลือเป็นสิ่งของจำเป็นเข้าไปยังโรงเรียนและเด็กๆ จำนวนมาก ช่วยให้เด็กที่ขาดแคลนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้โรงเรียนแห่งนี้ได้ครูมาเพิ่มอีก 1 คน


“พอเป็นข่าวก็มีความช่วยเหลือนักเรียน ช่วยเหลือโรงเรียนเข้ามา ทำให้นักเรียนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีพวกเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์การเรียน กระเป๋า จักรยาน มาให้นักเรียนได้ใช้งาน จากที่เขาไม่เคยมี ไม่เคยได้ ไม่เคยขี่ เขาดีใจได้สิ่งของพวกนี้มา เหมือนมันเป็นสิ่งที่เขายังขาดอยู่ จากที่เดินกันมาเป็นกลุ่มๆ ตอนนี้ปั่นจักรยานแล้ว พอเขามี เขาก็มีความสุข 2 คือรองเท้า แต่ก่อนเด็กเราใส่รองเท้าแตะ เพราะไม่มีรองเท้าผ้าใบใส่ หลังจากหลายท่านบริจาคให้มา เริ่มมี ได้ใส่รองเท้าผ้าใบกัน แต่งตัวเป็นระเบียบเรียบร้อยกัน ซึ่งตรงนี้ผมไม่ค่อยฟิกซ์เท่าไหร่ เพราะเข้าใจดีว่า บริบทชุมชนของชาวบ้านจะให้แต่งตัวเป๊ะเหมือนเด็กที่เพียบพร้อม มันก็ยาก ต่อมาเป็นชุดนักเรียน เกิดการเปลี่ยนแปลงทันตาเห็นเลย เห็นเลยว่าการแต่งตัวเขาดีขึ้น”


“(ถาม-แล้วในแง่การบริหารหรือการทำงานของครู มีผลกลับมายังไงบ้าง?) ตอนนี้ในโรงเรียน ผมก็ได้การช่วยเหลือ ทำห้องน้ำ ทำสนามเด็กเล่น ขอสนามกีฬาเปตองให้เด็ก หลังจากเป็นกระแส ทาง ผอ.เขตเขา ก็จัดสรรน้องที่เป็นพนักงานราชการมาให้ 1 คน อย่างเร่งด่วน”


“(ถาม-ในวันที่มีวิกฤต ครูยังยืนหยัดที่จะอยู่กับเด็ก และพร้อมปฏิบัติหน้าที่ทุกๆ บทบาททุกหน้าที่เลย เราเคยมองว่ามันเป็นภาระที่เกินกำลังของครูไหม?) ผมมองว่า ก็ไม่เกินกำลัง ผมคิดว่า เงินเดือนผมก็มาจากพวกเขา เหมือนว่า ผมก็คืนพวกเขาไปในตัว ภาษีของพวกเขาก็มาจ้างเป็นเงินเดือนผม ผมก็ตอบแทนเขาไปด้วย ผมก็ดูแลลูกหลานเขาคืนไป จะได้แฟร์ๆ ทั้งสองฝ่าย”

“(ถาม-มีงานสอนหนังสือ ดูแลเด็กเล็ก เป็นนักการด้วย ทำอาหารด้วย ทำเอกสารด้วย นี่ยังไม่รวมการดูแลทรัพย์สินของโรงเรียน หรือความสะอาดเรียบร้อยและความปลอดภัยของเด็ก?) จริงๆ ก็ค่อนข้างเหนื่อยนะ แต่เห็นเด็กๆ เราก็มีความสุขแล้ว เราเห็นเขามีความสุข เราก็มีความสุข”



ปัจจุบัน โรงเรียนบ้านหนองเหียง เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้น ป.6 มีนักเรียน 21 คน มีครูประจำการ 2 คน คือ ครูกฤศ และครูปฐมพร ตุ้มเปาะ ที่เพิ่งมาประจำการที่นี่เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 66

