เครือข่ายผู้เลี้ยงไก่ไข่ ปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม 20 สตางค์ เป็น 4 บาทต่อฟอง มีผลตั้งแต่ 14 ก.ค. ตามต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
เครือข่ายสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว , สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี , สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย ออกประกาศแจ้งสมาชิกฯ ปรับขึ้น ราคา
นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบให้ต้นทุนการผลิตไข่ไก่สูงขึ้น คือ วัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งมีราคาพุ่งขึ้นอย่างมากและต่อเนื่องมาตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้วัตถุดิบขาดแคลนและการขนส่งยากลำบาก จนถึงขณะนี้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง และธัญพืชอื่นๆยังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยวัตถุดิบอาหารสัตว์นี้ถือเป็นต้นทุนหลักราว 60-70% ของต้นทุนทั้งหมดทีเดียว
ปัจจัยต่อมา คือ สภาวะเอลนีโญ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กำลังส่งผลต่อธัญพืชต่างๆทั่วโลก ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง เกิดการแย่งชิงทรัพยากรกันมากขึ้น และสะท้อนให้เห็นแนวโน้มราคาพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ในอนาคตที่จะอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องไปตลอดทั้งปีแน่นอน
ขณะเดียวกัน ต้นทุนค่าไฟฟ้าก็สูงขึ้นมาก ยิ่งในช่วงที่ผ่านมาอากาศร้อนอบอ้าวต้องใช้ไฟฟ้าในการเปิดพัดลมระบายความร้อนมากขึ้น ทำให้ปัจจัยข้อนี้เป็นอีกส่วนสำคัญที่ดันต้นทุนการผลิตไข่ไก่ให้สูงขึ้นไม่น้อย รวมถึง ค่าจ้างแรงงานที่ขยับขึ้นจากการหาแรงงานยากขึ้นด้วย
นายมงคล กล่าวว่า ปัจจัยทั้งหมดทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่อยู่อย่างยากลำบาก ราคาประกาศไข่คละท ตอนที่ขายจริงก็ไม่ใช่ว่า จะขายทุกฟองได้ในราคาประกาศ จึงกลายเป็นขาดทุนสะสม ทำให้เกษตรกรทยอยเลิกเลี้ยงไปหลายราย ดังนั้น ทางที่ดี ควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน เมื่อราคาไข่ไก่ขยับตามอุปสงค์อุปทานที่เกิดขึ้น จะทำให้ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ได้ซื้อ-ขายไข่ไก่ในระดับราคาที่สมดุลเอง
สำหรับ โครงการเชื่อมโยงอาหารสัตว์ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปี 2566 ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย คนละไม่เกิน 10,000 บาท ที่กรมการค้าภายในดำเนินการเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 เป็นเวลา 1 เดือนให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่เลี้ยงไก่ไม่เกิน 1 แสนตัวนั้น มองว่า ยังไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ในวงกว้าง ขอเสนอให้ภาครัฐ แก้ปัญหาราคาวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทางโดยตรง จะช่วยเกษตรกรได้ตรงประเด็นและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรในวงกว้างมากกว่า