“(ถาม-เป็นยังไงบ้างเด็กๆ ที่นี่?) เด็กๆ ที่นี่ก็น่ารักดี ส่วนใหญ่ที่เราเห็น อาจจะเป็นเด็กที่ไม่ได้รับโอกาสเหมือนเด็กที่อยู่ในเมือง เพราะด้วยความพร้อมเรื่องครอบครัว ครอบครัวที่เขามีความพร้อมมีเงิน เขาก็จะส่งลูกออกไปเรียนในเมืองใหญ่กันหมด (ถาม-มาสอนที่นี่ได้ยังไง?) ตอนแรกผมสอบติดที่ สพป.ฉะเชิงเทรา เขต 2 ได้รับโทรศัพท์ว่า ทางเขตจะเรียกมาบรรจุที่โรงเรียนบ้านหนองเหียง ครั้งแรกผมแอบตกใจนิดๆ ว่า ผมเห็นข่าวจากในเฟซบุ๊ก จากหลายๆ ช่องว่า โรงเรียนบ้านหนองเหียงมีครู 1 คน คือครูกฤศ จอมพระ ซึ่งครูกฤศก็ทำอะไรหลายๆ อย่าง อีกแง่มุมหนึ่ง โรงเรียนที่เด็กไม่เยอะมาก เราก็สามารถดูแลเด็กได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น”


เกือบ 4 ปี ที่เป็นครูอยู่ที่โรงเรียนบ้านหนองเหียง แม้จะมีอุปสรรคหลายอย่างเข้ามาทดสอบความอดทนของครูกฤศ ครูก็ไม่เคยถอดใจ และมองว่า อุปสรรคปัญหาจะช่วยให้เกิดการพัฒนาและปรับตัว

“อย่ามองว่ามันเป็นปัญหา อย่ามองว่าเป็นภาระ มองว่ามันเป็นโอกาส ตรงนี้น้อยคนที่จะได้มายืนอยู่แบบผมนะ เพราะหลายคนก็เลือกความสบายก่อน ความสบายที่เราได้รับ มันก็ไม่ได้ประสบการณ์อะไรที่มันเข้มข้น นำไปต่อยอดได้ มันไม่ได้มีผลเสียมากกว่าผลดีหรอก ถ้าเราไปอยู่ที่สบายพร้อมทุกอย่าง พอเราเจอปัญหาอะไรขึ้นมา เราก็จะไม่มีการปรับตัว”


ยืนยัน ไม่ว่าจะอย่างไร จะไม่ทิ้งเด็กๆ โรงเรียนบ้านหนองเหียงแน่นอน

“ถ้าเกิดตรงนี้ผมทิ้งเขาไป 1 คือเขาประสบปัญหาแน่ 1 นักเรียนไม่มีครูสอน 2 โรงเรียนอาจถูกยุบ ตรงนี้ผมเห็นแล้วผมก็สงสาร และมีความตั้งใจที่อยู่ตรงนี้ อยู่ช่วยผู้ปกครองตรงนี้ จนผมถึงวาระ ก็จะช่วยเต็มที่ ช่วยสุดมือผมที่ช่วยไม่ไหว”


หากต้องการสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาโรงเรียนบ้านหนองเหียง โดยเฉพาะบ้านพักครูที่ปัจจุบันทรุดโทรม ขาดเงินทุนในการซ่อมแซม สามารถติดต่อไปได้ที่ 080-638-5719

คลิกชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ตอน “ครูบ้านนอก”
https://www.youtube.com/watch?v=lFwEA4ePj94


ติดตามรับชมรายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ ได้ ทุกวันเสาร์ เวลา 09.00-09.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ( IPM ช่อง 64 / PSI ช่อง 211 )

หรือรับชมรายการย้อนหลังได้ที่เพจ ฅนจริงใจไม่ท้อ https://web.facebook.com/KonJingJaimaitor/
หรือยูทูบฅนจริงใจไม่ท้อ https://www.youtube.com/channel/UCsb4sLqdHs35km4uQ_tOCjQ/videos


กำลังโหลดความคิดเห็น